"พลังประชารัฐ" ยังฝุ่นตลบ...ไร้เงาผู้สมัครชิงเก้าอี้ ผู้ว่าฯ กทม.
หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศถอนตัวจากการลงสมัครผู้ว่า กทม. ก็มีกระแสข่าวคาดการณ์ชื่อผู้สมัครผู้ว่า กทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กันออกมาหลายชื่อ อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่เคยประกาศตัวลงสมัครเป็นเรื่องเป็นราว, นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ซึ่งก็เคยมีข่าวว่าปฏิเสธการทาบทามจากพรรค เพราะยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี และยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ กทม., พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ที่แม้จะยังไม่พูดชัดว่าจะลงสมัครผู้ว่า กทม. หรือไม่ แต่ก็มีการแต่งตั้งสมาชิกกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ที่เปิดตัวส่งผู้สมัคร สก. ทั้ง 50 เขต ไปเป็นคณะกรรมการประสานงานและติดตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ประจำกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต ซึ่งกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อแคนดิเดตผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ประสานงาน กทม. พรรค พปชร. ปฏิเสธว่าชื่อที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่เคยถูกพูดถึงในที่ประชุมของพรรค เพียงได้ยินแต่ในข่าว และพรรคเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครชิงผู้ว่า กทม. ในนามพรรคหรือไม่ ตอนนี้กำลังจัดทัพใหม่หลัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนตัว เพราะมีผู้สมัครเขตบางส่วนที่ถอนตัวตามไปด้วย แม้ส่วนตัวจะเห็นว่าการมีผู้สมัครผู้ว่า กทม. เป็นหัวหน้าทีมจะทำให้การทำงานคล่องตัวมากกว่า แต่จะมีหรือไม่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะหน้าที่ของ สก. คือการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และตอนนี้พรรคและ ส.ส. กทม. ก็เริ่มลงพื้นที่ดูปัญหาของชาว กทม. ซึ่งนโยบายหลักๆ ที่ปรึกษาร่วมกับผู้สมัคร สก. และ ส.ส. กทม. ทั้ง 12 คนของพรรคก็คือ การแก้ปัญหาจราจร, น้ำท่วม, PM 2.5, แสงสว่างและความปลอดภัย, การทำมาหากินของคนกรุงและสานต่อโครงการเมืองน่าอยู่ที่มีทั้งการจัดระเบียบพื้นที่และปรับภูมิทัศน์
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
เมื่อถามถึงผลงานภาพรวมของ พล.ต.อ.อัศวิน ว่ามีกระแสวิจารณ์น้ำหนุนแม่น้ำเจ้าพระยาล้นท่วม กทม. จะส่งผลต่อความนิยมของพรรคหรือไม่ นางนฤมล ยืนยันไม่เกี่ยวกับความนิยมของพรรค เพราะผู้ว่า กทม. ไม่ใช่คนของ พปชร. แต่มาจากการแต่งตั้ง เป็นกลาง และรับใช้ทุกคน ไม่ได้เลือกพรรคใดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ นางนฤมล ยังย้ำว่าศึกเลือกตั้ง กทม. โดยเฉพาะ สก. ตนไม่หวั่นคู่แข่ง เพราะเชื่อว่าผู้สมัครคือคนทำงานจริงๆ ที่เลือกมาจากคนที่ทำงานในพื้นที่ด้วยกัน อีกทั้งพรรคยังพร้อมสนับสนุนให้การทำงานตรงโจทย์มากขึ้น เชื่อว่าจะมีโอกาสชนะมากขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 34 ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กระทำการอันเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร ตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ที่เห็นว่ากฎหมายขัดแย้งกันเอง เนื่องจากไม่ห้ามพรรคการเมืองส่งตัวแทนลงสมัคร แต่ห้ามช่วยหาเสียง เนื่องจากเห็นว่า สก. และ ส.ส. คือคนที่ต้องช่วยกันลงพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงประชาชน ดังนั้นกฎหมายข้อนี้จึงเป็นการแบ่งแยกทำให้การทำงานผิดรูปผิดร่าง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เอง ก่อนหน้านี้ที่เคยประกาศว่าได้ตัวผู้สมัครผู้ว่า กทม. แล้วแต่ขอรอเวลาที่เหมาะสมในการเปิดตัว น่าจะเป็นการรอแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เรียบร้อยก่อน ขณะที่ท่าทีของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. ปชป. และรองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ กทม. ต่อกรณีที่มีข่าวว่านายสุชัชวีร์อาจสวมเสื้อพรรค พปชร. ตอบเพียงไม่ขอวิจารณ์พรรคอื่น และมองว่ารายชื่อที่ปรากฏออกมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความสามารถที่จะมารับใช้ชาว กทม.
ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล มองว่าการถอนตัวของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ อาจเป็นสัญญาณว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เร็วๆ นี้ไม่เกินต้นปีหน้าก็เป็นได้ พร้อมเผยว่า ตัวผู้สมัครของพรรคเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักพอสมควร
ชัยธวัช ตุลาธน
ในขณะเดียวกัน รายชื่อบุคคลที่ยังไม่ถอนตัว ได้แก่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไม่ส่งผู้สมัครชิงผู้ว่า กทม. นอกจากนี้ยังมี นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตกรรมการอิสระ อสมท. และนักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภค และนายสกลธี ภัทธิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีต ส.ส. กทม.
ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน