ทีโอทีส่งมือถือ 4 พันประเดิมตลาด 3จี

ทีโอทีส่งมือถือ 4 พันประเดิมตลาด 3จี

ทีโอทีส่งมือถือ 4 พันประเดิมตลาด 3จี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีโอทีพร้อม ประเดิมตลาด3จีรายแรกอาศัยจังหวะ กทช. ยังไม่จัดประมูลไลเซ่นให้คู่แข่ง ส่งมือถือราคา4พันบ.สั่งผลิตแบรนด์ทีโอทีพร้อมโปรโมชั่นโดนใจ

นายวิเชียร นาคศรีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีคาด ว่ารายได้จากบริการ 3จี เมื่อเปิดตลาดในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ อย่างเป็นทางการแล้ว ภายในระยะเวลา 6 เดือน จะทำสามารถขายเลขหมายได้หมด 5 แสนเลขหมายผ่าน การทำตลาดขายส่ง ซึ่งทีโอที ได้ให้เอกชน 5 รายดำเนินการ ได้แก่ บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย บริษัท 365 จำกัด บมจ. ล็อกซเล่ย์ บมจ.ไออีซี และ บริษัท เอ็ม คอนเซาล์ท เอเชีย จำกัด

ทีโอที จะแจกโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3จี ให้กับลูกค้าไทยโมบายเดิมจำนวน 10,000 ราย หรือคูปองพิเศษสำหรับเป็นส่วนลดซื้อเครื่องใหม่ โดยตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือนั้น ทีโอทีสั่ง ผลิตจากประเทศจีนมีราคาเครื่องละไม่เกิน 4,000 บาท ได้มาตรฐานระดับเดียวกับผู้ที่มีเครื่องจำหน่ายในตลาดปัจจุบัน ซึ่งในวันที่ 19-23 พ.ย.นี้ ทีโอทีจะเปิดขายซิมการ์ด 3จีโปรโมชั่นพิเศษให้พนักงาน และจัดทำแผนทำโปรโมชั่นพิเศษให้กับลูกค้าโทรศัพท์บ้านของทีโอทีที่ มีอยู่ 2 ล้านรายในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่วนรายละเอียดนั้นจะเปิดเผยในวันเปิดตัว เพราะคู่แข่งรายเดิมในตลาด 2จี อาจออกโปรโมชั่นมาแข่ง

นายวิเชียร กล่าวว่า การดำเนินงาน 3จี ใน 6 เดือนแรกนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 150 ล้านบาท หรือรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำต่อเลขหมาย 300 บาทต่อเดือน ซึ่งหากเอ็มวีเอ็นโอทุกรายขายได้ตามกำหนดก็คุ้มทุน โดยผู้ประกอบการทั้ง 5 รายจะเปิดให้บริการ 3จี พร้อมกันวันที่ 3 ธ.ค.นี้

สำหรับการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของ 3จีในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทีโอทีจะ จัดสรรเลขหมายให้ผู้ประกอบการไปจำหน่ายรายละ 20,000 เลขหมาย หลังจากนั้นเมื่อทำตลาดครบ 5 แสนเลขหมายก็จะทยอยจัดสรรเป็นรายๆ ไป ขึ้นกับเอ็มวีเอ็นโอรายใดมีประสิทธิภาพทำตลาดได้เร็ว ก็จะได้จัดสรรไปก่อน ซึ่งโครงข่ายทีโอทีขณะนี้รองรับเลขหมาย 3จี ได้ถึง 5 ล้านเลขหมาย

ทั้งนี้เอ็มวีเอ็นโอจะต้องสร้างจุดดึงดูดลูกค้าเอง ซึ่งจุดหลักอยู่ที่คอนเทนท์ที่จะเน้นแตกต่างกันไป ขณะที่ทีโอทีจะทำตลาด 3จีเองจำนวน 1 แสนเลขหมายโดยเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

"ระหว่างที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยังไม่จัดประมูลไลเซ่น 3 จี นั้น เป็นโอกาสที่ดีต่อการเร่งทำตลาด 3จีของทีโอที ซึ่งคาดว่าด้วยข้อติดขัดทางกฎหมายจะทำให้การประมูลล่าช้าออกไประหว่าง 6 เดือนถึงสองปี ดังนั้นจะต้องเร่งขยายฐานลูกค้าและเน้นที่คุณภาพบริการเพื่อสร้างความพึงพอ ใจให้แก่ลูกค้าไปก่อนที่ผู้ให้บริการมือถือรายอื่นจะดำเนินการ 3จี "

ขณะเดียวกัน ทีโอที ได้ลงทุนเพิ่ม 600 ล้านบาท ขยายสถานีฐาน 3จี ในอาคารเพิ่มอีก 200 แห่ง จากเดิมที่มีสถานีฐานครอบคลุมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประมาณ 548 สถานีฐาน

สำหรับการลงทุนโครงข่าย3 จี ในระยะที่ 2 นั้นทีโอที จำเป็นต้องได้งบประมาณเพื่อขยายเลขหมายให้สามารถรองรับได้ 5 ล้านเลขหมาย การเงินกู้ราว 23,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 20% ทีโอทีจะเป็นผู้ลงทุนเอง สำหรับการทำโครงข่ายด้วยงบประมาณดังกล่าวสามารถรองรับเลขหมายให้บริการได้ 5 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ

ทีโอทีเปิดบริการ6ประเภทรับ 3จี

แหล่งข่าวระดับสูง บมจ. ทีโอที กล่าวว่า การให้บริการเอ็มวีเอ็นโอของทีโอทีเอง อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้บริการคอนเทนท์หลายราย เกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียด เช่น บริษัท ทีวีบูรพา แต่ในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ ทีโอทีจะเปิดเฉพาะ 6 บริการหลักของทีโอทีเอง ก่อน คือ บริการวอยซ์, วีดิโอ คอลล์, เอสเอ็มเอส, เอ็มเอ็มเอส, ริงแบ็คโทน และไฮสปีด อินเทอร์เน็ต จากนั้นในปีหน้าจะเปิดคอนเทนท์อื่นๆ ตามมา เช่น เวอร์ช่วล แมสเซจ เซอร์วิส (วีเอ็มเอส) เป็นการส่งข้อความเสมือนจริง, บริการ มิสคอล นอทิฟิเคชั่น หรือ บริการบันทึกข้อมูลสายที่ไม่ได้รับ, รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และบริการระบบพอร์ทัล อื่นๆ

"ในทีโอที จะให้ เอซีทีโมบาย เป็นผู้ให้บริการเอ็มวีเอ็นโอ สำหรับ 1 แสนเลขหมาย ซึ่งจะเปิดขายให้กับพนักงานทีโอทีก่อนในวันที่ 19 นี้ ตอนนั้นก็จะมี 6 บริการดังกล่าวให้บริการได้ทันที" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนด้านเงินลงทุน โครงข่าย 3จี เฟส 2 ที่มีการอนุมัติไป ต้องเดินหน้าต่อไปในปี 2553 ตามหลักการต้องรอกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น อนุมัติเงินกู้ให้กับทีโอทีอย่างเป็นทางการ หากเมื่อกระทรวงการคลังไม่อนุมัติเงินกู้ ก็คงต้องรอผลสรุปจากบอร์ด ทีโอที ว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น ให้ทีโอทีอนุมัติเงินกู้ของตัวเอง กระนั้น ทีโอทีก็มีความพร้อมทั้งกระแสเงินสดและสินทรัพย์ค้ำประกัน

"เชิดศักดิ์"คาดขาย 5 ล้านหมดใน2ปี

นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ บริษัท เอ็ม คอนเซาล์ท เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นเอ็มวีเอ็นโอ รายหนึ่งจากทีโอที กล่าวว่า เอ็ม คอนเซาล์ท มั่นใจว่าจะสามารถทำตลาดได้ตามเป้าหมายที่ทีโอทีและ บริษัทเองกำหนดไว้ ซึ่งเอ็ม คอนเซาล์ท คาดว่าจะจำหน่ายซิม 3 จี ได้หมด 1 แสนเลขหมายใน 6 เดือน เนื่องจากศักยภาพในทุกช่องทาง ได้แก่คอนเทนท์ โครงข่าย และช่องทางกระจายสินค้า ผ่านเจมาร์ท ส่วนการทำตลาด 3จี ได้ 5 ล้านเลขหมายจะเร็วหรือช้าขึ้นกับกลยุทธ์การทำตลาดที่จะสร้างตลาดใหม่และดึง ลูกค้าจากฐาน 2จี เดิมมาได้เร็วและมากเพียงใด เนื่องจากตลาด 2 จีในขณะนี้มี 60 ล้านเลขหมายจากผู้ใช้ประมาณ 50 ล้านราย ส่วนตลาดที่ใช้ดาต้าจำนวนมากในปัจจุบันมีระหว่าง 6-7.5 ล้านเลขหมาย หรือ 15-20% ของทั้งตลาด

กระนั้นคาดว่าการทำตลาดรวมของทุกเจ้าสำหรับ 5 ล้านเลขหมายจะใช้เวลาประมาณ 2ปี เนื่องจากในระยะแรกตลาดจะเติบโตอย่างรวดเร็ว มาจากทั้งลูกค้า 2 จีจากผู้ให้บริการรายเดิม และลูกค้าใหม่อย่างแท้จริง จากนั้นอัตราการเติบโตจะเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งในตลาด 2จี ก็มีลักษณะเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม หากทีโอที เร่งขยายโครงข่าย 3จี ทั่วประเทศ ก็จะเป็นผลดีต่อการทำตลาดในภาพรวมให้กับเอ็มวีเอ็นโอ ด้วย

"การทำตลาดแข่งโมบาย โอเปอเรเตอร์ รายเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริการ 3จี ไม่ใช่การแข่งขันที่ราคาต่ำ ขณะที่ผู้ให้บริการเดิมในตลาดได้ปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายรองรับบริการใหม่ๆ ดังนั้นผู้ให้บริการ 3จี จะต้องกระจายจุดรับซื้อให้ทั่วถึง ราคามีให้เลือกตั้งแต่ระดับพัน ถึงระดับหมื่นบาท รวมถึงคอนเทนท์ที่รองรับการใช้งานไอโมบาย บรอดแบนด์ และในส่วนผู้ให้บริการโครงข่ายก็ต้องมีพื้นที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้งานหลักๆ" นายเชิดศักดิ์ กล่าว

ล็อกซเล่ย์เผย2แบรนด์สู้ตลาด

นายสุรช ล่ำซำ กรรมการบริหาร บมจ.ล็อกซเล่ย์ หนึ่งในผู้ให้บริการ เอ็มวีเอ็นโอ อีกรายจากทีโอที กล่าวว่า การทำตลาด 3จี ของล็อกซเล่ย์นั้น ในขณะนี้แบ่งตลาดใหญ่ๆ เป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มบรอดแบนด์ ในชื่อ "I-Kool" และแบรนด์ "Season" ที่เน้นกลุ่มลูกค้าโทรศัพท์มือถือ โดยจะเน้นในตลาดกลุ่มแรกมากกว่า ซึ่งคาดว่าจะแตกต่างจากเอ็มวีเอ็นโอ รายอื่นๆ ที่เน้นการทำตลาดผ่านมือถือ

"ในขณะนี้ยังไม่เป็นเอ็มวีเอ็นโอ เต็มตัว โดยเป็นผู้จำหน่ายซิมค้าส่งก่อน ส่วนการเป็นเอ็มวีเอ็นโอ ควรจะต้องมีบิลลิ่ง คอลล์เซ็นเตอร์เป็นของตัวเองด้วยจะดีกว่า ส่วนในการเปิดตัว 3 ธ.ค. นี้ ล็อกซเล่ย์ พร้อมที่จะให้บริการลูกค้าได้ทันที และมั่นใจว่าจะจัดจำหน่าย 1 แสนซิมแรกได้หมดใน 6 เดือน ส่วนระยะต่อจากนี้ในแง่โครงข่ายทีโอที สามารถโรมมิ่งกับโมบาย โอเปอเรเตอร์รายเดิมได้" นายสุรช กล่าว

กทช.ยังหวังเปิดประมูล 3 จี ได้

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า กทช. จะเปิดกว้างให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ เข้าแข่งขันกับ กสท และ ทีโอที ได้ในการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (เน็ตเวิร์ค โพรไวเดอร์) ผ่านการประมูล 3จี อีก 4 รายตามจำนวนใบอนุญาตได้เข้ามาแข่งขัน เนื่องจากได้ศึกษาแล้วว่า เป็นจำนวนที่เหมาะสมกับตลาดไทย แต่ก็ต้องมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งการที่ ทีโอที ได้ลงทุนบางส่วน และมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมก่อนรายอื่นๆ ก็เป็นข้อได้เปรียบ และจะมีการเปิดให้บริการเอ็มวีเอ็นโออยู่แล้ว

"รัฐคงกลัวว่าการลงทุนโครงข่ายจะไม่คุ้มค่า มีคนมาใช้น้อย ซึ่งเริ่มต้นก็มีผู้ให้บริการเอ็มวีเอ็นโอ สนใจมา 5-6 รายแล้ว ในอนาคตอาจจะมีมากขึ้นอีก แต่จะให้มีแค่ 1-2 รายไม่เพียงพอแน่นอน ถึงจะเปิดใบอนุญาตใหม่ 4 ราย แต่ละรายก็จะลงทุนประมาณ 60-70% เท่านั้น ที่เหลือจะใช้ร่วมกัน จะต้องไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อนเหมือน 2จี" นายเศรษฐพร กล่าว

ส่วนมูลค่าเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ ถือเป็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันไป บ้างสูงไปบ้างต่ำไป ก็มีข้อดีข้อเสียอยู่แล้ว ถ้าสูงไปคนที่สนใจก็น้อยลง ถ้าต่ำไปเงินที่ได้จากการประมูลก็ต่ำ แต่เชื่อว่า 5.2 พันล้านบาทและ 4.6 พันล้านบาทเป็นมูลค่าที่เหมาะสมแล้ว และจากสถิติ การประมูลมักจะสูงกว่าราคาเริ่มต้นประมาณ 20-25%

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ กทช. ยังต้องรอ กฤษฎีกาตีความกลับมาเกี่ยวกับ อำนาจ กทช. ในการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ระหว่างนี้ กทช. จะสร้างความชัดเจนให้มากขึ้นว่า 3จี มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไรบ้าง

รมว.คลังยันไม่ค้ำเงินกู้ทีโอที

นาย กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันถึงจุดของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้แก่รัฐวิสาหกิจว่า กระทรวงการคลังพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึง การค้ำประกันเงินกู้ให้ กรณีที่การลงทุนนั้นได้ก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ และไม่มีผลในเชิงพาณิชย์ ซึ่งกรณีการเสนอขอค้ำประกันเงินกู้โครงการลงทุน 3จีของบริษัททีโอทีต่อกระทรวงการคลังนั้น ก็จะเข้าข่ายเป็นการลงทุนเชิงพาณิชย์ หากคาดว่า การลงทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้จริง ทางทีโอทีก็ต้องสามารถกู้ยืมได้ด้วยตัวเอง

"มองย้อนไปเมื่อผมเข้ารับตำแหน่ง ได้มีสอบถามถึงการค้ำประกันเงินกู้แก่การบินไทย ก็ให้คำตอบลักษณะนี้ว่า การบินไทยเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ ต้องสามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และการบินไทยก็ปฏิรูปภายใน เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพื่อกู้ยืมโดยไม่ต้องอาศัยค้ำประกันจากกระทรวงการคลัง สุดท้ายเขาก็กู้ยืมได้โดยไม่เป็นภาระต่อประชาชน เช่นเดียวกันกับ โทรคมนาคม ปัจจุบันมีเอกชนมากมายแสดงเจตจำนงอยากลงทุนไม่ว่าระบบปัจจุบันหรือ3จี ฉะนั้น ถ้ารัฐวิสาหกิจใดที่อยากทำธุรกิจนี้ ก็ต้องมองในลักษณะธุรกิจ ถ้าเป็นธุรกิจที่เชื่อว่า สร้างผลตอบแทนได้จริง ก็ต้องสามารถกู้ยืมได้โดยไม่พึ่งพาภาษีของประชาชน ฉะนั้น ผมก็หนุนรัฐวิสาหกิจจะให้บริการสาธารณะโดยรวมตามความเหมาะสมของรัฐบาลหรือ คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ" เขากล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook