กลุ่มเส้นด้าย เปิดใจการช่วยคนติดโควิดหาเตียง ลั่นศัตรูที่ร้ายกว่าโรคคือเส้นสาย

กลุ่มเส้นด้าย เปิดใจการช่วยคนติดโควิดหาเตียง ลั่นศัตรูที่ร้ายกว่าโรคคือเส้นสาย

กลุ่มเส้นด้าย เปิดใจการช่วยคนติดโควิดหาเตียง ลั่นศัตรูที่ร้ายกว่าโรคคือเส้นสาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายคริส โปตระนันทน์ สมาชิกกลุ่มเส้นด้าย กล่าวเมื่อวันเสาร์ (27 พ.ย.) ถึงประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิด-19 หาเตียงในช่วงที่โรคดังกล่าวแพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ว่า ศัตรูตัวร้ายกว่าโรค คือเส้นสายและความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีเส้นสายได้รับการปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง

ตัวแทนกลุ่มเส้นด้ายรายนี้ ที่เคยเป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคเมื่อปี 2563 อธิบายว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีเส้นสายเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนมาก เข้าไม่ถึงการรักษา ดังนั้นกลุ่มเส้นด้ายจึงต้องการเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับตั้งแต่แรก ตามสโลแกนของกลุ่มคือต้องการเป็นเส้นให้กับคนที่ไม่มีเส้น

นายคริส เผยต่อไปว่า นอกจากจุดประสงค์ในการช่วยเหลือคนที่ไม่มีเส้นสาย ที่ต่างออกไปจากองค์กรอื่นๆ แล้ว กลุ่มเส้นด้ายยังได้เปรียบจากการทำงานที่ไม่มีกฎเกณฑ์มาตีกรอบเหมือนองค์กรอื่นที่ตั้งมานาน องค์กรช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยอื่นๆ อาจต้องรอให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีโรงพยาบาลรองรับก่อนจึงจะเข้าไปช่วย แต่กลุ่มเส้นด้ายเลือกที่จะรับผู้ป่วยเหล่านี้มาแล้วไปหาโรงพยาบาล "ที่หน้างาน"

การทำงานด้วยความยืดหยุ่นและความไม่มีกรอบมากเท่ากับองค์กรเหล่านี้เอง นายคริสมองว่า เป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มเส้นด้ายทำงานได้ยาวนานมาถึง 7 เดือนแล้ว ส่วนขณะนี้ที่เกิดการระบาดอย่างหนักในพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร ความยืดหยุ่นดังกล่าวก็ทำให้ทีมงานของกลุ่มเคลื่อนย้ายลงพื้นที่ต่างๆ ได้โดยง่าย ซึ่ง ณ เวลานี้ทีมหลักของกลุ่มกำลังปักหลักกันที่ จ.เชียงใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จำนวนมาก และมีการระดมชุดตรวจเอทีเคเพื่อตรวจหาเชื้อในพื้นที่

การเปิดเผยนี้เกิดขึ้นในงานประกาศผลรางวัลและสัมมนา Adman Awards & Symposium 2021

ตัวแทนกลุ่มเส้นด้ายรายนี้ มองว่า ในอนาคตเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง ความยืดหยุ่นนี้ก็สามารถทำให้กลุ่มเบนไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือคนทั่วไปที่ประสบปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นเส้นสายให้กับคนกลุ่มนี้ที่ไม่มีเส้น หรือถ้าหากการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น อย่างที่หลายฝ่ายกำลังกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาแบบกลายพันธุ์ชนิดโอมิครอน ก็อาจจะกลับมาช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างที่ทำมาโดยตลอดก็ได้

นายคริส ยอมรับว่าประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 เปลี่ยนมุมมองของตนไป ตนเห็นคนวัย 30 เสียชีวิตจากโรคระบาดทั้งที่เคยมีสุขภาพแข็งแรง ตนได้แง่คิดว่าชีวิตคนเราเปราะบางและสั้นมาก จึงทำให้ตนอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นมากกว่าจะใช้เวลาว่างชมภาพยนตร์หรือซีรีส์

นายคริส กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือการลงมือทำสิ่งต่างๆ เพราะการลงมือทำแม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ทำให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวานแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook