ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคำปราศรัย อานนท์-ไมค์-รุ้ง "เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง"
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การปราศรัยของ 3 แกนนำราษฎร คือ ทนายอานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
วันนี้ (10 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของกลุ่มแกนนำแนวร่วมม็อบราษฎร ได้แก่ 1. นายอานนท์ นำภา 2. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ 3. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำปราศรัยดังกล่าว "เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง"
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง
ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า
ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในประการที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องให้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ
พิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคล กลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน
การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด ทั้งเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง