ประเมินความเป็นไปได้ของการบุกไต้หวันของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผู้เขียนได้อ่านบทความของนายกวินน์ ไดย์เออร์ เรื่อง "Will China Actually Ever Invade Taiwan?" วันนี้เห็นว่าน่าสนใจมีเหตุผลประกอบมีกับข้อมูลเพรียบพร้อมจึงอยากเอามาแชร์กับท่านผู้อ่าน
แต่ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จักนายกวินน์ ไดย์เออร์เสียก่อนเพราะเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์คอลัมนิสต์อิสระ ผู้เขียนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ 175 ฉบับใน 45 ประเทศทั่วโลกและเคยเป็นนักประวัติศาสตร์การทหารผู้สอนวิชาสงครามศึกษาที่ราชวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิสต์ระหว่างปี 2516-2530 แล้วจึงยึดอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์คอลัมนิสต์จนปัจจุบัน มีอายุ 78 ปี
นายกวินน์ ไดย์เออร์ เขียนว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นเวลา 1 วันก่อนที่จะถึงวันชาติของไต้หวัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศอย่างหนักแน่นว่า "มันเป็นภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ที่การรวมชาติจีนโดยผนวกไต้หวันเข้ากับดินแดนมาตุภูมิจะต้องสมประสงค์อย่างแน่นอน" อันเป็นการคุกคามไต้หวันตรงๆ โดยไม่มีกำหนดเวลา
แต่สื่อของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่าง The Global Times ได้เสริมต่อว่าการบุกไต้หวันโดยกำลังทหารอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้
ในวันรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค. อันเป็นวันชาติของไต้หวัน ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ก็สวนกลับทันควันเหมือนกันว่า "ไม่มีใครที่จะบังคับให้ไต้หวันเดินไปตามทางที่สาธารณรัฐประชาชนจีนขีดให้เดินได้โดยเด็ดขาด" และเธอยังกล่าวว่าขณะนี้ประเทศเกาะที่มีประชากร 23 ล้านคน (ไต้หวัน) ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนและปั่นป่วนมากที่สุดในช่วง 72 ปีที่ผ่านมา คือ นับแต่ที่จีนคณะชาติพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและต้องหนีมาตั้งหลักอยู่ที่เกาะไต้หวันตั้งแต่ปี 2492
สหรัฐอเมริกาถึงแม้จะไม่พูดออกมาตรงๆ ว่าจะช่วยป้องกันไต้หวันหากถูกสาธารณรัฐประชาชนจีนบุกเข้าจริงๆ ก็ตาม แต่ก็ได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าขณะนี้ทหารหน่วยรบพิเศษและนาวิกโยธินอเมริกันกำลังปฏิบัติภารกิจการฝึกกองทหารของไต้หวันอยู่อย่างแข็งขัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลสาธาณรัฐประชาชนจีนจะทราบมาก่อนนานแล้วว่าตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ส่งหน่วยทหารมาฝีกการรบแบบต่างๆ ให้กองกำลังไต้หวันตั้ง 2 ปีมาแล้ว โดยไม่ได้ประกาศ
แต่การที่ทางรัฐบาลสหรัฐสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเรื่องนี้มาอย่างเปิดเผยก็เป็นการเตือนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะค่อยๆ ร้อนแรงขึ้นช้าๆ เห็นได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไต้หวันนายชิว กว๋อ-เจิ้ง ได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการสภาที่พิจารณางบประมาณพิเศษทางการทหาร ว่าถึงแม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจะมีขีดตวามสามารถที่จะบุกไต้หวันได้ทันทีในขณะนี้ก็ตาม แต่คาดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีศักยภาพเต็มรูปแบบในการบุกโจมตีไต้หวันในปี 2568 คืออีก 3 ปีข้างหน้า โดยพร้อมที่จะทำสงครามในทุกรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ
กล่าวคือเมื่อถึงเวลานั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถที่จะจัดการให้ต้นทุนและจำนวนคนต่ำที่สุดเพื่อทำสงครามยืดเยื้อได้โดยไม่กระทบกระเทือนมากนักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน
การคาดการณ์ของนายชิว กว๋อ-เจิ้ง มาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สะสมอาวุธเพื่อเตรียมการบุกข้ามช่องแคบไต้หวันจากผืนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีระยะทาง 180 กิโลเมตรตรงที่แคบที่สุด โดยอาวุธที่สำคัญที่สุด คือ ขีปนาวุธระยะไกลที่ใช้ระบบดาวเทียมนำวิถีที่สามารถยิงได้ทุกจุดบนเกาะไต้หวันได้อย่างแม่นยำด้วยปริมาณขีปนาวุธจำนวนมหาศาลเกินกว่าระบบการขีปนาวุธของไต้หวันจะรับมือไหว
ขีปนาวุธนี้คือ ขีปนาวุธ PCL-191หรือที่เรียกกันว่า "Stalin Organ (สตาลิน ออร์แกน)" นอกจากสาธารณรัฐประชาขนจีนยังมีเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องที่สามารถยิงจรวดติดหัวระเบิดได้ครั้งละ 8-12 ลูกสามารถยิงได้ไกลถึง 350 กิโลเมตรบรรทุกบนรถบรรทุกเคลื่อนที่เร็วและสามารถที่จะบรรจุจรวดพร้อมยิงได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีทหาร 2 กองพลน้อยประจำหน่วยเครื่องยิงระเบิดหลายลำกล้องตั้งฐานทัพอยู่นบฝั่งตรงข้ามกับเกาะไต้หวันและฐานทัพหน่วยเครื่องยิงระเบิดหลายลำกล้องนี้เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ในเวลาไม่ช้าหรืออาจจะพร้อมแล้วในปัจจุบันที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะสามารถระดมยิงจรวดติดหัวระเบิดและขีปนาวุธแบบห่าฝนเข้าใส่สนามบิน สถานีเรดาร์ ระบบต่อต้านอากาศยานและท่าเรือได้พร้อมกันในทีเดียว
หากสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดฉากโจมตีไต้หวันแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยการระดมยิงจรวดและขีปนาวุธทำลายสนามบินและท่าเรือของไต้หวันได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ไต้หวันก็หมดโอกาสที่จะใช้เครื่องบินรบและเรือรบเข้าสกัดกั้นการยกพลขึ้นบุกเกาะไต้หวันได้เลยซึ่งการข้ามช่องแคบโดยทางเรือใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่มีประเทศใดที่จะช่วยไต้หวันจากการยึดครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทันเลย หากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะบุกไต้หวันอย่างเซอร์ไพรส์ ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทางอากาศของสหรัฐที่ตั้งอยู่ที่โอกินาวา หรือกองเรือแปซิฟิกก็ตาม
แต่อะไรเล่าที่อาจจะยับยั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนจากการบุกโจมตีไต้หวันถึงแม้ว่าจะมีเครื่องยิงระเบิดและขีปนาวุธเพียงพอต่อการทำลายระบบการป้องกันของไต้หวันได้อย่างรวดเร็วและสามารถบุกเข้ายึดครองเกาะไต้หวันได้อย่างสะดวกโดยแม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถแทรกแซงทางการทหารได้ทันการณ์
แต่ก็แน่นอนที่สหรัฐอเมริกาสามารถปิดล้อมทางทะเลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อย่างสมบูรณ์แบบในภายหลัง ซึ่งเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก
และในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้วสาธารณรัฐจีนเปราะบางมากต่อการปิดล้อมทางทะเลเพราะว่าเรือขนส่งสินค้าของจีนที่ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกต้องผ่านห่วงโซ่ของหมู่เกาะแรกได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ส่วนเรือบรรทุกสินค้าของจีนที่จะเดินทางไปทางมหาสมุทรอินเดีย เพื่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปก็ต้องผ่านช่องแคบมะละกาของมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วเศรษฐกิจของจีนจะถูกเค้นคอภายในไม่กี่เดือนซึ่งแน่นอน ไม่มีใครต้องการให้ลุกลามไปจนสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งในที่สุดก็จะต้องมีการเจรจากันระหว่างสหรัฐฯกับจีนซึ่งอาจจะเป็นหยามเกียรติจีนอย่างมโหฬารหากจีนต้องยอมถอนทหารจากการยุดครองเกาะไต้หวันไปในที่สุด
ดังนั้นประธานาธิบดีสี จิ้นผิงคงไม่น่าที่จะเสี่ยงเปิดสงครามบุกเข้ายึดครองเกาะไต้หวันมากนัก แต่นี่ก็เป็นการแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์แบบคลาสสิกซึ่งก็อาจจะผิดก็ได้นะครับ