จำลองผลเลือกตั้ง หลังแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ ใครเกิดใครดับ

จำลองผลเลือกตั้ง หลังแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ ใครเกิดใครดับ

จำลองผลเลือกตั้ง หลังแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ ใครเกิดใครดับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกแก้ไขให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ย.) จากระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวแล้วนำไปคำนวณคะแนนแบบเขตและแบบปาร์ตี้ลิสต์ มาเป็นบัตร 2 ใบ แยกระบบออกจากกัน และเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต เพิ่มเป็น 400 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เหลือเพียง 100 คน

การแก้ไขดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานาว่าพรรคใหญ่จะมีเสียงมากขึ้น ทำให้เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ดีขึ้นด้วย

ดังนั้น sanook.com จึงใช้โอกาสนี้จำลองผลการเลือกตั้ง โดยใช้คะแนนเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 มาคำนวณ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกาพรรคเดียวกันทั้ง 2 ใบ และแบบแบ่งเขตใช้การเทียบบัญญัติไตรยางค์ จาก 350 เป็น 400 เขต

พรรค ส.ส.เขต
เพื่อไทย 156
พลังประชารัฐ 111
อนาคตใหม่ 34
ประชาธิปัตย์ 38
ภูมิใจไทย 45
เสรีรวมไทย 0
ชาติไทยพัฒนา 7
ประชาชาติ 7
เศรษฐกิจใหม่ 0
รวมพลังประชาชาติไทย 1
เพื่อชาติ 0
พลังท้องถิ่นไท 0
ชาติพัฒนา 1
รวม 400

 

ส่วนจำนวน ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์นั้น เมื่อนำไปคำนวณเพื่อหาสัดส่วนแล้ว จะได้ตัวเลขที่มีทศนิยมมาด้วย จุดนี้เองที่ทำให้มีความเห็นที่แตกต่างว่า จะปัดเศษเพื่อให้ครบ 100 คน ตามหลักการคณิตศาสตร์ง่ายๆ เลย หรือใช้วิธีการคำนวณคล้ายการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีพรรคเล็กได้เข้าสภาจำนวนมาก

หากใช้วิธีปัดเศษอย่างง่ายให้ครบ 100 คน ตัวเลขที่ออกมาจะไม่ครบ 100 คน ดังนั้นอาจต้องใช้วิธีที่ 2 และเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขพบว่าไม่มีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เอาไว้ วิธีนี้จึงมีโอกาสสูงทีเดียว

การคำนวณตามวิธีนี้คือ

  1. นำคะแนนดิบที่พรรคได้หารด้วยคะแนนรวมทั้งประเทศ แล้วคูณด้วย 100
  2. ตัวเลขที่ออกมาจะมีทศนิยมหลายตำแหน่ง ให้นำเฉพาะจำนวนเต็มของค่านั้นแยกออกมา เพื่อดูว่ามี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตามจำนวนเต็มแล้วกี่คน และยังขาดอีกกี่คน
  3. นำตัวเลขที่มีทศนิยมตั้ง แล้วนำจำนวนเต็มดังกล่าวลบ ก็จะได้เศษ
  4. นำเศษของแต่ละพรรคมาเรียงว่าใครมีเศษเยอะสุด แล้วแจก ส.ส. พรรคละ 1 คน ตามจำนวน ส.ส. ที่ยังขาด จนครบ 100 คน

พรรค ส.ส.เขต ปาร์ตี้ลิสต์ จัดสรรเพิ่ม รวม
เพื่อไทย 156 22   178
พลังประชารัฐ 111 23 1 135
ภูมิใจไทย 45 10 1 56
อนาคตใหม่ 34 17 1 52
ประชาธิปัตย์ 38 11   49
ชาติไทยพัฒนา 7 2   9
ประชาชาติ 7 1 1 9
เสรีรวมไทย 0 2 1 3
รวมพลังประชาชาติไทย 1 1   2
ชาติพัฒนา 1 0 1 2
เศรษฐกิจใหม่ 0 1 1 2
เพื่อชาติ 0 1   1
พลังท้องถิ่นไท 0 0 1 1
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 0 0 1 1
 รวม 400 91 9 500

 

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวิธีการเลือกตั้งแบบเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า พรรคที่มี ส.ส.เขต จะได้เปรียบ ขณะเดียวกัน พรรคที่ได้รับการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์เยอะ อย่างเช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันพรรคถูกยุบ ขณะนี้สามารถอ้างอิงได้ว่าคือ พรรคก้าวไกล) หรือแม้แต่พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคขนาดเล็ก จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

พรรค แบบใหม่ แบบเก่า เปลี่ยนแปลง (%)
เพื่อไทย 178 136 +23.60
พลังประชารัฐ 135 116 +14.07
ภูมิใจไทย 56 51 +8.93
อนาคตใหม่ 52 81 -55.77
ประชาธิปัตย์ 49 53 -8.16
ชาติไทยพัฒนา 9 10 -11.11
ประชาชาติ 9 7 +22.22
เสรีรวมไทย 3 10 -233.33
รวมพลังประชาชาติไทย 2 5 -150.00
ชาติพัฒนา 2 3 -50.00
เศรษฐกิจใหม่ 2 6 -200.00
เพื่อชาติ 1 5 -400.00
พลังท้องถิ่นไท 1 3 -200.00
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 2 -100.00

 

หากยังไม่มีการจับขั้วทางการเมืองกันใหม่ แม้พรรคเพื่อไทยได้เสียงเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ก็ไม่ทำให้พรรคฝ่ายค้านมีเสียงเกินครึ่งหนึ่ง เพราะรวมแล้วจะมี ส.ส. เพียง 243 คน ไม่รวมพรรคเศรษฐกิจใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook