โอมิครอน เรารู้อะไรเกี่ยวกับไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ชนิดนี้บ้าง

โอมิครอน เรารู้อะไรเกี่ยวกับไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ชนิดนี้บ้าง

โอมิครอน เรารู้อะไรเกี่ยวกับไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ชนิดนี้บ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็นที่เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ณ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ที่ดูเหมือนจะมีความรุนแรงมากกว่าเชื้อโควิดตัวก่อนๆ และกำลังเป็นที่กังวลขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากยังไม่เคยมีโควิดสายพันธุ์ไหนที่สามารถหลบวัคซีนและแพร่กระจายได้รวดเร็วขนาดนี้มาก่อน

แล้ว "โอมิครอน" นี้มีต้นกำเนิดจากไหน และสถานการณ์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในตอนนี้เป็นอย่างไร 

โอมิครอน เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ใหม่ คืออะไร? 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ที่แพทย์ในแอฟริกาใต้ตรวจพบครั้งแรก เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) พร้อมกับตั้งชื่อสายพันธุ์ดังกล่าวว่า โอมิครอน (Omicron) ตามอักษรกรีก

แม้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์ตลอดเวลา และเป็นเรื่องปกติที่เชื้อไวรัสจะสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทำให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนน่ากังวลเป็นพิเศษ คือ การกลายพันธุ์ของยีนรวม 50 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นการกลายพันธุ์ของหนามโปรตีนถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวใช้เข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ 

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ ซึ่งใช้จับยึดกับเซลล์ของมนุษย์ถึง 10 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ขณะที่เดลตากลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น 

ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นอย่างไรต่อโอมิครอน

แพทย์หญิง แองเจลีก คูตเซีย ประธานสมาคมแพทย์แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดโอมิครอน เปิดเผยว่า อาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีอาการแปลกจากคนป่วยโรคโควิด-19 แต่ไม่รุนแรงมากนัก คือไม่เสียการรับรสหรือกลิ่น แต่มีอาการอื่นๆ หลายอย่าง เช่น อ่อนเพลียรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชีพจรเต้นเร็ว

ทางด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ลดลงถึง 40% 

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ Omicron variant (B.1.1.529)" ว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันอีกเสียงว่า การกลายพันธุ์ลักษณะนี้ไม่เคยค้นพบมาก่อนเป็นเวลานาน ในจังหวัดเกาเต็งของแอฟริกาใต้ ยอดติดเชื้อทะลุ 2,000 รายต่อวัน ซึ่งพื้นที่นี้สายพันธุ์เดลตาเคยระบาดหนักอยู่เดิม หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ แสดงว่าโอมิครอนอาจแพร่เชื้อได้เก่งกว่าเดลตามาก

ข้อมูลที่มีตอนนี้คือ สูงกว่าประมาณ 5 เท่า นอกจากนี้ตำแหน่งการกลายพันธุ์ของโอมิครอนอาจส่งผลให้เกิดการดื้อทั้งวัคซีนและระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทั้งไบออนเทค และโมเดอร์นา ประกาศว่าจะรายงานผลการทดสอบได้ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

สถานการณ์โอมิครอนทั่วโลก 

ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนแล้ว โดยเจ้าหน้าที่พบการระบาดในจังหวัดเกาเต็ง ของแอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 100 ราย และมีพบในประเทศอื่นๆ อีก ดังนี้

  • แคนาดา 2 ราย
  • เดนมาร์ก 2 ราย
  • เนเธอร์แลนด์ 13 ราย
  • บอตสวานา 19 ราย
  • เยอรมนี 3 ราย
  • สหราชอาณาจักร 9 ราย
  • สาธารณรัฐเช็ก 1 ราย
  • ออสเตรเลีย 2 ราย
  • อิตาลี 1 ราย
  • อิสราเอล 2 ราย
  • ฮ่องกง 2 ราย

ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าว 

มาตรการรับมือโควิดของแต่ละประเทศ

เหตุนี้ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มออกมาตรการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แบบกลายพันธุ์ชนิดโอมิครอนกันแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศก็มีความเข้มข้นที่ต่างกัน 

สหราชอาณาจักร ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 10 ประเทศทางใต้ของทวีปแอฟริกาเดินทางเข้ามาแล้ว

ส่วนสหรัฐก็ออกมาตรการเดียวกันนี้แต่จำกัดแค่ 8 ประเทศเท่านั้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกามาเช่นกัน ได้แก่

  • ซิมบับเว
  • นามิเบีย
  • บอตสวานา
  • มาลาวี
  • โมซัมบิก
  • เลโซโท
  • เอสวาตินี
  • แอฟริกาใต้

นอกจากการระงับบางประเทศไม่ให้เข้ามา หลายประเทศเลือกใช้วิธีปิดประเทศไปเลย อย่างเช่น อิสราเอล ที่ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติทุกคนเดินทางเข้าไป หลังจากพบผู้ติดไวรัสแบบโอมิครอนในประเทศ ซึ่งมาตรการนี้ของอิสราเอลเพิ่งมีผลเมื่อเวลา 00.00 น. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น

ส่วนญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประกาศปิดประเทศเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา นับเป็นประเทศที่ 2 ที่ประกาศปิดประเทศ ตามหลังอิสราเอล โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่วันอังคาร (30 พ.ย.) ทำให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศไม่ได้ ทั้งผู้ที่เดินทางเพื่อเจรจาทางธุรกิจ และนักศึกษาต่างชาติ

ความน่ากังวลของโอมิครอน

แม้แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ที่ตรวจพบโควิดสายพันธุ์นี้จะยืนยันว่าอาการของคนไข้ที่ติดเชื้อนั้นไม่รุนแรงนัก แต่คนเหล่านี้เป็นคนที่มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐาน ทำให้ยังคงมีความกังวลว่าถ้าหากไวรัสนี้แพร่กระจายไปถึงคนที่มีโรคเรื้อรังอยู่แล้ว อย่างเช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้รับวัคซีน ก็อาจเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้การที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสแบบกลายพันธุ์ตัวนี้มากนัก ทำให้ขณะนี้ไม่ทราบว่าวัคซีนที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสตัวนี้ได้มากเพียงใด และไวรัสตัวนี้อย่างที่พูดถึงเมื่อสักครู่ว่า มีการกลายพันธุ์ที่หนามโปรตีนถึง 32 จุด ซึ่งมากกว่าไวรัสชนิดเดลตาหลายเท่า ก็ทำให้แพร่กระจายไปได้มากกว่า

ไม่ใช่แค่นั้น ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ให้ข้อมูลเมื่อวันอาทิตย์ (28 พ.ย.) ว่า การตรวจ PCR แบบที่ใช้กันอยู่ในไทยนั้น อาจตรวจจับไวรัสโคโรนา 2019 ชนิดโอมิครอนไม่ได้

ทางด้านนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า ชุดตรวจโควิดภายใน 90 นาที ยี่ห้อ DNA Nudge สามารถตรวจพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ 100% แต่ขณะนี้ยังรอให้องค์การอาหารและยา (อย.) อนุมัติมาหลายเดือนแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook