รัฐบาลเขมรกร้าว! สั่งยึดกิจการ แคตส์ ห้าม พนง.ไทยเข้า

รัฐบาลเขมรกร้าว! สั่งยึดกิจการ แคตส์ ห้าม พนง.ไทยเข้า

รัฐบาลเขมรกร้าว! สั่งยึดกิจการ แคตส์ ห้าม พนง.ไทยเข้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลกัมพูชา สั่งยึดกิจการ "แคตส์" ห้ามคนไทยเข้าไปในเขตบริษัท อ้างเพื่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน และยังไม่ได้พิจารณาว่าจะยึดกิจการไว้นานแค่ไหน ขณะที่ "ทวี สอดส่อง" เตรียมเดินทางไปกัมพูชา พร้อมแม่ของวิศวกร เพื่อเข้าเยี่ยม "ศิวรักษ์" วันจันทร์นี้ ในฐานะที่เป็นคนไทยถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ และตามหลักสิทธิมนุษยชน คาดจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากกัมพูชา ส่วน "อภิสิทธิ์" ชี้ท่าทีกัมพูชาเริ่มดีขึ้น ระบุภาพรวมสายสัมพันธ์ของทั้งสองชาติยังนิ่ง ด้าน "สุเทพ" ลั่นปัญหาไทย-กัมพูชา จบได้แน่ ถ้า "ทักษิณ" มีสำนึกลาออกจากที่ปรึกษาฮุนเซน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 20 พ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีของ นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย ที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมว่า จากการพูดคุยกับ นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา นายกษิต บอกว่ากำลังดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดในการพามารดาของนายศิวรักษ์เข้าเยี่ยมนาย ศิวรักษ์ สำหรับท่าทีของกัมพูชาโดยรวมก็ดีขึ้นในเรื่องนี้

"อภิสิทธิ์"ชี้สองฝ่ายพร้อมคุย

เมื่อถามถึงการที่ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ของ กัมพูชา ปฏิเสธต่อกรณีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อ้างว่ามีเทปลับระหว่างนายกษิตกับเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกมากถ้านายจตุพรอ้างข้อมูลที่บอกว่าเป็นข้อมูลสำคัญของฝ่ายกัมพูชา ก็น่าคิดว่าถ้าเป็นอย่างนั้นมันเป็นบทบาทของใคร เป็นอย่างไร มันดูจะลุกลามไปมาก

ต่อข้อถามว่าสถานการณ์ระหว่าง 2 ประเทศอยู่ในระดับใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามี 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะ เช่น กรณีของนายศิวรักษ์ และกรณีของบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเรากำลังเร่งคลี่คลายอยู่ แต่ภาพรวมของความสัมพันธ์ ตนคิดว่ายังอยู่ในจุดที่นิ่งอยู่ ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชาในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และพล.อ.เตีย บันห์ เป็นประธานร่วมกัน โดยขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมีความพร้อมที่จะพบปะพูดคุยกัน ซึ่งเราจำกัดวงว่าสิ่งใดที่เห็นไม่ตรงกัน และเป็นปัญหากันอยู่ ได้ถูกขีดวงไว้แล้ว

ต้องแยกแยะ"ทักษิณ-ศิวรักษ์"

อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คิดว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ต้องแยกแยะระหว่างเรื่องการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา กับกรณีของนายศิวรักษ์ที่เป็นเรื่องการรักษาสิทธิของคนไทยและการช่วยเหลือ เรื่องของกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการส่งเอกอัครราชทูตไทยกลับไปประจำที่กัมพูชาเมื่อใด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันโยงกับปัญหาพื้นฐานแรก ที่เริ่มต้นเป็นตัวปัญหาขึ้นมา คือ การแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษา เรื่องข้อตกลงที่มีผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งเกิดจากการตั้งที่ปรึกษา และเกิดการเข้ามาก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมและการเมืองของไทย ซึ่งทางกัมพูชาต้องไปทบทวนตรงนั้นแล้วแก้ไข ซึ่งถ้าจะให้กลับไปสู่ความเป็นปกติ ก็ถอยกลับไปเหมือนก่อนที่จะเกิดเรื่องการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ตนยังเชื่อมั่นว่าในที่สุดทั้ง 2 ประเทศต้องกลับมาสู่ภาวะปกติ แล้วต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเท่านั้น

"สุเทพ"ชี้วิธีคิดโหดร้ายเกิน

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชาให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ว่า ทั้งหมดเป็นแผนการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบริวาร ถ้าคนกลุ่มนี้ได้เล็งเห็น หรือสำนึกว่าการที่จะต่อสู้ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทรัพย์สินคืนมาโดยไม่ต้องติดคุก แล้วไปสร้างสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหวังจะมากดดันรัฐบาลนั้นเป็นผลเสียทั้งในปัจจุบันและใน ระยะยาว ทำให้วุ่นวายยุ่งเหยิงกันไปหมด และการเลยเถิดไปจนเอาชีวิต อิสรภาพของคนไทยมาเป็นเดิมพันนั้น มันโหดร้ายเกินไป และยังเลยเถิดไปถึงการเอาธุรกิจการลงทุนของคนไทยในประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเครื่องต่อรอง นี่ก็หนัก

ปัญหาจบถ้า"ทักษิณ"ลาออก

นายสุเทพ กล่าวว่า คิดว่าวิธีการแก้ไขที่ง่ายและดีที่สุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และประกาศว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้แล้ว เมื่อรัฐบาลกัมพูชาได้ตระหนักว่า เมื่อหุ้นส่วนถอนตัวก็ไม่มีความคุ้มค่าอะไรที่จะมามีปัญหากับประเทศไทย เราก็จะมีโอกาสฟื้นฟูความสัมพันธ์กัน ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก หรือทางกัมพูชาเขาเปลี่ยนไม่ให้เป็นที่ปรึกษา และไม่ให้เดินทางเข้า-ออก เพื่อไปตั้งหลักในกัมพูชาปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศก็จะเบาลง เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือ ไม่ว่ารัฐบาลจะถูกวิจารณ์ว่าหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องไปขอร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก นายสุเทพ กล่าวปฏิเสธว่า ตนไม่ได้ขอร้อง

เตรียมใช้เขมรเคลื่อนไหว

นายสุเทพ กล่าวว่า ตนก็เตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ว่ามีช่องทางใดที่จะพูดจาให้ทางกัมพูชาเข้าใจได้ เพื่อลดดีกรีความ รู้สึกอึดอัดกันอยู่ เพื่อมาค่อย ๆ แก้ไขผ่อนคลาย มันก็จะเรียบร้อย อย่างไรก็ตามตนคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เองพยายามหาทางที่จะ หาเหตุผลที่จะเดินทางเข้าไปอยู่ในกัมพูชาเป็นช่วง ๆ และหวังจะใช้กัมพูชาเป็นฐานที่มั่นในการดำเนินงานทางการเมือง เพราะอยู่ใกล้กว่าดูไบ ลูกสมุนและบริวารไปมาหาสู่ได้รวดเร็ว เรื่องการสนับสนุนด้านการเงินก็ทำได้คล่อง แต่มันทำให้เสียหาย เพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันดีอยู่ต้องพลอยมีปัญหาไปด้วย จนกระทบธุรกิจของนักลงทุนที่ดำเนินการโดยสุจริต ซึ่งสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำเนินการอยู่นี้ก็เกือบจะชัดเจนอยู่แล้วว่าจะใช้กัมพูชาเคลื่อนไหวทางการเมือง

เชื่อไม่มีการดักฟังโทรศัพท์

เมื่อถามว่ารัฐบาลยังมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาเองหรือไม่ นอกเหนือจากชี้เป้าโยนไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุเทพ กล่าวว่า มี แต่ต้องให้เวลากันนิดหน่อย เมื่อถามว่า มีอดีตนายทหารออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาลอ่อนหัด นายสุเทพ กล่าวว่า เราก็จะพยายามดำเนินการให้รอบคอบ ต้องขอขอบคุณที่เตือน ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุด พล.ต.เตีย บันห์ รมว. กลาโหมกัมพูชา ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการดักฟังเสียง นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ สนทนากับเลขานุการเอก เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา นายสุเทพ กล่าวว่า ตนเชื่อ พล.อ.เตีย บันห์ และขอขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่ไม่ดักฟังโทรศัพท์ หรือการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ไทย และสถานทูตไทย เพราะถ้าทำอย่างนั้นกัมพูชาเองก็จะเสียหาย ทุกประเทศจะระแวงกันหมด เป็นการผิดกติกามารยาททางการทูตระหว่างประเทศ แต่ตนเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทย บริวาร พ.ต.ท.ทักษิณ พวกคนเสื้อแดง เขาคุ้นเคยกับวิธีการดักฟังโทรศัพท์ที่ทำอยู่ในประเทศไทย ตนก็โดนเป็นประจำ คนดี ๆ คนอื่นเขาไม่ทำกัน มีแต่พวกนี้ที่ชอบแส่ อยากรู้ว่าคนเขาคุยอะไรกัน

"ทวี"ไปเยี่ยมวิศวกรวันจันทร์

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเพื่อเข้าเยี่ยม นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ที่เรือนจำเพซอว่า เช้าวันที่ 23 พ.ย.นี้ ตนพร้อมด้วย นางสุวณา สุวรรณ จูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะเดินทางไปที่ประเทศกัมพูชา เพื่อขอ เข้าเยี่ยม นายศิวรักษ์ ในฐานะที่เป็นชาวไทย ซึ่งถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ โดยยืนยันว่าจะเข้าไปดูแลในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งตนจะประสานไปยังครอบครัวของ นายศิวรักษ์ให้ร่วมคณะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาด้วย และเชื่อว่าการขอเข้าเยี่ยม นายศิวรักษ์ซึ่งกระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือผ่านไปยังกระทรวงการต่างประเทศ จะได้รับการตอบสนองที่ดีจากทางการกัมพูชา เพราะเป็นการขอเข้าเยี่ยมตามหลักกฎหมาย ทั้งนี้หากภารกิจไม่เสร็จสิ้นภายใน 1 วัน ตนและคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม อาจต้องพักอยู่ที่ประเทศกัมพูชาจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน

คาดสัปดาห์หน้าได้ประกัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 17.00 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือ นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ว่า ล่าสุดทางสถานทูตไทยได้ประสานทนายท้องถิ่นให้กับนายศิวรักษ์ ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถยื่นขอประกันตัวได้ โดยตามกฎหมายของกัมพูชา จะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 10 วัน ว่าจะให้ยื่นประกันได้หรือไม่ ในส่วนของรัฐบาลได้รอการประสานยืนยัน เพื่อเตรียมพาครอบครัวของ นายศิวรักษ์เดินทางไปพบภายใน 2-3 วัน ซึ่งที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและกัมพูชา ได้พูดคุยและมีแนวโน้มในทางที่ดี สำหรับบริษัท CATS นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาในข้อกฎหมาย เพื่อเตรียมยื่นคำร้องกับทางกัมพูชา โดยขั้นตอนจะทำควบคู่ไปกับ การขอยื่นประกันตัวนายศิวรักษ์ ทั้งนี้คิดว่าคงจะได้ผลที่ดี เนื่องจากผู้นำกัมพูชาและผู้บริหารบริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

เผยวิทยุเขมรจี้ห้ามปล่อยตัว

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย คนใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธาน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือนายศิวรักษ์ ว่า ตนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดละเลิกการนำประเด็นการเมืองมาเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ แต่ควรที่จะมาร่วมกันดำเนินการช่วยเหลือคนไทยให้ได้กลับประเทศให้เร็วที่สุด ส่วนที่แม่ของวิศวกรไทยมาหาตนนั้น มาในฐานะคนนครพนม ด้วยกัน ตามหัวอกคนเป็นแม่ย่อมที่จะห่วงลูกเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพวกตนไม่มีความคิดที่จะเอาประโยชน์จากคนตกทุกข์ได้ยาก ตามที่มีการกล่าวหากัน แต่ต้องการช่วยคนไทยและบ้านเมืองให้ผ่านพ้นปัญหานี้

เมื่อถามว่า พล.อ.ชวลิต รู้สึกอย่างไรกับกรณีนี้ นายชวลิต กล่าวว่า พล.อ. ชวลิต ไม่สบายใจ ซึ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ใคร ๆ ก็ทราบดีว่าท่านมีความสนิทสนมกับผู้ใหญ่ทางกัมพูชามานานหลายสิบปีแล้ว พล.อ. ชวลิต จึงไม่มีความคิดที่จะไปแย่งซีน เพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมือง มีแต่จะช่วย คนไทยเท่านั้น เพราะหากรัฐบาลยังคงนำ ประเด็นวิศวกรไทยมาเป็นเรื่องของการเมืองเท่าใด ก็จะเป็นผลเสียกับวิศวกรไทยมากเท่านั้น เพราะขณะนี้ตนทราบมาว่า วิทยุของกัมพูชาเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาอย่าปล่อยตัววิศวกรไทยแล้ว

"จตุพร"ยังยืนยันมีเทปลับจริง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์กัมพูชา รายงานว่าแหล่งข่าวระดับสูงของกัมพูชายืนยันว่า ทางการกัมพูชาไม่มีเทปบันทึกเสียงการสนทนาใด ๆ ว่า เป็นการตอบด้วยมารยาททางการทูต เพราะทางปฏิบัติ ถามว่าถ้าทางการกัมพูชาไม่ได้หลักฐานชัดเจน เขาจะไปจับกุม นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยได้อย่างไร รัฐบาลไทยรู้ตัวดีว่า เมื่อตนเองเพลี่ยงพล้ำ จึงชะลอการยกเลิกเอ็มโอยูเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอย่างชัดเจน ซึ่งวันนี้นายกษิต เสียงเปลี่ยนแล้วโดยอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ทั้งที่เป็นรัฐบาลมีเสียงข้างมาก ในสภา และการยกเลิกเอ็มโอยูหากไม่ทันสามารถเปิดสมัยวิสามัญได้

นายจตุพร ยังคงยืนยันด้วยว่า เทปลับบันทึกการสนทนาสั่งการให้จัดหาตารางบิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นมีอยู่จริง โดยได้กล่าวย้ำว่า ถ้าไม่มีเขาจะไปดำเนินคดีได้อย่างไร และไม่มีทางที่กัมพูชาจะมีแค่กระดาษแฟกซ์แผ่นเดียว เพราะบริษัทสามารถก็เป็นของคนไทย หากจะเอาแฟกซ์ก็ต้องไปเอาจากสถานทูตไทย ถ้าอย่างนั้นส่งอีเมล ไม่ดีกว่าหรือ ที่เขาจับได้เพราะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่สำคัญเนื่องจากดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วยังมีนายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วย เนื่องจากมีหลายภารกิจที่ต้องอยู่ร่วมกัน

เลิกเอ็มโอยูต้องดูข้อดี-เสีย

ที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนไทยกัมพูชาว่า ในระดับทหารด้วยกันกองทัพเรือที่ดูแลด้านจันทบุรีและตราดยังเรียบร้อยดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งเราพูดคุยกันตลอดคิดว่าไม่มีการเพิ่มเติมกำลังทั้งสิ้น ส่วนการดำเนินการลาดตระเวนร่วมกันคงเหมือนเดิมตามปกติ ขอให้สบายใจได้ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ การเป็นทหารที่มีคุณภาพไม่ใช่ว่าจำเป็นต้องรบชนะ บางทีการที่ไม่ต้องรบแต่เราสามารถ ชนะได้ คือ ชนะใจเขาได้ คิดว่าเป็นวิธีการ รบที่ดีที่สุด ขณะนี้กองทัพเรือทางชายทะเลของกัมพูชาไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นปกติ เมื่อถามว่า หากยกเลิกเอ็มโอยูจะส่งผลกระทบต่อกองทัพเรือที่ดูแลตามพื้นที่ทางทะเลหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า "คิดว่ากระทรวงการต่างประเทศและผู้เกี่ยวข้องในคณะกรรมาธิการพิจารณาที่มีอยู่ 3 คณะ มีความเป็นมืออาชีพทั้งนั้น เชื่อว่าเขานึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และคิดว่าอะไรเป็นข้อดีข้อเสียของประเทศมากกว่า แต่หากมีนโยบายอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามกรอบนโยบาย"

วอร์รูม ปชป.วิเคราะห์เรื่องนี้

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานปฏิบัติการเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมือง (วอร์รูม) พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลมีความคืบหน้าในการใช้มาตรการทางการทูตในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา แต่กังวลว่าจะมีอุปสรรค 3 อย่าง คือ 1.การแสดงความ เห็นของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะคำพูดของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า วิศวกรคนไทยควรโดนจับ เพราะมีความผิดมากกว่าการจารกรรมข้อมูล ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการดึงให้มีการแทรกแซงภายใน อาจกระทบต่อการต่อสู้คดีได้ 2.การที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ระบุว่ามีคลิปเสียงการสั่งการของ นายกษิต ภิรมย์ กับเลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา ซึ่งถือว่าจงใจเพิ่มปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะกัมพูชาได้ยืนยันแล้วว่า ไม่มีการบันทึกเทปเสียงดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้วิเคราะห์ว่า การออกมาพูดของนายจตุพร อาจจะไม่มีการบันทึกเทปในกัมพูชา แต่อาจมีการบันทึกเทปโดยเครือข่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ มีการมอบให้รัฐบาลกัมพูชา ซึ่งนายจตุพร บอกเองว่า เรื่องนี้ถึงฝ่ายกัมพูชาแล้ว ดังนั้นพฤติกรรมของนายจตุพร เป็นการทำตัวเยี่ยงสายลับ ส่งข้อมูลให้กัมพูชา จึงไม่ทราบว่าอยู่ฝ่ายไหนกันแน่

นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า 3.การเคลื่อนไหวของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในการพยายามช่วยเหลือวิศวกรคนไทย บวกกับการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผ่านทางนิตยสารไทม์สออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งในอุปสรรคของรัฐบาล ซึ่งพรรคมองว่า ไม่ ว่าจะมีการสมรู้ร่วมคิดกันหรือไม่ แต่รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาให้ลุล่วง ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้บุคคลทั้ง 2 หยุดทำร้ายประเทศไทย ถ้าเปรียบก็เหมือนกับผู้ร้ายลอบวางเพลิงบ้านตัวเอง รอไฟไหม้ ก็ปลอมเป็นพระเอกเข้าไปช่วยเหลือ เป็นการจัดฉากบนสิ่งที่ตัวเองทำไว้ ส่วนการเตรียมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พรรควิเคราะห์ว่า มีจุดประสงค์ 2 อย่าง คือทำลายความมั่นคงของไทย และ ทำลายเศรษฐกิจของไทย

"ทรงกิตติ" ชี้แจงทูตทหาร

พ.อ.สิทธิชัย มากกุญชร โฆษกกองทัพไทย แถลงภายหลังผู้ช่วยทูตทหาร ต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย 17 ประเทศ เข้าพบกับ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า เป็นการพบปะตามวงรอบ ไม่มีอะไรพิเศษ แต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศได้รับทราบถึงสถานการณ์ ในปัจจุบัน เกี่ยวกับกรณีที่ไทย-กัมพูชาลดความสัมพันธ์ทางการทูตลงว่า เป็นสถาน การณ์ทางการเมืองที่ต้องแก้ไขด้วยกลไกทางการเมือง โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพยังรัก สามัคคีแน่นแฟ้นกันอยู่ โดยเห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องใช้แนวทางสันติวิธี รวมทั้งได้ฝากให้ผู้ช่วยทูตทหารเหล่านี้ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจ ตามที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ชี้แจงในวันนี้ให้แต่ละประเทศเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

เตรียมใช้กองทัพลดขัดแย้ง

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในวันที่ 26-27 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) วิสามัญ ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย และกัมพูชา ซึ่งครั้งนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมจะมีการหารือถึงสถานการณ์ ความมั่นคงตามแนวชายแดน ความร่วมมือทางด้านทหาร ซึ่งในการเตรียมการประชุม ดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว. กลาโหม ได้ มอบหมายให้ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เตรียมการ และประสานงานการประชุมกับฝ่ายกัมพูชา

วันเดียวกัน พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 1 พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.กองกำลังบูรพา พร้อมคณะเดินทาง โดยเฮลิปคอปเตอร์ บินตรวจสถานการณ์ตามแนวชายแดนและเยี่ยมกำลังพลตั้งแต่บ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ จนถึง จ.สระ แก้ว ต่อมาได้เดินทางไปยังกลางสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา เพื่อพบปะพูดคุยกับ พล.อ.ซก เพียบ รองเสนาธิการทหารสูงสุดและคณะ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันว่า จะหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งอย่างถึงที่สุด ส่วนข้อพิพาทระหว่างประเทศนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งกำลังหาข้อยุติด้วยความละมุนละม่อม.

เขมรสั่งยึดกิจการ "แคตส์"

สำนักข่าวเอพี รายงานจากกรุงพนม เปญ วันเดียวกันว่า รัฐบาลกัมพูชายืนยันเมื่อวันศุกร์ว่า รัฐบาลได้ยึดครองกิจการของ บริษัท แคมโบเดีย ทราฟฟิก แอร์ เซอร์วิส หรือ แคตส์ ของไทยในกัมพูชา เป็นการชั่วคราว หลังการจับกุมพนักงาน บริษัทชาวไทยในข้อหาจารกรรม โดย นายเตเรธ แซมราช รัฐมนตรีช่วยประจำสภาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา เผยว่า การยึดครองซึ่งมีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน ขณะเดียวกันได้มีคำสั่งห้ามพนักงานของบริษัท ที่เป็นคนไทยอีก 9 คน เข้าไปในเขตของบริษัท อย่างไรก็ตาม กัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา จะยึดบริษัทไว้นานแค่ไหน หรือจะยกเลิกสัมปทานการควบคุมการบินของบริษัทสามารถของ ไทยหรือไม่

"ป๋าเปรม"เรียกแม่ทัพเข้าพบ

วันเดียวกัน ที่บ้านแม่ทัพ (บ้านไร้กังวล) ปากซอยสืบศิริ 32 หน้ากองบัญชา การช่วยรบที่ 2 กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเดินทางจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ กทม. ด้วยรถโฟล์คตู้สีบรอนซ์ทอง หมายเลขทะเบียน ฮค 3295 กรุงเทพมหานคร มายังบ้านพักที่ จ.นครราชสีมา โดยมีพล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ มทภ.2 พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพน้อยที่ 2 พล.ต.คมสันต์ มานวกุล รองแม่ทัพภาคที่ 2 นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผวจ.นครราชสีมา พล.ต.ต.เดชาวัต รามสมภพ รักษาราชการแทน ผบช.ภ.3 พร้อมด้วยคณะนายทหารระดับสูงและนายตำรวจระดับสูง ตลอดจนบรรดาเสนาธิการกองทัพ รวมทั้งตำรวจระดับ รอง ผบก. และ ผกก. ตั้งแถวรอต้อนรับกว่า 50 นาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่พล.อ.เปรม กล่าวทักทายคณะนายทหารที่ตั้งแถวต้อนรับ พล.อ.เปรม ได้ยืนพูดคุยกับ พล.ท.วีร์วลิต และ พล.ต.ต.เดชาวัต นานกว่า 30 นาที จากนั้นเดินเข้าบ้านพัก พร้อมกับเรียก พล.ท.วีร์ วลิต พล.ต.ต.เดชาวัต เข้าหารือประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งการเข้าพบครั้งนี้เป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยเฉพาะตัว มทภ.2 ถูกเรียกพบ 3-4 รอบ จากนั้นมีกำหนดการที่จะไปออกรอบ ตีกอล์ฟ แต่ก็ได้ยกเลิก และต้องการรับ ประทานอาหารภายในบ้านพักในช่วงค่ำเท่านั้น

ภายหลังการหารือ พล.ท.วีร์วลิต โบกมือปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยตอบเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่มีอะไร ขณะที่ พล.ต.ต. เดชาวัต กล่าวว่า เรื่องที่ พล.อ.เปรม ท่านกำชับมายังแม่ทัพภาคที่ 2 คงต้องถามท่านแม่ทัพเอาเอง นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ไม่ได้สั่งหรือกำชับอะไรมายังตน โดยเฉพาะเรื่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่พล.อ.เปรม เดินทางมาวันนี้ คงเป็นเรื่องของการมาพักผ่อนปรกติมากกว่าไม่มีอะไร ส่วนที่มีข่าวออกมาว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ บอกว่าจะมาอยู่แถวชายแดนภาคอีสานนั้น ในส่วนของพื้นที่อีสานตอนล่างเราคงไม่ต้องรับมืออะไรมาก แต่เราเตรียมการเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเท่านั้นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook