"อนุทิน" บอกทำอะไรไม่ได้ ปมไร้ชื่อไทยรับมอบสูตรผลิต "ยาแพกซ์โลวิด" จากไฟเซอร์
“อนุทิน” ยันทำอะไรไม่ได้ กรณีไฟเซอร์ไม่เลือกไทยในการถ่ายทอดสูตรผลิต "ยาแพกซ์โลวิด" แต่ย้ำมีแผนในการจัดซื้อ เมินเสียงวิจารณ์ไม่ถูกเลือกเพราะโยงประเด็นการเมือง
วันนี้ (17 พ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีประเทศไทยไม่ได้อยู่ใน 95 ประเทศที่ได้รับการถ่ายทอดสูตรการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 แพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัทไฟเซอร์ ว่า การที่จะจัดว่าประเทศใดจะได้รับสิทธิบัตรการผลิตยา ทางบริษัทฯ มีเกณฑ์การตัดสินใจอยู่แล้ว ทำอะไรไม่ได้ แต่ขอให้ความมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแผนจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันดูแลรักษาโรคโควิด-19 มีการวางแผนสำรอง เช่น วัคซีนโควิด-19 ที่เราเตรียมไว้แล้ว ขณะยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีอยู่ก็มีสรรพคุณดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อแรกๆ จะใช้เวลาการรักษาที่สั้นลง
การที่เรามีแผนจัดหายาแพกซ์โลวิด หรือ ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ก็เป็นการอะเลิร์ท (Alert) ต่อสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอามาเป็นยาหลัก แต่เอามาเสริมความมั่นใจทางยา เตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา เป็นทางเลือกแต่ไม่ได้หมายความว่ายาที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ เพียงแต่ยา 2 ตัวนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่ง โดยขณะนี้ยาแพกซ์โลวิดยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตกำลังอยู่ระหว่างยื่นขอขึ้นทะเบียนที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเรื่องการเมืองหรือไม่ นายอนุทิน ถามกลับสั้นๆ ว่า ใคร ตนไม่ได้ยิน และไม่ได้อ่าน แต่เชื่อว่าแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีประสบการณ์รับมือโควิด-19 กว่า 2 ปี เป็นผู้ปฏิบัติงาน เป็นผู้ใช้ยาจริง และเห็นวิธีการรักษาคนไข้ว่าแนวทางใดมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วย และยาใดมีประสิทธิภาพในการรักษา อย่างที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานว่า การใช้วัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าของไทย มีการศึกษาพบว่าสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่าที่คาดไว้
วันนี้มีแต่ข้อมูลดีๆ เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาดำเนินการให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด ดังนั้น ขอให้พวกเราได้ทำงาน เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว ไม่มีช้า ไม่มีทำอะไรที่เกินอำนาจหน้าที่ และไม่มีทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์หรือผิดกฎหมาย
ส่วนการผลักดันให้สูตรไขว้ในประเทศไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศหรือไม่นั้น นายอนุทิน ระบุว่า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสถาบันต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเหมือนกับที่ไทยดูข้อมูลของต่างประเทศ หากพบว่ามีประโยชน์ก็ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเหล่านั้นมา หาวิธีทำให้เกิดผลที่ดีที่สุด
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไทยไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทไฟเซอร์จะให้สูตรผลิตยาแพกซ์โลวิดใน 95 ประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูง โดยไฟเซอร์มีการแจ้งมาแล้วว่า ไทยไม่ได้อยู่ใน 95 ประเทศ แต่บริษัทไฟเซอร์ไม่ได้บอกว่ามีประเทศอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ไทยมีความพยายามเจรจาต่อรองเรื่องการขอสูตรผลิตยาแพกซ์โลวิด แต่ต้องเป็นการเจรจาในระดับประเทศ
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ ขณะนี้การทำสัญญาการจัดซื้อดังกล่าวถูกส่งให้กรมบัญชีกลางพิจารณา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) กรมบัญชีกลางจะมีการประชุมแล้วแจ้งกลับมาที่กรมการแพทย์ คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาอย่างช้าในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ 95 ประเทศที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแพกซ์โลวิดนั้น จะได้ยาไม่เร็ว เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ไปผลิตยากันเอง แต่ไทยจะได้ยาค่อนข้างเร็วเนื่องจากมีการเจรจากับทางบริษัทไฟเซอร์มาโดยตลอด แต่ในส่วนของราคาและจำนวนยังไม่สามารถบอกได้