คำนวณมาให้แล้ว ใช้พื้นที่ทหาร "ปลูกผักชี" ตามไอเดียลุงตู่ จะได้ผลผลิตขนาดไหน

คำนวณมาให้แล้ว ใช้พื้นที่ทหาร "ปลูกผักชี" ตามไอเดียลุงตู่ จะได้ผลผลิตขนาดไหน

คำนวณมาให้แล้ว ใช้พื้นที่ทหาร "ปลูกผักชี" ตามไอเดียลุงตู่ จะได้ผลผลิตขนาดไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาลองคำนวณกันว่าถ้านำพื้นที่ทหารมา "ปลูกผักชี" ตามไอเดียสุดคูลของนายกฯ ลุงตู่ เราจะได้ผลผลิตมากมายขนาดไหน แล้วจะแก้ไขปัญหาราคาแพงในเวลานี้ได้จริงหรือเปล่า

เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.) มีรายงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นห่วงปัญหาพืชผักราคาแพงในเวลานี้อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่และราคาน้ำมันที่แพงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักชีที่กระโดดขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 400 บาท จึงได้ปรารถและแนะนำว่าควรจะใช้พื้นที่ทหารที่มีอยู่มากมายในประเทศ "ปลูกผักชี" เพื่อทำให้มีผลผลิตออกมามากขึ้น จนนำไปสู่การลดลงของราคา ตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและเป็นไปตามกลไกตลาดในเรื่องอุปสงค์-อุปทาน (ดีมานด์-ซ้ปพลาย)

เอาล่ะ งั้นเราลองมาคำนวณกันพอสังเขปดูว่าถ้าภาครัฐนำแนวคิดของนายกฯ ลุงตู่ ไปดำเนินการจริงๆ เราจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้มากน้อยขนาดไหน แล้วจะทำให้ราคาผักชีที่กำลังแพงหูดับตับไหม้ในเวลานี้ลดลงมาได้จริงรึเปล่า ตามอ่านกันได้เล้ยยยยย

เท่าที่พอจะมีข้อมูลชัดเจน ที่ดินของกองทัพจัดอยู่ในประเภท "ที่ดินราชพัสดุ" ซึ่งจากพื้นที่ประเทศไทยทั้งประเทศ มีเนื้อที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศประมาณ 12.5 ล้านไร่ หรือ 3.9% ของที่ดินทั้งประเทศ ที่ราชพัสดุทั้งหมดนี้อยู่ในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม 50% หรือครึ่งหนึ่ง คิดเป็นจํานวน 6.25 ล้านไร่ กองทัพบกครอบครองมากที่สุด 4.7 ล้านไร่ ที่เหลือกองทัพเรือครอบครอง เช่น ที่อู่ตะเภา สัตหีบ ทับละมุ (พังงา) เป็นต้น และอีกส่วนเป็นของกองทัพอากาศ

มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 63 มีการเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ เอ็มโอยู ระหว่างนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก ในโครงการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบกร่วมกับกรมธนารักษ์ ซึ่งในเวลานั้นมีการระบุว่านำที่ดินประมาณ 1 ล้านไร่ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพบกมาจัดแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

กลับมาที่พื้นที่ราชพัสดุภายใต้ความครอบครองของกระทรวงกลาโหม ประมาณ 6.25 ล้านไร่ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าหาข้อมูลพื้นที่ว่างเปล่า ณ ปัจจุบันได้ค่อนข้างยาก Sanook News ก็เลยขอใช้วิธีประเมินแบบคร่าวๆ ว่าในจำนวนนี้น่าจะมีซัก 20% ที่สามารถจะแบ่งออกมาปลูกผักชีได้ เท่ากับว่าจะมีพื้นที่ปลูกราวๆ 1.25 ล้านไร่

พอได้จำนวนพื้นที่ที่จะใช้ปลูกแล้ว เราลองมาคำนวณคร่าวๆ ว่าจะได้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดเท่าไหร่กันนะ จากฐานข้อมูลของกลุ่มส่งเสริมพืชผักและเห็ด สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การปลูกผักชี 1 ไร่ จะได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300-1,500 กิโลกรัม โดยมีต้นทุนการผลิตจากค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเตรียมดิน ค่าปุ๋ย รวมแล้วประมาณไร่ละ 4,930 บาท อ่อเกือบลืม ปกติแล้วจะเก็บเกี่ยวผักชีได้เมื่ออายุประมาณ 40-45 วันนะจ๊ะ

info-military-area-vegetables

งั้นเราลองมากดเครื่องคิดเลขกันดูว่าแนวคิดนี้ของท่านนายกฯ จะเวิร์กขนาดไหน

ขอคิดเรื่องต้นทุนก่อนแล้วกันว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ (เรื่องด่วนขนาดนี้คงต้องใช้งบกลางได้อยู่แล้วล่ะเนอะ) ต้นทุนรวมต่อไร่คิดแบบกลมๆ 5,000 บาท คูณกับพื้นที่ที่จะนำมาใช้เพาะปลูก 1.25 ล้านไร่ เท่ากับ 6,250 ล้านบาท

ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ ขอเอาตัวเลขกลมๆ เหมือนกัน ประมาณซัก 1,000 กิโลกรัม เนื่องจากเป็นมือใหม่หัดปลูก เพราะฉะนั้นจากพื้นที่ปลูก 1.25 ล้านไร่ คูณ 1,000 กิโลกรัม ก็จะได้ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 1,250 ล้านกิโลกรัม หรือ 1.25 ล้านตัน

โอ้โหถือว่าไม่น้อยเลยนะเนี่ย!!!

ทีนี้ เรามาลองคำนวณราคาขายกันดูบ้างว่าจะลดลงมาจากกิโลกรัมละ 400 บาท ได้ขนาดไหน ถ้าเอามาเทียบบัญญัติไตรยางค์ก็จะพบว่าต้นทุนผลผลิตผักชีอยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต้องไปบวกต้นทุนค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ฯลฯ

ลองคิดแบบกลมๆ ถ้าขายกิโลกรัมละ 50 บาท หรือขีดละ 5 บาท ก็จะถูกลงเยอะเหมือนกันนะ เพราะปัจจุบันราคาผักชีในตลาดสดหลายแห่งโดยเฉพาะต่างจังหวัดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาทต่อกิโลกรัม หรือขีดละประมาณ 30-40 บาท คิดเป็นอัตราการลดลงถึง 87.5% เลยนะเนี่ยยยยย

ดังนั้น ขอสรุปปิดท้ายแบบดื้อๆ ว่า ถ้าหากรัฐสามารถนำพื้นที่ว่างเปล่าของกองทัพประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วประเทศมาปลูกผักชี จะต้องใช้งบประมาณเป็นต้นทุนการผลิตราว 6,250 ล้านบาท โดยคาดการณ์ผลผลิตอยู่ที่ 1,250 ล้านกิโลกรัม หรือ 1.25 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปได้สูงมากที่จะสามารถนำมาขายในราคาที่ถูกลงกว่าราคาปัจจุบัน เช่น หากขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่ลดลงถึง 87.5% เลยเชียวล่ะ

หวังว่าคุณผู้อ่านจะพอเห็นภาพจากการลองคำนวณของทีมข่าว Sanook News ซึ่งบอกตรงๆ ว่าพวกเราก็ไม่รู้ว่ารัฐจะนำไอเดียของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ไปดำเนินการจริงหรือไม่ แต่ที่จริงแน่ๆ ก็คือ ปัญหาราคาพืชผักราคาแพง ข้าวราคาตกต่ำ และราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กำลังส่งผลกระทบกับประชาชนไม่น้อยเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook