ครบ 50 ปี จีนเบียดไต้หวันพ้นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

ครบ 50 ปี จีนเบียดไต้หวันพ้นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

ครบ 50 ปี จีนเบียดไต้หวันพ้นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในวันที่ 26 ต.ค. 2514 สมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 35 งดลงคะแนนเสียง 17 ประเทศ รับรองญัตติของผู้แทนประเทศแอลเบเนียที่เสนอร่วมกับประเทศอื่นๆ อีก 11 ประเทศ ให้รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและให้ขับสาธารณรัฐจีน (ปัจจุบันคือไต้หวัน) ออกจากองค์การสหประชาชาติ

กล่าวคือ การรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าแทนที่ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) ทั้งศักดิ์และสิทธิรวมทั้งหน้าที่อย่างสมบูรณ์

ที่สำคัญยิ่ง คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักของสหประชาชาติ และเป็นองค์กรในสหประชาชาติที่มีอิทธิพลรองลงมาจากสมัชชาใหญ่ เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการเรียกระดมพลจากรัฐสมาชิกในสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพในประเทศและสงครามต่างๆ และยังมีอำนาจในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆ อีกด้วย

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงตรามโลกขึ้นอีก เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศ บรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางสำหรับการประสานงานของการกระทำของชาติต่างๆ

สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ ที่มีตัวแทนในระดับสากลมากที่สุด และทรงอำนาจมากที่สุดในโลก สหประชาชาติมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ในช่วงการก่อตั้ง สหประชาชาตินั้นมีสมาชิกรัฐถึง 51 รัฐ จำนวนนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 193 รัฐ ในปัจจุบันซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐอธิปไตยเกือบทั้งหมดของโลก ความจริงแล้วการรับรองรัฐเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติมักไม่มีปัญหาอะไรยุ่งยากนักเพราะตามกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 2 ข้อ 1 บัญญัติว่า

"สหประชาชาติยึดมั่นในหลักการแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยของรัฐสมาชิกทั้งปวงเป็นมูลฐาน" หมายความว่าสหประชาชาติพร้อมเสมอที่จะรับ "รัฐ" ทุกรัฐบนโลกนี้เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งคุณสมบัติของรัฐมี เพียง 4 ข้อ คือ

  1. มีดินแดนที่ตั้งที่แน่นอน
  2. มีประชากร (ดินแดนในทวีปแอนตาร์กติกาไม่มีผู้คนอาศัยอยู่จึงไม่มีรัฐ
  3. มีรัฐบาลปกครองดินแดนและประชากรโดยใช้อำนาจอธิปไตย
  4. อำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุด ใช้ในการปกครองรัฐ

กรณีของรัฐบาลของประเทศจีน เป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุดของสหประชาชาติเนื่องจากประเทศจีนเมื่อปี 2492 (72 ปีที่แล้ว) เกิดมีรัฐบาลจีน 2 รัฐบาล ที่มีดินแดนที่ตั้งที่แน่นอน มีประชากรมีรัฐบาลและมีอำนาจอธิปไตย โดยสมบูรณ์ทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่ใหญ่เล็กผิดกันไกลมาก คือ ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนครอบครองดินแดนผืนแผ่นดินใหญ่มีเนื้อที่เป็นอันดับ 3 ของโลกและมีประชากรกว่า 700 ล้านคน ส่วนสาธารณรัฐจีนครอบครองเกาะไต้หวันมีประชากรไม่ถึง 20 ล้านคนในขณะนั้น

แต่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติดั้งเดิม จึงยังคงเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติอยู่ในขณะนั้น

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสาธารณรัฐจีนรบแพ้สงครามกลางเมืองบนผืนแผ่นดินใหญ่ จึงหนีมาตั้งมั่นที่เกาะไต้หวัน โดยหวังที่จะกลับไปปกครองผืนแผ่นดินใหญ่จีนอีกในอนาคต รัฐบาลสาธารณรัฐจีนจึงยืนยันที่เป็นรัฐบาลของประเทศจีนทั้งหมดอยู่ทั้งๆ ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง

ในเดือน ต.ค. 2493 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งกองทัพเข้าร่วมรบกับเกาหลีเหนือต่อสู้กับกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี เท่ากับว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในสภาวะสงครามกับสหประชาชาติ เรื่องการเป็นสมาชิกภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีนในองค์การสหภาพชาติแผ่วลงเป็นเวลาร่วม 20 ปีและทำให้รัฐบาลของสาธารณรัฐจีนที่เกาะไต้หวันคงสถานภาพของความเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายทางนิตินัยมาได้โดยตลอด จนกระทั่งถึงเดือน ต.ค. 2514 จึงถูกขับออกจากสมาชิกภาพขององค์การสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐจีนที่เกาะไต้หวันก็ยังคงมีสภาพรัฐโดยสมบูรณ์อยู่เสมอมา ดังนั้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ออกแถลงการณ์สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมธุรกรรมในสหประชาชาติ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนไต้หวันให้มีส่วนร่วมในสหประชาชาติและสังคมโลก ในฐานะเป็นรัฐไต้หวันไม่ใช่ประเทศจีนอีกต่อไป

พูดกันง่ายๆ ก็คือขอให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันสนับสนุนให้ไต้หวันได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติในฐานะรัฐไต้หวันไม่ใช่รัฐจีนนั่นเอง ซึ่งเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่ามีทหารอเมริกันประจำการอยู่ในไต้หวันจริง โดยนางสาวไช่ อิงเหวินเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันในรอบ 40 ปี ที่ยอมรับว่ามีทหารอเมริกันประจำการอยู่ในไต้หวัน และมีการร่วมมือกันทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน ทั้งๆ ที่เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2522 โดยสหรัฐอเมริกายอมรับเงื่อนไขที่จีนเสนอ 3 ประการ คือ

  1. ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน
  2. ถอนทหารออกจากไต้หวัน
  3. ยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับไต้หวัน

ในปี 2541 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า "สหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกในองค์กรสากลร่วมกับประเทศที่มีอธิปไตย"

ครับ! การที่สหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศกลับลำอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยในกรณีเรื่องไต้หวันจึงเป็นการท้าทายต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยตรงเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook