ภูมิใจไทยเลือก ชวรัตน์
พรรคภูมิใจไทยประชุมใหญ่เลือก ชวรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค พรทิวา เลขา ธิการพรรค พร้อมคณะกรรมการชุดเดิมกลับเข้ามาทำงาน เพิ่มนโยบายปกป้องสถาบันชัดเจนยิ่งขึ้น
นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงผลการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2552 ว่าการประชุมดังกล่าวมีขึ้นตามกฎหมายกำหนด หลังมีสมาชิกพรรคเกิน 5,000 คน และมีการตั้งสาขาพรรคครบ 4 ภาค เป็นผลให้นายชวรัตน์ ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรคต้องลาออก พร้อมกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ที่ประชุมจึงได้เลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยผลการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีจำนวน 14 คน มีตำแหน่งสำคัญ อาทิ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2 นางพรทิวา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค และ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ เป็นรองเลขาธิการพรรค ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นโฆษกพรรค และนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ เป็นเหรัญญิกพรรค
นายศุภชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค นำโดยนางพรทิวา คณะกรรมการนโยบายพรรค นำโดยนายโสภณ ซารัมย์ คณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยของพรรค นำโดยนายศุภชัย โพธิ์สุ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ พรรคจะแจ้งเรื่องไปให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับรองต่อไป
นายศุภชัย กล่าวว่า ในส่วนนโยบายของพรรคที่ทบทวนใหม่มีหลายเรื่อง เช่น การปกป้องสถาบันซึ่งมีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถนนปลอดฝุ่น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ส่วนหนึ่งมาจากการสะท้อนฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงการลงพื้นที่สัมมนา จังหวัดสกลนครและมาจากนโยบายรัฐบาลที่พรรคภูมิใจไทยจะนำมาสานต่อเพื่อให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายพรรคภูมิใจไทยมี 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย 1.นโยบายการเมืองการปกครอง 2.นโยบายเศรษฐกิจ และ 3.นโยบายด้านสังคม โดยนโยบายด้านการเมืองการปกครอง เน้นการปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นสถาบันหลักของชาติ โดยจะป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง ไม่ให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ เสริมสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนไทยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และให้ดำเนินการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ จะต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยใช้สันติวิธี ด้านความมั่นคงก็จะส่งเสริมบทบาทองค์กรด้านความมั่นคงปฏิบัติภารกิจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และคุ้มครองประโยชน์ชาติ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะให้มีการจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย ให้สอดคล้องสภาพ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างจริงจัง ขณะที่ด้านต่างประเทศ จะเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันติมีความเสมอภาค เน้นการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจาโดยสันติวิธี
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจ จะพัฒนาโดยส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการบริการโทรคมนาคมอย่างเสรีและเป็นธรรม ด้านขนส่งจะจัดสร้างรถไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ ระบบขนส่งทางน้ำจะพัฒนาให้เชื่อมโยงระบบขนส่งอื่น ด้านการเกษตรจะสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร นำเทคโนโลยีทันสมัยและเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างระบบเกษตรกรรม ส่วนการทองเที่ยวจะเน้นเชิงเกษตร เชิงอนุรักษ์ และนำประเพณี ความสวยงามของประเทศเผยแพร่คนทั่วโลก ด้านการลงทุนจะจัดหาแหล่งทุนขนาดย่อมเพื่อลดปัญหาเงินกู้นอกระบบ
นโยบายด้านสังคมเน้นพัฒนาการศึกษา ส่งเยาวชนรักษาธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของไทย ส่วนด้านสาธารณสุข สนับสนุนการรักษาฟรีและเข้ารักษาได้ทั้งใน รพ.รัฐ และเอกชนที่ร่วมโครงการ สำหรับสิ่งแวดล้อม จะแก้ไขปัญหาพร้อมส่งเสริมการลงทุน ด้วยการส่งเสริมให้ความสำคัญนโยบายโฉนดคาร์บอนเครดิต รวมทั้งสนับสนุนชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา เน้นใช้พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก