“มีมี่” เยาวชนผู้ยืนยันสิทธิเสรีภาพด้วยร่างกายของตัวเอง

“มีมี่” เยาวชนผู้ยืนยันสิทธิเสรีภาพด้วยร่างกายของตัวเอง

“มีมี่” เยาวชนผู้ยืนยันสิทธิเสรีภาพด้วยร่างกายของตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • มีมี่ เยาวชนนักกิจกรรม ตัดสินใจโกนผมประท้วงรัฐบาล พร้อมยืนยันว่า จะโกนผมต่อไปจนกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออกจากตำแหน่ง
  • นอกจากการโกนผมจะถือเป็นการแสดงจุดยืนที่ต่อต้านอำนาจรัฐแล้ว ยังเป็นการยืนยันสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของประชาชนด้วย
  • ความใฝ่ฝันของมีมี่คือการได้เดินทางไปเรียนรู้ความหลากหลายในต่างประเทศ แต่การดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก็สร้างความหวาดหวั่นต่ออนาคตของเธออย่างมาก

“นับตั้งแต่วันนี้ไป เยาวชนอายุ 17 คนนี้ จะประกาศว่าหนูจะขอโกนหัว จนกว่าประยุทธ์จะลาออก” เด็กคนหนึ่งในชุดนักเรียนประกาศกร้าวบนเวทีปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ขณะที่ทีมงานบนเวทีกำลังใช้กรรไกรตัดผมยาวสลวยของเธอ ตามด้วยเสียงหวี่ๆ ของปัตตาเลียนที่ไถผมบนศีรษะของเธอจนสั้นกุด นี่เป็นภาพจำครั้งใหญ่ของ “มีมี่” นักกิจกรรมเฟมินิสต์ที่ขณะนี้มีอายุ 18 ปี ผู้ตัดสินใจโกนผมประท้วงการทำงานของรัฐบาล และยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิตของเธอในฐานะประชาชน

มีมี่ เยาวชนนักกิจกรรมมีมี่ เยาวชนนักกิจกรรม 

ก้าวแรกสู่โลกการเมือง

“ช่วงที่เขากำลังมีเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง ตอนนั้นเราอยู่อนุบาลนะ” มีมี่เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจประเด็นทางสังคมและการเมือง ซึ่งมาจากการเติบโตในครอบครัว “เสื้อแดง” และแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งผู้ที่จุดประกายความเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในตัวเธอ คือคุณพ่อ ที่มักจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนที่ถูกกดขี่จากอำนาจรัฐให้มีมี่ฟังอยู่เสมอ

“เราเชื่อพ่อ เพราะว่าพ่อเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนพ่อมีเงิน เศรษฐกิจหมุนเวียนดี นักการเมืองก็ช่วยเหลือ เอาเป็นว่ายุคทักษิณละกัน แล้วพ่อเราก็เป็นเสื้อแดง แต่พอมายุคนี้ พ่อบอกว่าเศรษฐกิจแย่เลย เราก็เอาเลนส์ที่มองว่าคนกินดีอยู่ดีเป็นหลัก เราก็เลยเชื่อว่า ใครที่ทำให้ประชาชนมีสวัสดิการดีๆ เราก็ซื้อไอเดียนั้น” มีมี่อธิบาย

คำสอนของพ่อและการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้มีมี่ส่งเสียงแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ในโลกออนไลน์อยู่เสมอ ทว่าวันหนึ่ง ข่าวการหายตัวไปของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักกิจกรรมทางการเมือง เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ได้จุดประกายให้มีมี่ออกจากโลกออนไลน์ สู่ถนนสายนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างเต็มตัว

“เราคิดว่าที่มันทริกเกอร์เราเพราะว่า ที่ผ่านมาเราอยู่ต่างจังหวัด แล้วเวลาคนหายเราไม่ค่อยรู้ข่าวสารอะไรเท่าไร เราก็ไม่รู้ว่ามีคนหายไป เพราะว่าสื่อช่องหลักก็ไม่นำเสนอ คนก็ไม่ได้สนใจการเมืองขนาดนั้น เราก็ไม่เคยรู้เลย ก็ไม่ได้สนใจมากเท่าไร แต่ว่ากับคุณวันเฉลิม คือเขาหายไปต่อหน้าต่อตา มีคลิป มีเสียง มีเหตุการณ์ชัดเจน คือเขาหายไปต่อหน้าต่อตาเราเลยนะ แล้วเราจะยังอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร” มีมี่เล่าถึงที่มาของการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรก ที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อปีที่แล้ว

หลังจากนั้น มีมี่ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ ในฐานะทีมงานอาสาของบูธผู้หญิงปลดแอก และเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวด้านเฟมินิสต์ตั้งแต่นั้นมา โดยเป็นแอดมินเพจ Feminist FooFoo ที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศ และเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงชุด “สีดาลุยไฟ” ที่เป็นการเต้นและร้องเพลงเพื่อรณรงค์ต่อต้านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ และความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ในสังคม รวมทั้งร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักเรียนเพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

“จะโกนหัวจนกว่าประยุทธ์จะลาออก”

หลังจากเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ มาระยะหนึ่ง ภาพของมีมี่ปรากฏในสื่ออีกครั้ง เมื่อเธอตัดสินใจประกาศกร้าวว่า เธอจะโกนผมจนกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอาจจะโกนผมไปเรื่อยๆ หากผู้นำประเทศคนใหม่ยังเป็นเผด็จการ

“หากหนูจะต้องโกนหัวและไม่มีผมไปตลอดชีวิต ก็ขอให้มันเป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศเราไม่เคยมีประชาธิปไตยเลย” มีมี่กล่าวบนเวทีในวันนั้น

แม้ในสายตาของผู้ใหญ่หลายคน การกระทำของมีมี่จะเป็นเพียงการประชดประชันที่ขาดสติยั้งคิดของเด็กๆ แต่สำหรับมีมี่ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะเยาวชนในวัยใกล้เคียงกับเธอล้วนหวงแหนทรงผม ไม่มีใครอยากโกนผมหรือถูกตัดผมโดยไม่เต็มใจ ทว่าเธอเลือกที่จะโกนผมเพื่อแสดงให้สังคมรู้ว่า คนรุ่นใหม่อย่างเธอไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลนี้

“เรามองว่าการโกนหัวมันเป็นขบถหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การกดดันรัฐ แต่มันคือการที่เรายืนยันในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเราว่า หัวของเรา เราจะโกนก็ได้ แล้วก็เป็นการขัดกับบรรทัดฐานทางเพศ ที่กำหนดว่าผู้หญิงไม่ควรจะโกนหัว ไม่ควรจะผมสั้นนะ มันขบถหลายอย่าง ก็เลยตัดสินใจค่ะ” มีมี่กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีมี่มองว่า การโกนผมประท้วงเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่การที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยต้องมีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการแสดงออกในแนวทางอื่น ซึ่งรวมถึงการทำหน้าที่ในสภาด้วย

คุณครูนอกห้องเรียน

“เราเป็นคนชอบเล่นของเล่น ชอบสะสมของเล่น เล่นสกุชชี่บ้าง ถ้าการเมืองดี แบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า โอ้โห สุดยอดไปเลยนะ เราคิดว่าเราอาจจะกำลังขายของเล่นอยู่ก็ได้ เล่นไปด้วยขายไปด้วย แล้วเราก็คงได้ฝึกพูดมากกว่านี้ เราคงได้ฝึกอะไรที่เราสนใจแบบปลอดภัยอยู่ เพราะทุกวันนี้แทนที่เราจะได้ฝึกพูดในที่ชุมชนที่โรงเรียน ดันได้ฝึกในม็อบ”

เช่นเดียวกับนักกิจกรรมที่เป็นเยาวชนคนอื่นๆ พื้นที่การเรียนรู้ของมีมี่ไม่ใช่ห้องเรียนหรือตำราเรียน แต่เป็นกลางถนนและบนเวทีปราศรัย ซึ่งมีมี่บอกว่า พื้นที่เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนของเธอไปอย่างสิ้นเชิง

“เราได้เจอคนมากหน้าหลายตา เจอทั้งคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางเพศ คนที่เป็น sex worker คนที่เป็นแรงงาน คนที่โดนทอดทิ้งจากรัฐบาลและการบริหารประเทศ คนกลุ่มนี้คือคนที่ผู้ใหญ่ สังคม และที่โรงเรียนบอกว่าให้เราลืมเขาซะ แล้วเดินหน้าต่อไป ให้เราทอดทิ้งคนพวกนี้ ให้เรานำหน้าคนพวกนี้ พอเราได้มาคลุกคลี ได้อยู่ในขบวนการการเคลื่อนไหว มันทำให้เราตระหนักได้ว่า เราจะไม่ทอดทิ้งใครไปไหน เราอยากจะยืนอยู่ข้างๆ คนพวกนี้ แล้วเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกัน ให้มันโอบอุ้มพวกเขา สำหรับหนู ครูของหนูคือประสบการณ์ แล้วก็คนมากมายที่เจอในขบวนการเคลื่อนไหว เขาทำให้หนูรับรู้ว่า ความหลากหลายคืออะไร แล้วก็ความเป็นมนุษย์คืออะไร

ความใฝ่ฝันบนความไม่แน่นอน

การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย ทำให้เยาวชนตัวเล็กๆ อย่างมีมี่ ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 และปราศรัยเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศและวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ซึ่งสิ่งที่มีมี่กังวลมากที่สุดก็คือ เมื่อเธออายุครบ 18 ปี การดำเนินคดีจะไม่เป็นแบบเยาวชนอีกต่อไป นั่นหมายความว่าเธออาจจะถูกจำกัดอิสรภาพได้

“เรามีความฝันว่าเราอยากจะออกไปต่างประเทศ ไม่ใช่เพื่อหนีปัญหา แต่ว่าเราต้องการที่จะหาประสบการณ์ใหม่ เจอพื้นที่ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อที่เราจะได้รับรู้การกดขี่ รับรู้วัฒนธรรม รับรู้ความหลากหลายที่มากยิ่งขึ้นกว่าองค์ความรู้เราตอนนี้ เราต้องการที่จะรับรู้อะไรได้กว้างขึ้นกว่าเดิม นั่นคือเป้าหมายของเรา แต่ว่าที่มันร่อแร่ๆ ก็คือกูจะติดคุกไหมนั่นแหละ” มีมี่ทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ ของ “มีมี่” เยาวชนผู้ยืนยันสิทธิเสรีภาพด้วยร่างกายของตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook