โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง อบต. "เปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นหรือถอยหลังลงคลอง?"

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง อบต. "เปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นหรือถอยหลังลงคลอง?"

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง อบต. "เปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นหรือถอยหลังลงคลอง?"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ก้าวหน้า" ถอดบทเรียนเลือกตั้ง อบจ.-เทศบาล สู่โค้งสุดท้ายสนาม อบต.

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์บริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ. หรือ สจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครนายก อบจ. 42 จังหวัด แต่ไม่ชนะกการเลือกตั้ง และ สจ. 1,001 คน สอบได้ 57 คน ขณะที่การเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 คณะก้าวหน้าได้นายกเทศมนตรี 16 คน และสมาชิกสภาเทศบาล 136 คน จากที่ส่งผู้สมัครทั้งหมด 160 เขต หรือคิดเป็น 10%

นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เปิดเผยว่า เป้าหมายของคณะก้าวหน้าคือการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เพื่อให้ประชาชนกำหนดชีวิตของตัวเองได้ เพิ่มการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเลือกตั้งถือเป็นการดำเนินการจากล่างขึ้นบน โดยการเปลี่ยนภาพมาเฟีย ผู้มีอำนาจท้องถิ่นให้กลายเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ดังนั้น นอกจากการหาเสียงครั้งนี้จะไม่ใช้เงินและไม่ใช้อิทธิพลตามแบบของคณะก้าวหน้าแล้ว ยังได้บทเรียนจากการเลือกตั้ง อบจ. และเทศบาลที่ผ่านมาว่าการเมืองท้องถิ่นไม่ใช้กระแส แต่ใช้ความเข้าถึงประชาชน เน้นความไว้เนื้อเชื่อใจ พาผู้สมัครนายก อบต. ไปให้คนเห็น จะเน้นแต่แกนนำไม่ได้ ขณะเดียวกันคณะฯ ก็ปรับยุทธศาสตร์ ผสมผู้สมัครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่อย่างละครึ่ง และถือเป็นสัดส่วนที่ลงตัว ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้ง อบต. เป็นสมรภูมิที่สนุก เพราะเล็กและได้คุยกันทีละบ้าน เอาอุดมการณ์ของเราไปบอกเขาถึงหน้าประตู ที่ผ่านมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ตกหล่นเรื่องของการสื่อสารกับชนบทเป็นอย่างมาก แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ได้แก้ไขจุดอ่อนนั้นโดยการเข้าไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุด ซึ่งคณธก้าวหน้าส่ง 210 เขต อ้างอิงจากสถิติการเลือกตั้งเทศบาล คาดว่าจะได้รับชัยชนะไม่ต่ำกว่า 21 อบต.

"พรรณิการ์" ปัดความขัดแย้ง พท.-กก. ไม่มีผลเลือกตั้งท้องถิ่น

เมื่อถามว่าท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับม็อบ และความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล ส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ พรรณิการ์ ตอบว่า ความผันผวนทางการเมืองภาพใหญ่แทบไม่มีผลต่อการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เลย ประชาชนในพื้นที่ต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะในชุมชนก็รู้จักตัวผู้สมัครกันอยู่แล้ว ไม่มีการถือป้ายไล่ หรือขับไล่ แม้ว่าการเมืองภาพใหญ่จะกระทบต่อการเลือกตั้ง อบต. น้อยมาก แต่ต้องคิดเสมอว่าคนในชนบทเขาไม่ได้โง่ การเมืองภาพใหญ่คือภาพใหญ่ แต่ นายก อบต. คือเลือกมาทำถนน เก็บขยะ ทำฝาย ซ่อมประปา ซ่อมไฟฟ้า ดังนั้นเหตุผลในการตัดสินใจคือทำได้จริงไหม นโยบายน่าสนใจไหม เขามองตัวผู้สมัครเป็นหลัก จากการเลือกตั้งท้องถิ่น 2 ครั้งที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่านโยบายแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของคณะก้าวหน้า มันสำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น นายกเทศมนตรีเราไปบริหารที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด น้ำขุ่นมา 20 ปี วันนี้ทำงาน ไปได้แค่ 90 วันทำให้ใสได้ แสดงว่าประเทศไทยที่เราหวังมันไม่เกินความคาดหวังเลย มันทำได้จริง แต่ผู้นำต้องไม่โกงและทำงานจริง

"การตั้งวงคุยกันในบ้าน เคาะประตูบ้านคุยกัน มันทำให้คนเข้าใจเรามากขึ้น คุณต้องอย่าดูถูกประชาชน ยิ่งห่างไกลเท่าไร เขายิ่งเข้าใจ ยิ่งเข้าไม่ถึงโครงสร้างของรัฐ เขาย่อมเข้าใจดีกว่ากลุ่มที่อยู่สบายในเมือง คนพวกนั้นเสี่ยงเป็นอิกนอร์" พรรณิการ์ กล่าว

พรรณิการ์มองว่า ตอนนี้เป็นการขยายเครือข่ายเพื่อพบและรับฟังประชาชนมากขึ้น ถือเป็นการเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลยังมีนโยบายจากบนลงล่าง นั่นคือ พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตัวเอง ที่รอคิวการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเนื้อหาให้ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง  ขณะเดียวกันย้ำว่ากฎหมายที่ให้อำนาจท้องถิ่นต้องเริ่มจากรัฐธรรมนูญ

อดีต ส.ส.เพื่อไทย ปูดผู้สมัครใช้เงินกว่า 10 ล้านบาทต่อ อบต.

นายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการหาเสียงเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ มีน้อยมากที่ผู้สมัครจะเน้นการสร้างสรรค์นโยบายและนำเสนอการทำงานออกมาให้ประชาชนในเขตรับทราบ แต่เน้นวิธีการเอาชนะจากการจัดตั้งเพื่อหาคะแนน ทุกคนพยายามวิ่งหาทุน เขตละ 2-10 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของ อบต. ดังนั้นสิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเมื่อผู้สมัครใช้เงินไปกับการเลือกตั้งเยอะ หลังชนะการเลือกตั้งก็ต้องเข้ามาหาผลประโยชน์เพื่อถอนทุนคืนและแสวงหาทุนใหม่เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งสาเหตุที่การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้น่าเป็นห่วง อาจเป็นเพราะว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนหาเงินลำบาก ใครมีเงินมากก็มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และเนื่องจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ หรือพรรคการเมือง วิธีการหาเสียงจึงเน้นการจัดตั้งที่ใช้ความสัมพันธ์ใกล้ชิด เกณฑ์ญาติพี่น้องกันมาลงคะแนน ซึ่งทำให้คนที่ที่เป็นที่รู้จัก คุ้นหน้าคุ้นตาในชุมชนมีโอกาสมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา เน้นรัฐราชการรวมศูนย์ ลดอำนาจและงบประมาณส่วนท้องถิ่น ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นเดิม หรือแชมป์เก่า ไม่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเดิมๆ ของคนในพื้นที่ได้ และหากดูจากสถิติของการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านมา แชมป์เก่าในจังหวัดร้อยเอ็ดชนะเพียงแค่ 10% ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะเดียวกันกับผลการเลือกตั้ง อบต. ที่จะถึงนี้

 

"คนที่เป็นโหวตเตอร์ เขาก็มีความรู้สึกว่า คนที่เป็นแชมป์เก่ามาลงสมัครต่อ แล้วถ้าเป็นมานาน ก็อยากเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าผลงานน้อยก็เนื่องจากท้องถิ่นโดยปรับลดงบประมาณ รัฐราชการทำให้การบริหารส่วนท้องถิ่นอ่อนแอ อย่างเทศบาล แชมป์เก่าหลุดมาได้แค่ 10% อบต. ก็ไม่น่าต่างกัน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเที่ยวนี้ใช้เงินรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แทนที่จะพัฒนาไปข้างหน้า การเมืองกลับถดถอย" เศกสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง อบต. จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. โดยเป็นการเลือกตั้งบัตร 2 ใบคือ เลือกนายก อบต. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งต้องสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามขั้นตอนการควบคุมโรค

 ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง อบต. "เปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นหรือถอยหลังลงคลอง?"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook