หมอถามเอง โรงเรียน "เตรียมแพทย์" ตั้งแต่ ม.1 จำเป็นไหม หวั่นสร้างแผลใจให้เด็ก

หมอถามเอง โรงเรียน "เตรียมแพทย์" ตั้งแต่ ม.1 จำเป็นไหม หวั่นสร้างแผลใจให้เด็ก

หมอถามเอง โรงเรียน "เตรียมแพทย์" ตั้งแต่ ม.1 จำเป็นไหม หวั่นสร้างแผลใจให้เด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ที่เปิดเป็นโรงเรียนหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์ หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นโรงเรียนหลักสูตร "เตรียมแพทย์" ตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 โดยมองว่าหลักสูตรดังกล่าวมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และเหตุใดจึงต้องยัดเยียดความคิด ค่านิยม ในการประกอบอาชีพแพทย์ให้กับเด็กตั้งแต่วัยเท่านี้ ทั้งที่เด็กควรจะได้ลองค้นหาสิ่งที่ชอบ รวมทั้งหวั่นว่า การแบกรับความกดดันตั้งแต่เด็ก อาจจะกลายเป็นแผลใจ สำหรับคนที่ไปค้นพบตัวเองภายหลัง ว่าไม่เหมาะกับอาชีพแพทย์ก็ได้

โดย นพ.ณัฎฐชัย รำเพย อดีตรองประธานสภานิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กชื่อ Natthachai Ramphoei พร้อมแท็กไปยังโรงเรียนดังกล่าว ระบุว่า

ผมรู้สึกสะเทือนใจและเศร้าใจมากที่ประเทศเรามาถึงจุดนี้ จุดที่มีโรงเรียนรับเด็กเข้าหลักสูตรเตรียมเป็นแพทย์ตั้งแต่ ม.1 ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ (ซึ่งเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น)

  1. ข้อนี้สำคัญที่สุด เด็กวัย ม.1 จะมีอายุประมาณ 12-13 ปี เป็นช่วงที่เด็กจะต้องเรียนรู้ว่าสังคมและโลกภายนอกเป็นอย่างไร เพื่อสร้างตัวตนของตัวเอง การที่เอาเด็กในวัยที่กำลังจะสร้างตัวตนมายัดเยียดภารกิจการเป็นแพทย์ในอนาคตให้ คือรูปแบบการล้างสมองที่เลวร้ายอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองและโรงเรียนสร้างให้เด็ก สำหรับข้อนี้ ผมอยากให้พ่อแม่คิดดีดี ถ้าคุณรักลูกจริง ๆ คุณต้องส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้หลาย ๆ อย่างเพื่อหาตัวตน
  2. หากมีการปลูกฝังความอยากเป็นแพทย์ให้เด็กเป็นเวลา 6 ปี (ม.1-ม.6) วันที่เด็กสอบเข้าแล้วไม่ได้เป็นแพทย์ขึ้นมา สภาพจิตใจของเด็กจะเป็นอย่างไร? …เสื้อกาวน์เตรียมแพทย์ที่พวกคุณมอบให้เด็ก ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจจะกลายเป็นตราบาปที่ตอกย้ำความล้มเหลวหรือไม่? …ผมสนับสนุนให้เลี้ยงลูกให้มีความสุข รักเขาและยอมรับเขาตามสิ่งที่เขาเป็นในทุกๆแบบน่าจะดีกว่านะครับ ข้อนี้เลวร้ายมากนะ เด็ก “อาจ” มีปัญหาทางจิตเวชได้เลย
  3. ข้อนี้ก็สำคัญ ถ้าเกิดว่าระหว่างเรียนเด็กค้นพบว่าตัวเองไม่อยากเป็นแพทย์จะทำอย่างไร? ในเมื่อตัวเองอยู่ท่ามกลางสังคมที่พร่ำบอกว่าต้องเป็นแพทย์ท่ามกลางเพื่อน ๆ ที่อยากเป็นแพทย์ เด็กคนนั้นจะกลายเป็นแกะดำทันทีและคงทรมานมาก ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพ่อแม่ก็ร่วมบังคับให้เด็กเป็นแพทย์ด้วย)
  4. สังคมไทยยังอยู่ในค่านิยมผิดๆ เกี่ยวกับการยกย่องว่าเด็กนักเรียนที่เก่งคือเด็กที่จบมาเป็นแพทย์มากพอแล้ว เราไม่ควรส่งเสริมค่านิยมโบราณนี้ แต่ควรส่งเสริมให้ทุกวิชาชีพมีความน่าชื่นชมในแบบของตัวเอง
  5. ข้อนี้อาจไม่ชัดเพราะไม่มีข้อมูล แต่การที่เด็กได้เรียนรู้เฉพาะคำว่า “แพทย์” อาจทำให้เด็กโลกแคบลงมาก ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่ฝันอยากทำอาชีพอื่นนอกสายสุขภาพเลย ผมไม่แน่ใจว่าถ้าหากเด็กที่ถูกจำกัดให้โลกแคบขนาดนั้นสอบเป็นหมอได้จริง จะมีทักษะทางสังคมมากพอที่จะเป็นหมอที่ดีได้หรือไม่
    สุดท้ายนี้ผมภาวนาว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องจริง โรงเรียนนี้ไม่มีจริง แต่แค่มีใคร prank ทำเวปไซต์กับเพจตลก ๆ ขึ้นมาก็เท่านั้น แล้วผมเช็คดีไม่พอเลยรู้ไม่ทันจนออกมาแสดงความเห็นยาวเยียด เพราะหากโรงเรียนนี้มีจริงๆ มันคือจุดที่เลวร้ายมาก ๆ ของระบบการศึกษาไทยสำหรับผม

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทางโรงเรียนที่ถูกอ้างถึง ได้ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Triamwitpattana School : Pre-Medical School ระบุว่า

ทำไม...ถึงต้องมีโรงเรียนเตรียมแพทย์ ในประเทศไทย

โรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นเตรียมนักเรียนสู่คณะแพทยศาสตร์และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยเฉพาะ แห่งแรก และมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกใหม่ สำหรับนักเรียนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องการเสริม พัฒนา ต่อยอด ในสิ่งที่ตนเองสนใจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และมีความสุข (โดยไม่จำเป็นแค่ต้องเรียนพิเศษอีกต่อไป เพียงเพราะต้องการสอบไล่ในระดับชั้นเรียนปกติ ให้ผ่านพ้นไป ให้ได้วุฒิตามที่หลักสูตรกำหนด แล้วรอสอบเข้าคณะที่ต้องการด้วยสูตรลัดแบบกะทันหัน หรือเสียเวลากับบางอย่างที่ไม่จำเป็น)

เพราะการที่จะเดินสู่เป้าหมายได้อย่างชาญฉลาด สำหรับคนฉลาดและรุ่นใหม่ คือ การรู้เส้นทางและวิธีการที่ถูกต้อง มากกว่าการติวข้อสอบเพียงอย่างเดียว (ตามแนวคิดและพฤติกรรมแบบเดิม ๆ) เพื่อให้สามารถใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า อย่างมีเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการเรียนในชั้นเรียนปกติได้อย่างลงตัว และสมบูรณ์แบบ

ในโลกปัจจุบันนี้ เด็กรุ่นใหม่อาจจะมีวิวัฒนาการทางความคิดที่รวดเร็วกว่าคนในอดีต คือ การที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างหลากหลายรวดเร็วจากทุกช่องทาง รวมถึงการเข้าถึงประสบการณ์ตรงในหลายรูปแบบกิจกรรม จึงไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดความอ่านที่รวดเร็ว มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ "มักจะ" ขาดการสนับสนุน การเปิดใจยอมรับ และต่อยอดจากผู้ใหญ่บางกลุ่มในสังคมเท่าที่ควร

จึงอาจเกิดกระแสสังคมว่า โรงเรียนเตรียมแพทย์ มีไว้ทำไม เพื่ออะไร ??????

รวมถึงปัญหาของเด็กเก่งที่อยากเป็นหมอ สอบเข้าได้เพียงเพราะความเก่งในการทำข้อสอบ (ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม) แต่สุดท้ายกลับพบว่ามันไม่ใช่ในสิ่งที่คิด ก็มักจะเกิดปัญหาการลาออก รีไทร์ ซิ่ว หรือเปลี่ยนเส้นทางใหม่ในภายหลัง ดั่งที่เคยเกิดในสังคมไทยตลอดมา ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะ "สายเกินไปแล้ว"

การเป็นคนดี นักเรียนที่ดี จะก้าวไปสู่การเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ดี และวิชาอาชีพแพทย์ที่ดีในอนาคตได้ หากมีการส่งเสริมในเรื่องของคุณลักษณะของความเป็นคนดี ใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีเป้าหมายที่ชัดเจนตลอดเส้นทางที่เลือกเดิน

เพราะเชื่อหรือไม่ครับ แพทย์บางท่านก็อาจจะไม่ใช่แพทย์ที่ดีทุกคน หากไม่ได้รับการปลูกฝังที่ดีตั้งแต่แรก อาจจะเป็นแพทย์ที่เพียงแค่บังเอิญ "สอบติด" ก็เป็นได้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือ คุณลักษณะ ทัศนคติเชิงบวก คุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่แรกเริ่ม ยิ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากเป็นแพทย์ สิ่งแรกที่ควรคิดคือ
เราอยากเป็นแพทย์เพราะอะไร ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นอย่าง "มืออาชีพ" ใช่หรือไม่ หรือแค่ต้องการมี "อาชีพแพทย์"

จากนั้นจึงควรคิดที่จะค้นหาเส้นทางแล้วเดินตามเป้าหมาย เพราะทุกคนรู้ดีว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ ทำงานหนักมากกกก เพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวม

เป็นที่ทราบกันดีว่า...ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก พิสูจน์ให้เห็นได้ในยามที่เกิดวิกฤติในตอนนี้ของประเทศ และอีกหลายเหตุการณ์ทั่วโลก

แล้วทำไม ?

เราจึงไม่ควรสนับสนุนเยาวชนที่สนใจในด้านนี้ให้มากขึ้น เปิดช่องทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ส่งเสริมเจตคติของความเสียสละในวิชาชีพแพทย์ ความน่าภาคภูมิใจในความเป็นแพทย์ แทนการปล่อยให้การเป็นแพทย์คือความพยายามของเด็กเพียงลำพัง ปล่อยผ่านไป ใครอยากเป็นแพทย์ก็ต้องดิ้นรนเอาตามยถากรรม ดิ้นรนกันไป ผิดบ้าง ถูกบ้าง คณะแพทย์ก็แค่รอตั้งรับ ไม่ต้องปฏิบัติการเชิงรุกใด ๆ คนที่มีความพร้อมกว่า มีเงินเรียนพิเศษเยอะกว่า ก็เป็นหมอกันได้เองตามธรรมชาติ

สุดท้ายคนส่วนใหญ่ที่มักสอบติดแพทย์ คือ คนเมืองกรุง คนมีฐานะ อยู่ในโรงเรียนดัง ที่แทบจะสอบกันได้ค่อนโรงเรียน

อีกนัยหนึ่ง ถ้าหากเราส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม สร้างโอกาสแก่คนทุกกลุ่มที่มีความสนใจในด้านนี้อยู่แล้ว ให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ก็จะเพิ่มโอกาสเชิงรุกให้กับเยาวชนทุกคนได้ (ไม่ใช่หรือ)

เส้นทางสู่คณะแพทย์ มิใช่มีเพียงการเรียนให้จบ ม.6 แล้วรอติว ติว และติวสอบเข้าให้ได้ดั่งที่หลายคนเข้าใจ ประเทศไทยมีการรับ นศพ.ของแต่ละแห่งเท่าไร ยังไง ช่องทางไหน แต่ยังมีรูปแบบวิธีอีกมากมายที่เด็กควรต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นโควต้าพิเศษ แพทย์ชนบท ที่ ผปค. ต้องรู้ข้อมูลตั้งแต่ ป.6 เรื่องการเตรียมคุณสมบัติของตนเอง ครอบครัว CPIRD, ODOD, MDX ฯลฯ ที่ใช้ความสามารถภาษาอังกฤษในการยื่นคะแนน โครงการพอร์ทฟอลิโอ ที่แค่ยื่นผลงานแล้วติดหมอ (แต่ไม่ใช่ผลงานอะไรก็ได้) โครงการ สอวน.โอลิมปิกวิชาการ ค่าย 1-3 รวมถึงการสอบแพทย์กลางอย่าง กสพท. ที่ไม่ใช่ GAT PAT แต่เป็น 7 วิชาสามัญ วิชาความถนัดแพทย์ที่ทุกคนไม่เคยเรียนแต่ต้องใช้สอบ ที่ทำได้เพียงแค่หาที่ติวหรือหาอ่านเองแบบท่องจำ การเตรียมแพทย์นานาชาติ การสอบ BMAT SAT หรืออื่น ๆ อีกมายมาย รวมถึงรอบเก็บตกของแต่ละสถาบันอีกมากมายที่ไม่ใช่แค่รู้ข่าว แต่ต้องเข้าถึงข้อมูลแบบรู้ลึก รู้จริง
ที่เพียงแค่ครูแนะแนวทั่วไปอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือในจุดนี้ได้อย่างเต็มที่ ผลเสียจะตกอยู่ที่ใคร ถ้าไม่ใช่นักเรียน ผปค.ที่ต้องดิ้นรนด้วยตนเองในสารพัดวิธีด้วยความลำบาก

ซึ่งผมเชื่อว่า ผู้ปกครองที่พยายามติดตามข้อมูล จะทราบถึงปัญหานี้ดี แล้วแต่ละอย่างไม่สามารถเตรียมการได้ใน 1 เดือน หรือ 1 ปี แต่ควรต้อง 3 ปี หรือ 6 ปีในการวางแผนที่ดีเยี่ยม

แต่จะดีกว่าไหม ถ้าได้เจอพี่เลี้ยงที่ตรงจุด ตรงใจ !!!!

  • เนื้อหาฉบับเต็ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook