วิจารณ์ยับ "ดอน" นำการทูตไทยไร้หางเสือ จะพาประเทศตกที่นั่งลำบาก

วิจารณ์ยับ "ดอน" นำการทูตไทยไร้หางเสือ จะพาประเทศตกที่นั่งลำบาก

วิจารณ์ยับ "ดอน" นำการทูตไทยไร้หางเสือ จะพาประเทศตกที่นั่งลำบาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Sanook News ถึงกรณีที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร กรณีไทยไม่ถูกเชิญไปร่วมงานประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) แต่กลับมีภาพนายดอน ไปเยือนประเทศเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่การรัฐประหารที่ประเทศเมียนมาเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ไทยแสดงท่าทีต่อการรัฐประหารและการใช้ตความรุนแรงต่อประชาชนค่อนข้างช้า แต่รองนายกรัฐมนตรีกลับไปปรากฎตัวหลังจากนั้น ทั้งที่การให้ความช่วยเหลือ ไม่จำเป็นที่รองนายกรัฐมนตรีต้องไปด้วยตัวเอง มันผิดวิสัย ถือเป็นความเสี่ยงที่ต่างประเทศจะมองว่าไทยยอมรับสถานะความเป็นรัฐบาลของคณะรัฐประหาร เหมือนแสดงจุดยืนว่าเราให้ท้ายเขา และไม่ได้ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การต่างประเทศของไทยยากขึ้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากต่างประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา, UN, และ EU ยิ่งท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ไทยเป็นหนึ่งในหมากที่สำคัญ การที่เราไม่แสดงจุดยืนทางด้านประชาธิปไตย เราจะถูกกดดันจากมิตรประเทศที่ให้ความสำคัญด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และทำให้ได้รับความร่วมมือในการเจรจาทางการทูตน้อยลง เพราะถือว่าเราไม่อยู่ในมาตรฐานของเขา เช่น การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาจัดขึ้น แต่ไม่เชิญประเทศไทย ถือเป็นการกดดันทางการเมืองโลก หรือหมายความว่าถึงเราไม่ผ่านมาตรฐานที่ประชาคมโลกจะยอมรับ บวกกับสถานการณ์การใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงในประเทศไทยเองด้วย 

ส่วนการชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่รับฟังข้อวิจารณ์ต่างๆ เอาเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นมาชี้แจงในสภาอย่างเดียว เช่นเดียวกับกระทรวงการต่างประเทศที่เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการก็พูดไม่ต่างกัน ทั้งที่เป็นความกังวลจากคนในสังคม

"เหมือนไม่เคารพคนในประเทศ ทั้งที่คุณเอาชื่อประเทศไทยไปใช้ แต่กลับไม่มีคำตอบที่ดีให้ประชาชน เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ทำกับสิ่งที่พูดมันขัดแย้งกัน มันเสียความเชื่อมั่นจากทั่วโลก แล้วโอกาสที่จะได้รับจากประชาคมโลกมันก็จะน้อยลง การเดินเกมส์ครั้งนี้อุกอาจและไม่สนใจคนในประเทศและนอกประเทศ ส่วนตัวคิดว่าคงมีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นที่ไม่รู้ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือส่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้มากที่สุด" สรัสนันท์ กล่าว

ตนเป็นห่วงว่า ต่อไปประเทศประเทศไทยอาจจะถูกต่อต้านไปพร้อมกับเมียนมาด้วยก็ได้ เพราะขนาดประเทศสังคมนิยมยังไม่มีประเทศไหนออกตัวแรงขนาดนี้ ตอนนี้เราต้องคิดว่าทำยังไงให้เสียหายน้อยที่สุด เพราะจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง ส่วนอเมริกาเป็นอันดับสอง แต่ก็ให้ความช่วยเหลือกันมาโดยตลอด

ทั้งนี้ มองว่า 7 ปีที่ผ่านมา การต่างประเทศไทยด้อยมาก ไม่ใช้การต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ มัวแต่การขัดแย้งกันในทางการเมือง ลอยแพเศรษฐกิจและไม่มีแผนการต่างประเทศที่ชัดเจน จึงอยากให้รัฐบาลมาตกผลึกทิศทางของประเทศก่อนว่าจะเอายังไง จะพัฒนาอะไร เช่น เกษตร หรือท่องเที่ยว และใช้การทูตนำไปในทิศทางนั้นเพื่อเจรจากับคู่ค้าหรือพันธมิตร ผู้นำจะต้องจับปัญหามาพลิกเป็นทิศทางที่จะนำพาประเทศ แต่ตอนนี้เขาห่วงแต่การเมืองและเก้าอี้ตัวเอง ประเทศมันเลยถูกลอยแพ

อาจารย์จุฬาฯ เตือนดอน กต. ไร้จุดยืน

ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าขณะนี้ประเทศไทยไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจน ไม่กำหนดจุดยืน และขาดยุทธศาสตร์ในการต่างประเทศ ทั้งกับมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ก็เน้นการสร้างความเชื่อมั่น สงวนท่าที จึงไม่ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหาร แต่รักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นหลัก แต่ละเลยไม่มีความสัมพันธ์กับองค์กรอื่นเช่น อาเซียน ทำให้ความน่าเชื่อถือของไทยก็ลดลงไป วิกฤติความชอบธรรมหายไปทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ทั้งที่เคยมีนโยบายต่างประเทศโดดเด่นมาก่อน

การที่อเมริกาไม่เชิญไทยร่วมประชุม ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไปเจอกับโจ ไบเดน มาก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่าเราถ่ายรูปจับมือกับใครก็ได้ แต่เรื่องที่เขาจะไว้ใจเราได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง เราต้องพิจารณาตัวเองว่าที่ผ่านมาไทยแนบชิดกับจีนมากเกินไปหรือไม่ เราแสดงท่าทีปกป้องผลประโยชน์ของจีนอย่างชัดเจน จนสหรัฐไม่เชื่อมั่น และไม่พร้อมจะดึงกลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้งก็เป็นได้ แม้ในทางการช่วยเหลือระหว่างประเทศ หรือการค้าอาจจะไม่กระทบชัดเจน แต่มันคือสัญญาณเตือนว่าว่าถ้าไทยจะเข้าร่วม ต้องพัฒนาเรื่องประชาธิปไตยและลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เพราะที่ผ่านมาไทยก็เพิ่งส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

การมองว่าจะตกหลุมการเมืองเป็นความคิดที่ตื้นเขิน ไทยไม่ได้มีอำนาจที่คนต้องต่อรองขนาดนั้น ถ้าเราสำคัญจริง ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนเขาตั้งเอกอัครราชทูตมาแล้ว แต่นี่ยังเลื่อนออกไป "โลกไม่ได้หมุนรอบตัวไทย แต่ไทยต้องหมุนรอบโลก" ถ้าเทียบกับเมียนมา รัฐบาลไทยยังอ่อนด้อยกว่ารัฐบาลทหารพม่าด้วยซ้ำ เพราะเขาอยากได้อะไรก็เรียกร้องได้ แต่ไทยทำไม่ได้ เพราะเราขาด Proactive Policy ไม่เห็นนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนและยุทธศาสตร์ ทุกวันนี้เหมือนต่างคนต่างทำ

ทั้งนี้ปัญหามันเกิดจากการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมาทำให้รัฐไทยเป็นรัฐราชการมากขึ้น มีแต่ทหารกับข้าราชการประจำเข้ามาทำงานบริหาร พวกเขาอยู่กับความคิดของตัวเองที่เคยทำงาน แต่ไม่คิดร่วมกันว่าอะไรเป็นผลประโยชน์ของชาติกันแน่ นโยบายการต่างประเทศไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ร่มของมหาอำนาจใดก็ได้ จะเป็นอิสระก็ได้ หรือถ้าบอกว่าเอาผลประโยชน์ของไทยเป็นที่ตั้ง แต่ผลประโยชน์นั้นคืออะไร ต้องประกาศให้ประชาชนรู้ การดำเนินนโยบายต่างชาติไม่ใช่แค่คนต่างประเทศยอมรับ แต่คนในประเทศก็ต้องยอมรับด้วย

"ดอน" แจงสภาเหตุโผล่เมียนมา-ไม่ถูกเชิญร่วมประชุมประชาธิปไตย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย. 2564 หลังการฝ่ายค้านตั้งกระทู้สดถาม นายดอน ประเด็นการเดินทางเยือนประเทศเมียนมา ซึ่งนายดอนชี้แจงว่าไทยกับเมียนมามีชายแดนที่ติดต่อกันเป็นระยะทางยาวที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้าน จึงไปช่วยทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมในมุมของมนุษยธรรมจากองค์กระระหว่างประเทศขอร้องให้ไทยช่วยดำเนินการ ตนได้รับอาสาที่จะไปเนื่องจากเคยเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะเมียนมา และไม่ได้ไปอย่างลับๆ ล่อๆ เพียงแต่ไม่เห็นว่า มีความจำเป็นต้องป่าวประกาศ เพราะบางเรื่องในด้านการต่างประเทศ  พร้อมยืนยันว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายใด และดำเนินการไปด้วยความรอบคอบ สุขุม

ขณะเดียวกัน นายดอน ตอบกรณีที่ประเทศไทยไม่ได้รับเชิญจากสหรัฐอเมริกาให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 110 ประเทศในการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 9-10 ธ.ค. 2564 ว่า ตนดีใจที่ไม่ได้ไป เพราะการประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองที่จะใช้เล่นงานกันและกัน และไม่ใช่ว่าประเทศในอาเซียนที่เป็นประชาธิปไตยจะได้รับเชิญ จึงไม่แปลก ตรงกันข้ามหากถูกเชิญก็ต้องมาพิจารณาอีกว่าจะไปหรือไม่ เป็นเหมือนดาบสองคม

ผู้เขียน - อรรถชัย หาดอ้าน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ วิจารณ์ยับ "ดอน" นำการทูตไทยไร้หางเสือ จะพาประเทศตกที่นั่งลำบาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook