เร่งจับนักค้ายาออนไลน์ โพสต์ขาย "ยาอีโฉมใหม่ผสมกาแฟ" อันตรายถึงชีวิต!

เร่งจับนักค้ายาออนไลน์ โพสต์ขาย "ยาอีโฉมใหม่ผสมกาแฟ" อันตรายถึงชีวิต!

เร่งจับนักค้ายาออนไลน์ โพสต์ขาย "ยาอีโฉมใหม่ผสมกาแฟ" อันตรายถึงชีวิต!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ป.ป.ส.-สธ. เตือนภัย "ยาอีผสมกาแฟ" นอกจากการซื้อขายจะผิดกฎหมายแล้ว ผู้เสพอาจเสี่ยงต่ออันตรายถึงแก่ชีวิตอีกด้วย

วันนี้ (3 พ.ย.) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ชี้แจงถึงกรณีที่มีการโพสต์จำหน่ายสิ่งที่เชื่อว่าเป็นยาเสพติด บรรจุอยู่ในซองกาแฟทรีอินวันยี่ห้อหนึ่ง โดยระบุข้อความว่า “กาแฟซอง 3,000” ซึ่งเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า วัตถุที่อยู่ในกาแฟซอง มีการตั้งราคาจำหน่ายซองละ 3,000 บาท ผ่านสื่อโซเชียล

ทั้งนี้ สำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ตรวจสอบแล้ว พบบัญชีผู้ใช้รายหนึ่ง โพสต์ขายยาเสพติดโดยข้อความดังกล่าวอ้างว่า ภายในซองกาแฟเป็นยาอีผงบดผสมกับไฟว์ ไฟว์ (five-five) หรืออิริมินไฟว์ (Erimin 5) และยาเสพติดชนิดอื่นนำมาผสมรวมกัน จำหน่ายในราคาซองละ 3,000 บาท พร้อมอ้างสรรพคุณว่าจะให้ผลการออกฤทธิ์หรือมึนเมาได้มากกว่าการเสพยาอีเพียงอย่างเดียว

ในส่วนการบรรจุด้วยซองกาแฟนั้น เป็นเพียงวิธีการปกปิดอำพรางทั่วไปของนักค้ายาเสพติด และเพื่อความสะดวกในแบ่งหน่วยจำหน่าย ซึ่ง ป.ป.ส. ได้สืบสวนจนทราบตัวผู้โพสต์ขายยาเสพติดแล้ว กำลังเร่งสืบสวนขยายผลเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

เตือนการโพสต์ขายยาเสพติดเป็นความผิดฐาน “โฆษณายาเสพติดให้โทษ” ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 48 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการซื้อขายตามที่โพสต์ ผู้โพสต์จะมีความผิดฐาน “จำหน่าย” ส่วนผู้ซื้อจะมีความผิดฐาน “ครอบครอง” และหากส่งไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะมีความผิดฐาน “ส่งออก”

สำหรับยาไฟว์ ไฟว์ หรืออิริมินไฟว์ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในกลุ่มยากล่อมประสาท เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2552 ออกฤทธิ์รุนแรง จึงต้องมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด

การขายยาเสพติดออนไลน์กรณีนี้ ใกล้เคียงกับกรณีการค้า “ยาเคนมผง” ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสพเสียชีวิตหลายรายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

เตือนผู้ปกครองหมั่นติดตามข่าวสารพร้อมสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือน! ปัจจุบันมีการลักลอบนำยาอีบรรจุในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้สังเกตได้ยากขึ้น แนะผู้ปกครองหมั่นติดตามข่าวสารพร้อมสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบสิ่งของต้องสงสัยรีบพูดคุยด้วยเหตุผลถึงผลเสียต่อสุขภาพ และรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน มีฤทธิ์หลอนประสาทและกระตุ้นประสาท จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี มีทั้งที่เป็นแคปซูลและเป็นเม็ดยาสีต่างๆ แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบนและมีสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่างๆ เช่น กระต่าย ค้างคาว นก ดวงอาทิตย์ เป็นต้น

ซึ่งในปัจจุบันมีการลักลอบนำยาอีบดเป็นผงบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซองครีมเทียม ซองกาแฟ 3 in 1 โดยพบแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นทาง Social Media (สื่อสังคมออนไลน์) เมื่อเสพยาอีเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 30 - 45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง

โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

ทางด้าน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอี จะเข้าไปทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติ ทำให้สดชื่นอารมณ์ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ การที่สารซีโรโทนินลดลง จะทำให้การนอนหลับผิดปกติ เวลาการนอนลดลง หลับไม่สนิท อ่อนเพลียขาดสมาธิในการเรียนและทำงาน บางรายนิยมเสพพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาชนิดอื่นร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ การลักลอบนำยาอีบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจทำให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น แนะผู้ปกครองหมั่นติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ พร้อมสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงและพบสิ่งต้องสงสัยควรพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา และรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี

info-e-drug-coffee-warning

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook