ไฟเซอร์ ยินยอมมอบสูตรให้ 95 ประเทศทั่วโลก ผลิตยา "แพ็กซ์โลวิด" แต่ไม่มีไทย
"ไฟเซอร์" ไฟเขียวให้ 95 ประเทศทั่วโลกสามารถนำสูตรการผลิต "ยาแพกซ์โลวิด" ยารักษาโควิด ไปผลิตได้ แต่ไร้ชื่อประเทศไทย
องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (Medicines Patent Pool: MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยวานนี้ (16 พ.ย.) ว่า MPP บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับไฟเซอร์ อิงค์ โดยบริษัทจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถจำหน่ายยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 95 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการผลิตยาแพกซ์โลวิดสามารถยื่นเรื่องต่อ MPP เพื่อขอรับการอนุมัติ โดย MPP จะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว โดย MPP คาดการณ์ว่ายาแพกซ์โลวิดจะเข้าถึง 95 ประเทศดังกล่าวภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน
ประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาแพ็กซ์โลวิดทั้ง 95 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและแอฟริกา โดยอยู่ในกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (SSA), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (LIC), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง (LMIC) และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (UMIC)
สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีอยู่ 6 ประเทศที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่ไม่อยู่ในรายชื่อ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
การบรรลุข้อตกลงระหว่าง MPP และไฟเซอร์ มีขึ้นหลังจากที่ MPP ได้บรรลุข้อตกลงกับเมอร์ค แอนด์ โค ก่อนหน้านี้เช่นกันในการมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ 105 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ เมอร์คและไฟเซอร์ จะไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพ็กซ์โลวิด ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงระบุว่าโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ในขณะที่ ไฟเซอร์ เปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาแพ็กซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์ค ซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50%
ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สของเมอร์คประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆ ละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน ส่วนผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพ็กซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพ็กซ์โลวิด 20 เม็ดและยาริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพ็กซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพ็กซ์โลวิดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่าจะอนุมัติให้กับยาโมลนูพิราเวียร์ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. และหลังจากนั้นจึงจะอนุมัติให้กับยาแพ็กซ์โลวิด
ก่อนหน้านี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ประชุมหารือกับผู้แทนบริษัทไฟเซอร์ในประเด็นยาแพ็กซ์โลวิด เพื่อติดตามข้อมูลการศึกษาวิจัยการใช้ยา รวมถึงการจัดหายามาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งราคายาที่จะขายให้กับประเทศไทยแล้ว แต่ขอไม่ให้เปิดเผยราคาต่อสาธารณะ รวมทั้งได้ขอให้ไทยแจ้งประมาณจำนวนยาที่จะสั่งจอง ซึ่งก็บอกไปคร่าวๆ แล้ว โดยได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว พร้อมแจ้งทางบริษัทไปว่า เราต้องการยาโดยเร็วที่สุด ซึ่งได้ขอให้นำเข้ามาในไตรมาสแรกของปี 2565
ทางบริษัทแจ้งว่าขณะนี้มีปริมาณการสั่งจองเข้ามาค่อนข้างมาก หลังจากนี้ทางไฟเซอร์จะกลับไปทำสัญญาการสั่งจองเบื้องต้น เพื่อนำกลับมาให้ลงนามร่วมกัน คาดว่าน่าจะมีการเซ็นสัญญาจองปลายสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับยาโมลนูพิราเวียร์ ที่อยู่ระหว่างกรมบัญชีกลางพิจารณาระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะได้เซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และการนำเข้ายาคงเป็นเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565