คลังชง ครม.ขยายเพดานหนี้ มาตรา 28 เป็น 35% เตรียมกู้เงินเพิ่ม 1.55 แสนล้าน

คลังชง ครม.ขยายเพดานหนี้ มาตรา 28 เป็น 35% เตรียมกู้เงินเพิ่ม 1.55 แสนล้าน

คลังชง ครม.ขยายเพดานหนี้ มาตรา 28 เป็น 35% เตรียมกู้เงินเพิ่ม 1.55 แสนล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติขยายเพดานหนี้ภาครัฐ ตามมาตรา 28 จากไม่เกิน 30% เป็น 35% เพื่อให้สามารถกู้เงินเพิ่มได้อีก 1.55 แสนล้านบาท รองรับการจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกร

วันนี้ (24 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในที่ประชุมว่า รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง และมีวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการดูแลการใช้จ่าย หากใช้จ่ายเงินจำนวนมากจะมีปัญหาและเป็นภาระด้านงบประมาณในภายหลัง

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงภายหลังการประชุมว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องการหาเงินมาจ่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวของรัฐบาล ภายหลังจากที่มีการอนุมัติจ่ายเงินงวดแรกไปแล้วประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และคงเหลือวงเงินที่ต้องจ่ายตามโครงการอีกประมาณ 8 - 9 หมื่นล้านบาท

ซึ่งในการดำเนินการจ่ายเงินให้กับชาวนา ต้องมีการขยายเพดานหนี้ในมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ในส่วนการก่อหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนงบประมาณจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 30% เป็น 35% เป็นเวลาชั่วคราว 1 ปี

ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานการกู้เงินจากธนาคารรัฐเพื่อใช้ในนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจากเดิมไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่าย เป็นไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลกู้เงินได้อีกประมาณ 155,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการจ่ายเงินประกันรายได้ชาวนา ซึ่งจะมีการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า รวมทั้งได้เตรียมแนวทางการขอใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2565 ในการสนับสนุนโครงการบางส่วนด้วย

อย่างไรก็ตาม จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้การแก้ไขเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีผลอย่างเป็นทางการ และในสัปดาห์หน้า คณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณาอนุมัติวงเงินเพื่อใช้ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในส่วนที่เหลือ และคาดว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับเงินภายในเดือน ธ.ค.นี้

"นายกฯ มีความเป็นห่วงว่าการได้เงินของชาวนาจะขาดช่วง จึงเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะวงเงินตามมาตรา 28 เหลือแค่ประมาณ 5,300 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อมีการขยายสัดส่วนวงเงินแล้ว การอนุมัติจะไม่ช้า และเกษตรกรจะได้เงินภายในเดือน ธ.ค.นี้" นายอาคม ระบุ

จากการตรวจสอบข่อมูลพบว่า ณ ปัจจุบัน รัฐบาลมีการกู้เงินจนเกือบจะชนเพดานตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 30% ของงบประมาณประจำปี โดยในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท หรือกู้เงินได้เต็มที่ประมาณ 9.3 แสนล้านบาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ก็เพิ่งจะมีมติเห็นชอบให้มีการขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็น ต้องไม่เกินร้อยละ 70

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 12.38 น. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า

"พี่น้องประชาชนที่รักครับ

ผมมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรทุกคน ที่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการแพร่ระบาดโควิดและน้ำท่วม-น้ำแล้ง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหางบประมาณมาให้พี่น้องเกษตรกร ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการข้าวเพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตข้าว โครงการประกันรายได้ยางพารา โครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

ซึ่งวันนี้ผมขอแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรเงินให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้เพิ่มเติมอีก 155,000 ล้านบาท

โดยจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันอังคารหน้า (30 พ.ย. 64) จากนั้นก็จะมีการเบิกจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึงบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรง สำหรับรายละเอียดขอให้ติดตามข่าวสารจากทางภาครัฐอีกครั้งครับ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook