แก้วสรร ยืนยันเงินจากขายหุ้นชินคอร์ป มาจากการใช้หน้าที่เอื้อประโยชน์
แก้วสรร อติโพธิ เบิกความคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ยืนยันทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป 19 พ.ย. เป็นคิวเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ องค์คณะผู้พิพากษา ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์ ไต่สวนในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป จำนวน 76,000 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดย นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เบิกความในฐานพยานโจกท์ ต่อจากเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายแก้วสรร ยังคงยืนยันว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ โดยสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก้กฎหมาย และมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นสัดส่วนของการถือครองหุ้นของคนต่างด้าว จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 แม้อ้างว่าเป็นการร้องขอจากบริษัทอื่น ที่ไม่ใช่บริษัทในเครือชินคอร์ป แต่พฤติการณ์ขายหุ้นในเครือชินคอร์ป ให้กับกลุ่มกองทุนเทมาเส็ก หลังแก้กฎหมายเพียง 1 วัน ทำให้เชื่อได้ว่า ได้มีการพูดคุยกันมาก่อน
นอกจากนี้ นายแก้วสรร ยังชี้แจงประเด็นการโอนหุ้นของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และคนในครอบครัว แม้จะเป็นไปตามขั้นตอน แต่เชื่อได้ว่า เงินปันผลจากหุ้นที่โอนไปแล้ว ยังกลับเข้ามาอยู่ในบัญชีของคุณหญิงพจมาน
"การทำหน้าที่ในฐานะ คตส. ไม่ได้นำตามความชอบ หรือไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นหลัก การดำเนินการทุกอย่าง เป็นไปตามพยานหลักฐาน" นายแก้วสรร ย้ำ
ส่วน นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ อดีต คตส. วันนี้ ไม่ได้มาเบิกความ แต่ศาลให้มารับรองเอกสารหลักฐาน ที่ได้ยื่นประกอบสำนวนก่อนหน้านี้ และเมื่อนายวิโรจน์รับรองเอกสารแล้ว ศาลได้ชี้แจงระบบการไต่สวนคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ทนายผู้ถูกร้อง และอัยการทราบว่า เป็นระบบการไต่สวน ไม่ใช่ซักค้าน โดยเป็นการให้ข้อเท็จจริงกับศาล ดังนั้น เมื่อทนายตั้งคำถามใด ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่า พยานจะตอบอย่างไร
"ขอให้คำนึงว่า เป็นการพิสูจน์ความจริงกับศาล เป้าหมายอยู่ที่คำเบิกความ ไม่ใช่คำสรุปของทนาย ซึ่งระบบการไต่สวนนี้ มีใช้ในศาลแรงงานเท่านั้น คนส่วนใหญ่ไม่เคยชิน ทำให้อาจมองว่า มีการเข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่ศาลยืนยันว่า หลักการพิจารณาของศาล ยึดตามหลักนิติธรรม คุณธรรม และอยู่ในกรอบของกฎหมาย"
จากนั้น ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งต่อไป วันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. ซึ่งจะเป็นการเบิกความของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)