สรรพสามิต แจงปมจับชายพิการขายบุหรี่เถื่อน ของกลาง 232 ซอง ปรับ 5-15 เท่าของภาษี

สรรพสามิต แจงปมจับชายพิการขายบุหรี่เถื่อน ของกลาง 232 ซอง ปรับ 5-15 เท่าของภาษี

สรรพสามิต แจงปมจับชายพิการขายบุหรี่เถื่อน ของกลาง 232 ซอง ปรับ 5-15 เท่าของภาษี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมสรรพสามิตชี้แจงการจับกุมบุหรี่เถื่อนในเขตพื้นที่อุดรธานี พบของกลางจำนวน 232 ซอง มีโทษปรับ 5-15 เท่าของภาษี ผู้กระทำผิดได้รับการประกันตัวเรียบร้อยแล้ว

วานนี้ (10 พ.ย.) นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ว่าเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตจับกุมคนพิการขายบุหรี่เถื่อนในเขตพื้นที่อุดรธานี นั้น กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตรวจสอบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่อุดรธานีแล้วพบว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่อุดรธานีได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าบุหรี่ที่ซื้อจากบ้านหลังหนึ่ง หมู่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ในราคาซองละ 70 บาท และเมื่อสูบแล้วเกิดอาการระคายเคือง จึงคาดว่าเป็นบุหรี่ปลอม

ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ จำนวน 4 นาย เข้าตรวจสอบ พบว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นร้านขายของชำ จำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมายประเภทบุหรี่ปลอมและแสตมป์ปลอมหลายยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อ SMS WONDER S กรองทิพย์ และ L&M7.1 จำนวนรวมทั้งสิ้น 232 ซอง

ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามมาตรา 204 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ฐานที่ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน มีโทษปรับ ตั้งแต่ 5-15 เท่าของค่าภาษี และได้ดำเนินการส่งพนักงานสอบสวน สภ.อำเภอเมืองอุดรธานี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. และได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมสรรพสามิตจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการนำบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งบุหรี่ปลอมเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคมากกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย เนื่องจากการผลิตบุหรี่ปลอมไม่ได้มีการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อนจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงเชื้อราในบุหรี่

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐาน กรมสรรพสามิตจึงดำเนินการอย่างเข้มงวดในการปราบปรามบุหรี่ปลอมรวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้และป้องกันปัญหาบุหรี่ปลอม โดยการสแกน QR CODE บนแสตมป์บุหรี่ ซึ่งรายละเอียดของสินค้าและข้อมูลการชำระภาษีก็จะปรากฏขึ้นมาทันที หรือหากพบการกระทำผิดจากการจำหน่ายสินค้าบุหรี่ สามารถแจ้งผ่านสายด่วนกรมสรรพสามิต 1713 เพื่อป้องกันการกระทำผิดและปราบปรามบุหรี่ปลอมหรือบุหรี่ผิดกฎหมายอีกช่องทางหนึ่งด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook