ฝนดาวตกสวยงามสว่างไสวท้องฟ้า
ฝนดาวตกลีโอนิดส์สวยงามสว่างไสวทั่วท้องฟ้า ที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา เห็นแค่ประปราย
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ที่บริเวณ คลับเฮาส์ สนามกอล์ฟมาเจสติค ครีค คันทรีคลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สดร. ได้นำนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ และสื่อมวลชน เฝ้าชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก พบว่ามีฝนดาวตกลีโอนิดส์ ปรากฏให้เห็นดวงแรก ในเวลา 01.04 น. วันที่ 18 พ.ย. และปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ เฉลี่ย 31 ดวงต่อชั่วโมง จนถึงเวลา 05.00 น. สามารถสังเกตเห็นดาวตกทั้งสิ้นประมาณ 127 ดวง
ส่วนที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มีประชาชนเฝ้าชมฝนดาวตกเป็นจำนวนมาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร. นักวิชาการ รวมทั้งสื่อมวลชนได้ไปสังเกตการณ์ ที่บริเวณยอดดอย หน้าสถานีเรดาร์ ของกองทัพอากาศ มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร พบว่าท้องฟ้าเปิดสามารถมอง เห็นฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน และเห็นฝนดาวตกกว่าพันดวง โดยเฉพาะช่วงเวลา 04.00-05.30 น. ปรากฏการณ์ฝนดาวตก ลีโอนิดส์มากที่สุด กว่า 300 ดวงต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ ประชาชนสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้บ้าง ถึงแม้ว่าในบางช่วงเวลาจะมีเมฆบางส่วน อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ส่วนภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ท้องฟ้ามีเมฆมากสังเกตเห็นฝนดาวตกได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถเฝ้าชมฝนดาวตกได้อีกครั้งในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ โดยเป็นฝนดาวตกขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย คาดว่าจะมีปริมาณฝนดาวตกเฉลี่ย 100 ดวงต่อชั่วโมง
ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียว่า นักดูดาวจำนวนมากที่ตั้งตารอคอยปรากฏการณ์ฝนดาวตก "ลีโอนิดส์" เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา เนื่องจากนักดาราศาสตร์คาดหมายว่าจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นจำนวนมากใน ภูมิภาคเอเชียในปีนี้ แต่กลับต้องพบกับความผิดหวัง ส่วนหนึ่งเพราะท้องฟ้ามีเมฆมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีความโชคดีอยู่บ้างสำหรับนักดาราศาสตร์ 30 คน ที่บริเวณเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าสิริสกา ซึ่งตั้งอยู่ 150 กม.ทางใต้ของกรุงนิวเดลี เมื่อสามารถนับจำนวนฝนดาวตกได้ทั้งสิ้น 78 ดวง ในช่วงเวลา 4 ชั่วโมง ส่วนที่โชคร้ายคือ ประเทศเนปาล มีทั้งเมฆและหมอกปกคลุมท้องฟ้าดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัย จึงไม่มีโอกาสได้เห็น สร้างความผิดหวังให้กับนักดาราศาสตร์ของเนปาลอย่างมาก.