เผยเสื้อแดงป่วยหวัด2009 ตาย1หลังชุมนุมเขาใหญ่
รองผู้ว่ากทม. เผย4,880คนป่วยหวัด2009 เสียชีวิตล่าสุดรายที่25 คนเสื้อแดงหลังกลับชุมนุมเขาใหญ่ เตรียมทีมแพทย์-อสม.1หมื่นคัดกรองช่วงก่อน5ธ.ค.
ที่ศูนย์การค้าเจ เจมอลล์ พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวก่อนเป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมสถานศึกษารับมือการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอก 2 ว่า จากสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมากลุ่มนักเรียนยังถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น กทม.จึงเตรียมมาตรการรับมือ เบื้องต้นจะเข้มงวด เรื่องมาตรการคัดกรองโรคในสถานศึกษา โดยครู และนักเรียนที่ได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันหวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 จะเป็นผู้ที่คัดกรองนักเรียนที่มีอาการป่วย เมื่อพบก็จะดำเนินการป้องกันโดยทันที เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ จาม เป็นต้น
ส่วนการรับมือด้านอื่นๆ ขณะนี้หน่วยงานแพทย์ของ กทม.อยู่ระหว่างการประเมินว่าจะฟื้นศูนย์ฟาสแทร็ค หรือ วัน สต็อป เซอร์วิส เพื่อคัดกรองโรคเมื่อใด ส่วนจำนวนผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ กทม.ขณะนี้พบว่ามีจำนวน 4,880 ราย และมียอดผู้เสียชีวิต 24 ราย อย่างไรก็ตามจากรายงานขณะนี้พบว่า มีประชาชนที่เสียชีวิตแล้วเป็นรายที่ 25 โดยเป็นประชาชนที่เข้าร่วมการชุนนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา และเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลอยุธยา แต่แพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จึงเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว กทม.เตรียมส่งทีมแพทย์ และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข และมิสเตอร์2009 ประมาณ10,000 คน เข้าคัดกรองผู้ป่วยช่วงเทศกาลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ด้วย โดยจะคุมเข้มทุกตารางเมตรหากพบผู้ที่ไอ จาม จะแจกหน้ากากอนามัยเพื่อให้ป้องกันการแพร่เชื้อทันที ซึ่ง กทม. เตรียมหน้ากากอนามัยไว้ทั้งหมด 1 ล้านชิ้น
พญ.มาลินี กล่าวด้วยว่า ส่วนการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ กทม.ก็จะส่งทีมแพทย์เข้าตัดกรองโรคด้วยเช่นกัน แต่คงต้องให้อยู่บริเวณรอบนอก เพราะเกรงว่าหากเข้าไปปะปนจะเกิดอันตรายได้
นอกจากนั้น รองผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงมาตรการรับมือการระบาดของไข้หวัด 2009 ระหว่างการกล่าวเปิดประชุมรับมือ โดยมีตัวแทนจากสถานศึกษาในพื้นที่ กทม. จำนวน 2,500 คน ด้วยว่า กทม. ได้เตรียม 5 มาตรการเพื่อรับมือ ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรคพร้อมคัดกรองผู้ป่วย 2. ประชาสัมพันธ์ พร้อมติดตามสถานการณ์ 3. ป้องกัน พร้อมคุมเข้าการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในสถานศึกษา และต้องรณรงค์ให้นักเรียนรู้จักป้องกันโดยล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง เมื่อมีอาการไอจาม ให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือรีบไปพบแพทย์ 4. ติดตามกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้มีการเสียชีวิตเพิ่มเติม
และ 5.ต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กทม.ร่วมบริหารจัดการ แก้ไข ป้องกัน สำหรับมาตรการ 4x4x4x4 ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ กทม. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นแล้ว ส่วนการระบาดระลอก2 นั้น ต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กนักเรียน จากรายงานพบว่าเด็กใน กทม. จำนวน 2,665 คน หรือ ร้อยละ 54.66 ป่วยด้วยไข้หวัด