“ปิยบุตร-พริษฐ์” ผนึกกำลังดันร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน วอนสภาผ่านวาระแรก
(16 พ.ย.64) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 โดยจะมีการพิจารณาเรื่องด่วน "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ...." ซึ่งกลุ่ม Re-Solution รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 135,000 คนยื่นต่อสภา
พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนจากกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงความจำเป็นในการนำเสนอร่างแก้ไขนี้ โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้เดินไปข้างหน้าได้ แม้สิ่งที่ดีที่สุดคือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กระบวนการยาวไกลและถูกขัดขวางมากมายจึงต้องแก้ไขเฉพาะมาตราในครั้งนี้ เพื่อขจัด 'ระบอบประยุทธ์' ที่มีเกราะหนาอย่างรัฐธรรมนูญ 2560 คอยปกป้อง
พริษฐ์ กล่าวถึงการนำเสนอการยกเลิกวุฒิสภาว่า เป็นเพราะไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน แต่งตั้งเครือข่ายพวกพ้อง แต่มีอำนาจสูงมากสามารถเลือกนายกฯ ได้ และไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบรัฐบาลเพราะไม่เคยคัดค้านสิ่งใดเลย
พริษฐ์ชี้ “รัฐสภาที่ดีที่สุด คือรัฐสภาที่ไม่ต้องมีวุฒิสภา”
"หลักการที่จะออกแบบโครงสร้างการเมืองใหม่ให้กระชับ ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือการหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยวไม่ต้องมีวุฒิสภาเลย และการที่มีแต่เพียงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อดีอยู่หลักๆ 3 ข้อ คือ ถูกกว่า เรียบง่ายกว่า และทันสมัยกว่า”
พริษฐ์ แจกแจงว่า ข้อดีเรื่องการประหยัดงบประมาณของประเทศ หากคำนวณเพียงแค่เงินเดือนของ ส.ว. 250 คน และ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยของแต่ละคนอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท ต่อปี หากรวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารจัดเลี้ยง ค่าประชุมกรรมาธิการ รวมถึงค่าเดินทาง ต่างๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
"ผมก็รู้สึกตื่นเต้น ที่ได้มีโอกาสจะรอฟังสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน อภิปรายกับประชาชนทุกคนทั่วประเทศวันนี ว่าทำไมเขาควรจ่ายเงินปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เรายังมีวุฒิสภาอยู่"
พริษฐ์ กล่าวถึงข้อดีประการที่สองเรื่องความเรียบง่ายและปกติที่สุด ในการทำให้รัฐสภามีความยึดโยงกับประชาชนและอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ในประเทศนิวซีแลนด์เคยเลือกมีวุฒิสภาแต่งตั้งที่มีอำนาจน้อย แต่ก็ต้องพบกับความยากลำบากที่จะหากระบวนการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลางทางการเมืองจริง ๆ ส่งผลให้มีการเสนอยกเลิกวุฒิสภาในปี 1951 ส่วนประเทศสวีเดนก็เคยเลือกมีวุฒิสภาเลือกตั้งที่มีอ านาจเยอะแต่ก็พบว่าพอมีทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ ทั้ง 2 สภาก็เริ่มมีลักษณะทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลให้มีการยกเลิกวุฒิสภาในปี 1970
"ในไทยเอง วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดในการหาสมดุลนี้ แต่วุฒิสภาชุดนั้นก็หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนที่มาจากกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียวกันกับที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ชวนคิดว่าเราจะมี 2 สภาที่หน้าตาเหมือนกันไว้ทั้งคู่ทำไม การใช้ระบบสภาเดี่ยว จึงเป็นทางเลือกที่เรียบง่าย และทำให้เราไม่จ าเป็นต้องเสียเวลาไปกับการหาสมดุลกับสิ่งที่พยายามหากันมาหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่พบเจอ"
พริษฐ์กล่าวถึง ข้อดีประการที่สาม คือแนวทางสภาเดี่ยว จะเป็นการออกแบบกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ทันสมัย และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า
สำหรับความกังวลว่าหากไม่มีวุฒิสภาจะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล พริษฐ์เสนอว่า กลไกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ก็สามารถถูกปรับเปลี่ยนให้เพิ่มพื้นที่ตรงนี้ได้ แถมอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า เนื่องจากเป็นการให้พื้นที่ท างานแก่ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการพิจารณาร่างกฎหมาย แทนที่จะไปห้อยอยู่ขั้นตอนท้ายสุดในการกลั่นกรองกฎหมาย
"หากท่านกังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อถ่วงดุลอ านาจฝ่ายรัฐบาล ทางเราจึงเสนอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส. ฝ่ายค้าน ให้สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเข้มข้นขึ้น ผ่านการกำหนดให้ต าแหน่งรองประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง และ
ตำแหน่งประธานกรรมาธิการที่สำคัญต่อการตรวจสอบ (อย่างเช่น กมธ. งบประมาณ) ตกเป็นของฝ่ายค้าน ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างแพร่หลายขึ้น กลไกการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อาจไม่ใช่การหวังพึ่งบุคคลสองร้อยกว่าคนในสภาฯ แต่เป็นการติดอาวุธให้ประชาชนได้ตรวจสอบรัฐบาลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานของรัฐได้มากขึ้น หรือ ออกกฎหมายคุ้มครองคนที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล"
"ท่านสังเกตไหมครับ ว่าในแต่ละครั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันยอมถอยเรื่องร่างกฎหมายหรือการกระท าบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่างเช่น กรณีของการชะลอการซื้อเรือดำน้ำ ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้มาจากการทักท้วงของสมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภาแห่งนี้ แต่มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนนอกสภาในโลกออนไลน์หรือบนท้องถนน"
"ถ้าเราสำรวจแค่เฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกที่เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ และ ที่ใช้ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เราจะเห็นว่า 2 ใน 3 ของประเทศเหล่านั้น เลือกใช้ระบบสภาเดี่ยว สภาเดี่ยวจึงเป็นทางเลือกหลัก สภาคู่ต่างหากที่เป็นทางเลือกรอง"
ปิยบุตรเสริม การตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพิ่มให้เข้มข้นในสภาผู้แทนฯ ดีกว่า
ปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนจากกลุ่ม Re-Solution กล่าวเสริมประเด็นของพริษฐ์ว่า เมื่อเหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรก็จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเพิ่มเติมบทบาทฝ่ายค้านและสภาผู้แทนฯ ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น
- กำหนดรองประธานสภาผู้แทนฯ อย่างน้อย 1 คน ต้องมาจากฝ่ายค้าน
- ประธาน กมธ.สามัญในคณะสำคัญอย่างน้อย 5 คณะต้องยกตำแหน่งนี้ให้ส.ส.ฝ่ายค้าน
- การแบ่งสัดส่วนกมธ.วิสามัญต้องให้ฝ่ายค้าน
- ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเงิน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ส.ส.เสนอ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกฯ ลงนาม หากไม่มีลายเซ็นต์จะไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภา เหตุผลในอดีตคือ มองว่านายกฯ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารย่อมรู้ว่าเงินในกระเป๋าเหลือเท่าไร ส.ส.จะเสนอต้องถามนายกฯ ก่อน แต่ทำไปทำไมเรากลับเปิดช่องให้นายกฯ สามารถคว่ำร่างกฎหมายที่ส.ส.เสนอได้ อันที่จริงถ้าเข้าสภา รัฐบาลก็มีส.ส.เสียงข้างมากอยู่แล้ว เปิดโอกาสให้สภาพิจารณากันเอง
- ให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. อันที่จริงทั่วโลกไม่ได้บังคับเพราะโดยทางปฏิบัติ ส.ส.ก็จะโหวตเลือกส.ส. แต่ประสบการณ์เรา ถ้าไม่เขียนบังคับจะได้ทหาร คนทำรัฐประหารมาทุกครั้งไป
- เพิ่มบทบาทประชาชน ส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ด้วยการให้คนมีสิทธิเลือกตั้งเสนอกฎหมายได้ทั้ง พ.ร.ป. ใช้รายชื่อ 2 หมื่นคน และ พ.ร.บ.ใช้รายชื่อ 1 หมื่นคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะหมวด 3 สิทธิเสรีภาพ และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
- มีคณะผู้ตรวจการกองทัพ แบ่งสัดส่วนเป็นธรรมโดยให้ ส.ส.รัฐบาลและค้านอย่างละ 5 คน โดยเคารพหลักรัฐบาลอยู่เหนือกองทัพ ใช้ในประเทศเสรีปชต.ทั่วโลก กองทัพก็เป็นหน่วยงานราชการเหมือนกัน จะเข้าไปตรวจสอบงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การหารายได้ และเป็นหลักประกันให้นายทหารชั้นผู้น้อยได้มีโอกาสร้องเรียนเรื่องวินัย
ปิยบุตรเสนอทางแก้ปมปัญหาการเมืองไทย ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระที่บิดเบี้ยว
ปิยบุตรกล่าวถึงการปฏิรูปที่มาและตรวจสอบศาลรัฐธรรนูญว่า ก่อนปี 2540 เราไม่รู้จักว่าศาลรัฐธรรมสูญและองค์กรอิสระว่าคืออะไร แต่มันโผล่มาในประเทศไทยและมีบทบาทมีอำนาจอย่างมากหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 สาเหตุเริ่มต้นจากการปฏิรูปการเมือง หลายเรื่องเราเอามาจากต่างประเทศแล้วปรับแต่งให้เข้ากับเรา หลายเรื่องมาจากชุดวิจัยของประเวศ วะสี หรือความคิดของอมร จันทรสมบูรณ์ แต่พอใช้มาใช้ไปเกิดปัญหา ตอนออกแบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เราต้องการให้ที่มานั้นหลุดไปจาก ส.ส. โดยที่ให้ ส.ส.มีส่วนเฉพาะกรรมการสรรหาเท่านั้น แล้วส่งให้ ส.ว.จากการเลือกตั้งเห็นชอบ ความฝันคือ คิดว่าหากจะได้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่อิสระแท้จริง มีรัฐบาลที่เข้มแข็งพร้อมๆ กับระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่ก็มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลครอบงำ ส.ว. เพื่อครอบงำองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง แล้วนายพลคนหนึ่งก็ไปแอบอ้างทำรัฐประหาร พอเกิดรัฐประหารก็ทำรัฐธรรมนูญ 2550 ใหม่ แล้ว ส.ว.ที่เคาะคนสุดท้ายมาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ทั้งยังเพิ่มบทบาทตุลาการศาลฎีกามามีบทบาทในการคัดเลือกมายิ่งขึ้น มาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งไปกันใหญ่ ส.ว.คนเคาะคนสุดท้ายมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ต่อให้อมพระมาพูดว่าเป็นกลาง เป็นอิสระ แต่คนไม่เชื่อ เพราะที่มาไปเชื่อมโยงกับ สนช. และ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช.
ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็เกิดปัญหา ไม่ต้องกล่าวย้ำทุกเรื่อง คำวินิจฉัยหลายเรื่องก่อปัญหากับสังคม มีการตั้งคำถามจากประชาชน และท้ายที่สุดผู้คนตั้งคำถามว่า เรามีศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.เพื่อตรวจสอบหรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง อันที่จริงหลายประเทศก็ประสบปัญหาคล้ายกัน นั่นเพราะนับตั้งแต่เราคิดค้นการมีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระขึ้นมา เราเพิ่มอำนาจให้พวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถชี้ชะตาทางการเมือง-นักการเมืองได้ จึงเป็นธรรมดาที่ฝักฝ่ายทางการเมืองประสงค์จะช่วงชิงตรงนี้ เพราะเล็งเห็นว่าองค์กรนี้ให้คุณให้โทษได้อย่างมากมาย ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ในเมืองฝ่ายการเมืองอยากเข้ามาครอบงำ แม้ออกแบบให้ ส.ว.เห็นชอบ ก็หนีการครองำไม่พ้น เราจึงเสนอแบ่งสรรปันส่วนอำนาจให้เท่าเทียมกัน คือ
- ศาลรัฐธรรมนูญ มี 9 คนเหมือนเดิม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ศาลปกครอง เสนอ 6 คน ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ 6 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอ 6 คน แล้วเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคัดเลือกให้เหลือส่วนละ 3 คน รวมเป็น 9 เก้า โดยต้องใช้เสียง ส.ส.สูงถึง 2 ใน 3 ดังนั้น สัดส่วนที่แต่ละฝ่ายเลือกจะเท่ากันและมาจากการเห็นพ้องต้องการของสภา จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ ส.ส.ต้องหารือกัน จะหักดิบกวาดทั้งหมดแต่ผู้เดียวไม่ได้ ความคิดแบบนี้ก็เอามาจากต้นตำรับศาลรัฐธรรมนูญ คือ ออสเตรียและเยอรมนี
"ถ้าจะใช้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก ก็ต้องให้ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเขาต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจาการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องมีความชอบธรรมสูสีกัน องค์กรอิสระก็เช่นกัน" ปิยบุตรกล่าว
ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ประเด็นถัดไป ในอดีตเราสร้างศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยมีหลักใหญ่ใจความคือ การตรวจสอบว่า พ.ร.บ.ที่ผ่านจากสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ สืบเนื่องจากหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่า นานวันเข้าก็ไปเพิ่มอำนาจแปลกๆ ใหม่ๆ ที่พัวพันกับอำนาจการเมืองเข้าไป ไม่ว่าการยุบพรรค การตัดสิทธิ ส.ส. การตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้าม ส.ส.-รัฐมนตรี ชี้ว่าการกระทำของบุคคลใดเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ทั้งที่หัวใจสำคัญคือการดูว่าร่างพระราชบัญญัติใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลด้วย ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญร่างฉบับนี้คงเหลืออำนาจในเรื่องสำคัญเท่านั้น คือ
- ตรวจสอบ พ.ร.บ.ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
- ชี้ขาดว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายหากขัดแย้งกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดว่าอำนาจเรื่องนั้นเป็นของใคร
- ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- เพื่อให้เป็นกลางและอิสระอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวพันกับรัฐประสารจึงเสนอว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ต้องไม่เคยเป็นคนเคยดำรงตำแหน่งจากการรัฐประหารปี 2549 และ 2557
- ในการตรวจสอบถ่วงดุลเสนอให้มีการถอดถอนได้
"เรื่องการถอดถอนไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐธรรมนูญ 2540 เคยกำหนดให้ ส.ว.เป็นคนถอด พอรัฐธรรมนูญ 2560 ไปมอบภารกิจให้ศาลฎีกาซึ่งผิดฝาผิดตัว เขาพิจารณาคดีแพ่งและอาญา ทำให้ศาลที่ต้องใช้ข้อกฎหมายตัดสินต้องมาพิจารณาเรื่องจริยธรรม ความเหมาะสม เราจึงเอาเรื่องนี้มาให้ ส.ส. ถ้ากังวลว่า ส.ส.จะถอดตุลาการกันหมด ก็จะบอกว่ามันไม่ใช่ถอดกันมั่วซั่ว การถอดถอนต้องมีเหตุ เหตุแห่งการถอดถอนเอามาจากรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเอง เช่นต้องส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ต่อความยุติธรรม แล้วเราเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอถอดถอดได้ด้วย มีองค์คณะวินิจฉัยโดยมี ส.ส.ร่วมกับศาลในองค์คณะ และใช้มติสูงมากในการถอดถอน คือต้องมีเสียงส.ส. 3 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมด"
"เราสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมาเป็นองค์กรตรวจสอบ แล้วใครตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ ถ้าไม่มีการตรวจสอบก็มีโอกาสใช้อำนาจไม่ถูกต้องเช่นกัน"
เพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบศาล-ทหาร ยืนยันไม่ใช่การแทรกแซง
ปิยบุตรยังชี้แจงถึงคณะกรรมการตรวจสอบศาลและศาลรัฐธรรมนูญในร่างแก้ไขว่า หลักการง่ายๆ คือ การถ่วงดุลกันของฝ่ายนิติบัญญัติกับตุลาการ เราเสนอให้มีผู้ตรวจการนี้ โดย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ยค้านอย่างละ 5 คน คณะกรรมการนี้อำนาจที่มีไม่ได้แทรกแซงการตัดสิน ผู้ตรวจการทำได้แต่เพียงเอาคำวินิจฉัยมาศึกษาวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบต่างๆ จากคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยแล้วเสนอกับประชาชน และเสนอแนะการบริหารงานยังประธานศาล และให้ตัวแทน ส.ส.เข้าไปนั่งในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) หรือคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เพียง 1 คนเท่านั้น อย่างน้อยเป็นจุดเกาะเกี่ยวว่า อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้าไปอยู่ในการบริหารของศาล เข้าไปดูด้วย โดยไม่ต้องกังวลว่า ส.ส.จะครอบงำศาล ครอบงำองค์กรอิสระ เพียงแต่ถ่วงดุลให้มีดุลยภาพ ผู้แทนประชาชนจะได้รู้บ้างว่าบริหารงานอย่างใด
ต้องล้มล้างผลพวงรัฐประหาร-ป้องกันรัฐประหารในอนาคต
ปิยบุตร ชี้แจงประเด็นสุดท้ายคือ การลบล้างผลพวงรัฐประหารว่า ในร่างได้เขียนในหมวดสุดท้าย โดยคิดว่า เพื่อนสมาชิกรัฐสภาคงไม่มีใครเห็นด้วยกับการรัฐประหาร อาจถกเถียงถึงมูลเหตุของรัฐประหารกันได้ แต่ไม่มีใครเห็นด้วยแน่ๆ จึงไม่เห็นเหตุผลอะไรอื่นที่จะไม่เห็นด้วยการลบลางผลพวงและการป้องกันรัฐประหาร
ข้อเสนอในร่างนี้คือ
1. ยกเลิก มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการรับรองให้บรรดาประกาศคำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
"นี่เป็นการสร้างหลุมดำให้ระบบรัฐธรรมนูญ สร้างจุดด่างพร้อยให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพราะทุกอย่างต้องห้ามขัดรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการกระทำกลุ่มหนึ่งโต้แย้งไม่ได้เลย คือ การกระทำของ คสช. ถ้าจะได้รับการยกเว้นก็ต้องเฉพาะช่วงที่อยู่ในระบอบรัฐประหาร หรือระหว่างใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ตอนนี้เป็นระบบปกติ เราเขียนคุ้มครองแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเขียนแบบนี้คือ ยอมให้ประเทศนี้มีกฎหมายสองระบบ"
2.เรามักพูดกันว่า คณะรัฐประหารถ้าสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ้าแพ้เป็นกบฏ เมื่อใดก็ตามทำสำเร็จเขาก็นิรโทษกรรมตัวเอง เมื่อทำกันจนเป็นประเพณีจึงเป็นธรรมดาที่นายทหารที่คันมืออยากยึดอำนาจก็ทำได้ เพราะเขารู้ว่าถ้ายึดสำเร็จจะไม่ถูกดำเนินคดี ถ้าเขารู้ว่าทำแล้วมีความผิดจะไม่กล้าทำ จึงต้องประกาศให้การนิรโทษกรรมการรัฐประหาร 2557 เสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และทำให้การยึดำอนาจ 2557 เป็นกบฏ แล้วดำเนินการทางคดีกันต่อ
"ทำแบบนี้ไม่ใช่เพื่อล้างแค้น แต่เพื่อไม่ให้นายทหารรุ่นต่อไปกล้าทำรัฐประหารอีก"
3.สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เพิ่มเติมให้มีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านรัฐประหารในทุกรูปแบบ บรรดาข้าราชการมีหน้าที่ไม่ฟังคำสั่งคนทำรัฐประหาร และศาลฎีกาเคยมีแนวบรรทัดฐานรับรองการรัฐประหาร จึงเขียนไว้ว่า ห้ามไม่ให้ศาลพิพากษายอมรับการรัฐประหาร
"ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า มันไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองฝ่ายใด เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ดี ต้องออกแบบที่สร้างกติกาที่เป็นกลาง ไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบไปกว่ากัน เพื่อนสมาชิกจำเป็นต้องคิดเสมอว่า วันหนึ่งเราอาจเป็นฝ่ายค้าน วันหนึ่งอาจเป็นรัฐบาล จึงต้องสร้างกติกาการเมืองสำหรับทุกฝ่าย แล้วมาสู้กันในทางการเมือง"
"จึงไม่เห็นเหตุผลอื่นใดที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบกับร่างนี้ หากให้ความเห็นชอบในวาระ 1 รายละเอียดปลีกย่อย ความเห็นต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขในวาระ 2 และหากผ่านวาระ 3 พวกท่านยังร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก แล้วต้องทำประชามติอีกด้วย ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญมันต่อเนื่องยาวนาน จึงขอความเห็นชอบในการรับหลักการวาระ 1 เป็นการแสดงออกว่า ท่านไม่ได้ปิดประตูใส่ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมา" ปิยบุตรกล่าว