รัฐประหารฆ่าเศรษฐกิจเมียนมาตาย ต่างชาติแห่ถอนลงทุน
เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักข่าวที่ติดตามเรื่องพม่ามานานหลายสิบปี เขียนบทวิเคราะห์ลงในเอเชีย ไทม์ ระบุว่า สถานการณ์ความวุ่นวายในเมียนมากำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสาเหตุจากการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ตามด้วยการต่อต้านจากประชาชนที่ลุกลามไปทั่วประเทศ จนใกล้เข้าสู่สงครามกลางเมือง
บทวิเคราะห์บอกว่า เศรษฐกิจเมียนมาอยู่ในสภาพเลวร้ายตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ค่าเงินจ๊าดลดลงถึง 60% ข้าวสารบรรจุถุงแพงขึ้น 40% น้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น 2 เท่า ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก
บทวิเคราะห์อ้างข้อมูลธนาคารโลก ที่ชี้ว่าในปี 2022 ประชาชนเมียนมาจะยากจนลง 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2019และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คาดการณ์ว่า ชาวเมียนมามากกว่าครึ่งประเทศ หรือราว 27 ล้านคน จะตกอยู่ในสภาพยากจน จากสถานการณ์ภายในที่ดำเนินอยู่
นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติต่างทยอยถอนตัวหรือขายกิจการ เช่น เทเลนอร์ ขายกิจการทั้งหมดในเมียนมา โวลตาเลีย บริษัทพลังงานทดแทนจากฝรั่งเศส และบริษัทเบียร์ คิริน จากญี่ปุ่นถอนตัวจากเมียนมา รวมถึง เบเนตตน ที่ระงับการสั่งผลิตเสื้อผ้า และบริษัท อมตะ ของไทยที่หยุดดำเนินการก่อสร้างสมาร์ทซิตี้ในเมียนมาหลังการรัฐประหาร
บทวิเคราะห์ชี้ว่า ถึงตอนนี้กองทัพพม่ายังคงเอกภาพและมีเงิน รวมถึงทรัพยากรพออยู่รอดได้อีกหลายเดือน แต่การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มขึ้นเมื่อการเงินเริ่มร่อยหรอ และผลประโยชน์ที่กระจายไปยังนายทหารระดับกลางเริ่มลดลง