แม่วิศวกร วอนรัฐเร่งช่วยลูกกลับไทย

แม่วิศวกร วอนรัฐเร่งช่วยลูกกลับไทย

แม่วิศวกร วอนรัฐเร่งช่วยลูกกลับไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่วิศวกรไทยที่ถูกเขมรจับ วอนรัฐบาลเร่งช่วยเหลือนำตัวลูกชายกลับไทย หวั่นโรคประจำตัวกำเริบ "กษิต" ยันจนท.ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม ด้าน "บัวแก้ว" จี้ใช้อนุสัญญากรุงเวียนนาดูแล "ศิวรักษ์" ขณะที่เขมรปล่อยข่าวให้เยี่ยมแล้ว

นางสิมารักษ์ ณ นครพนม อายุ 57 ปี ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้าแผนกพณิชยการ วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา มารดาของนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ อายุ 31 ปี พนักงานบริษัท กัมพูชาแอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิส หรือแคทส์ (CATS) บริษัทในเครือบริษัทสามารถเทลคอม ซึ่งถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัว โดยกล่าวหาว่าลอบสำเนาเอกสารเกี่ยวกับกำหนดการเดินทางโดยเครื่องบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี กัมพูชา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เป็นห่วงลูกชายมากที่สุดตอนนี้ก็คือ สภาพร่างกายที่ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะลูกชายเป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรัง มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ที่มักจะมีอาการหายใจขาดช่วง เป็นโรคประจำตัว ได้วางแผนไว้ว่าหากว่างจะพาไปผ่าตัดรักษาอาการป่วย แต่มาเกิดเหตุขึ้นเสียก่อน

นางสิมารักษ์ กล่าวว่า ได้รับทราบข่าวจากเพื่อนสนิทของลูกชายและข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตว่า ลูกถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัว ก็รู้สึกช็อกและเสียใจมาก ไม่คิดว่าจะมีเหตุอย่างนี้เกิดกับลูกได้ เพราะลูกเป็นคนดี สุขุม เรียบร้อย มีคุณธรรม เป็นที่รักใคร่ของบิดามารดา ญาติสนิท และเพื่อนฝูงทุกคน เป็นเสาหลักของครอบครัว ไม่เคยสร้างปัญหาใดๆ ให้แก่ครอบครัวหรือผู้อื่น ที่ผ่านมาลูกชายจะโทรศัพท์มาหาประจำทุกอาทิตย์ ล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมเพิ่งเดินทางมาพักผ่อนที่บ้าน และกลับไปทำงานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา บอกว่าจะไปทำงานที่ชายแดนไทย-ลาวแต่ไม่ได้บอกรายละเอียด จากนั้นก็ขาดการติดต่อจนกระทั่งทราบข่าวว่าถูกจับตัวที่เขมร

นางสิมารักษ์ กล่าวว่า อยากให้ลูกชายพ้นข้อกล่าวหาทุกอย่างและกลับมาบ้านอย่างปลอดภัย ส่วนสาเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นหากบอกว่าเป็นเรื่องการเมืองคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่คนฝักใฝ่การเมือง จึงขอให้รัฐบาลหรือผู้ที่ดูแลทางด้านนี้ ขอให้ช่วยคนไทยคนหนึ่งที่ไปประสบปัญหาในต่างแดน ทำอย่างไรก็ได้ช่วยกันนำตัวลูกชายกลับมาให้เร็วที่สุด และไม่เชื่อว่าลูกจะทำความผิดอย่างที่ถูกกล่าวหาแน่นอน

"รู้ว่าเขาทุกข์มาก ทั้งตัวเองและทุกข์ห่วงความรู้สึกแม่ เพราะเขาห่วงแม่มากที่สุด หากฝากคำพูดนี้ไปถึงลูกได้ อยากบอกว่าคิดถึงอยากคุยอยากพูดด้วยและไม่ต้องห่วงแม่ เรื่องสภาพจิตใจแม่เข้มแข็ง ห่วงก็แต่ตัวลูกเท่านั้น แม่ห่วงลูกมากกว่า อย่างไรเสียคิดว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงจะดูแลช่วยเหลือเอาตัวลูกกลับมาโดยเร็วที่สุด" นางสิมารักษ์กล่าว

ประวัติ นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ อายุ 31 ปี ชื่อเล่น เต๋า เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2521 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เมื่อปี พ.ศ. 2541 บิดาชื่อนายสุวิทย์ ชุติพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งถึงแก่กรรมแล้วด้วยโรคอาการหายใจขาดช่วง (ไหลตาย) ตั้งแต่ปี 2538 มารดาชื่อนางสิมารักษ์ อายุ 57 ปี อาชีพครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้าแผนกพณิชยการ วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา

นายกฯจี้เขมรยึดหลักสากลดูแลคนไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคนไทยที่ถูกจับในประเทศกัมพูชาว่า ได้รับทราบข้อมูลแล้ว และได้มอบให้กระทรวงต่างประเทศติดตามเรื่องอยู่ ขอวอนไปยังประเทศกัมพูชาว่าให้ปฏิบัติกับคนไทยที่ถูกจับกุมตามหลักสากล ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่ทราบข้อกล่าวหา ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรจะดีขึ้นหรือไม่นั้น เรื่องนี้อยู่ที่กับประเทศกัมพูชา สำหรับการประชุมครม.ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องทบทวนการให้ความช่วยเหลือประเทศกัมพูชา ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่าจะเดินทางมาประเทศกัมพูชาบ่อยๆ นั้น คงจะต้องรอดู ส่วนจะมีมาตรการอย่างไรนั้น คงจะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เขมรอ้างให้จนท.ไทยเข้าเยี่ยมแล้ว

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างถ้อยแถลงของนายกอย เกือง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่าเจ้าหน้าที่ทูตของไทยคนหนึ่งได้เข้าเยี่ยมนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยวัย 31 ปี ที่เรือนจำเพรย์ซอร์ โดยทางเขมรยอมให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าเยี่ยมนายศิวรักษ์ เมื่อเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากไปกว่านี้

"กษิต"สวนกลับเขมรยังไม่ให้ไทยเยี่ยม

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ว่า ขณะนี้กัมพูชายังไม่ได้แจ้งตอบกลับมาจะอนุญาตให้สถานทูตไทยได้เข้าพบนายศิวรักษ์หรือไม่ รวมถึงยังไม่มีหนังสือแจ้งมายังไทย เกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีกับนายศิวรักษ์

เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศอ้างคำกล่าวของโฆษกรัฐบาลของกัมพูชา ที่ว่าทางการกัมพูชาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าพบนายศิวรักษ์ได้แล้ว เมื่อเวลา 14.00 น. เป็นการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะข่าวที่ออกมาจากฝ่ายกัมพูชาต้องมีการยืนยันกัน เป็นเรื่องการตรวจสอบ แต่ไม่อยากให้มีการตื่นตระหนกตกใจเมื่อได้รับทราบข้อมูลใดๆ และไม่อยากให้เป็นเรื่องร้อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยของตัวบุคคล และต้องการได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ว่านายศิวรักษ์มีโรคประจำตัวนั้น ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชามายังสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ว่าเขามียาทุกอย่างพร้อม ไม่ว่าจะเป็นโรคใด แต่เราอยากจะมีคนของเราเข้าไปสอบถามอาการ หรือจัดหาแพทย์เข้าไปหรือจัดเตรียมยาประจำที่นายศิวรักษ์ต้องการไว้

นายกษิตกล่าวอีกว่า เมื่อเช้าวันที่ 16 พฤศจิกายน นายชโลธร เผ่าวิบูลย์ อุปทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้เข้าพบอธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อแสดงเจตจำนงขอเข้าพบนายศิวรักษ์ รวมทั้งแจ้งให้ทราบว่า ตนจะโทรศัพท์พูดคุยกับนายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ในระหว่างขึ้นเครื่องบินเดินทางไปประเทศอิตาลี คาดว่าในเวลา 18.00 น. หรือเวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตนจะได้พูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เพื่อแจ้งให้กัมพูชาได้ทราบใน 2 เรื่อง คือต้องการรับทราบข้อกล่าวหาของนายศิวรักษ์และขอให้กัมพูชาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปพบนายศิวรักษ์โดยเร็ว

กต.จี้ใช้อนุสัญญาเวียนนาดูแลศิวรักษ์

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายไทยต้องการให้กัมพูชา ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ถึงการจับกุมตัวนายศิวรักษ์ในข้อหาใด รวมถึงต้องรายงานสวัสดิภาพปัจจุบันว่านายศิวรักษ์มีความเป็นอยู่อย่างไรด้วย ซึ่งเป็นข้อบังคับที่กัมพูชาต้องปฏิบัติตามอนุสัญญากรุงเวียนนาที่กำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศข้อ 3 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุลฯ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมคุมขัง มีสิทธิแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่จับกุมคุมขังตน แจ้งให้สถานกงสุลของประเทศที่ผู้ต้องหามีสัญชาติอยู่ทราบเรื่องโดยไม่ชักช้า ผู้แทนทางการทูตหรือกงสุลมีสิทธิเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่เป็นคนชาติของตน รวมทั้งตั้งทนายความและล่ามให้ตลอดกระบวนการต่อสู้คดี เพื่อให้ผู้ต้องหานั้นสามารถต่อสู้คดีได้โดยไม่มีการแปลคำให้การบิดเบือน ผิดพลาด หรือรับสารภาพโดยไม่รู้เรื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook