หวิดช็อก! ราชกิจจาฯ เผยหนี้สาธารณะพุ่งปรี๊ด 9.3 ล้านล้าน เกือบแตะ 60% ของจีดีพี
กระทรวงการคลังรายงานสถานะหนี้สาธารณะ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวนกว่า 9.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58% ของจีดีพี
เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนกันยายน 2564 โดยมีเนื้อหาว่า
ด้วยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 วรรคสอง กำหนดให้กระทรวงการคลังสรุปรายงานสถานะของหนี้สาธารณะและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันหลังจากวันสิ้นเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนของทุกปี โดยรายงานดังกล่าวต้องแสดงหนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้เงินและค้ำประกัน ณ วันสิ้นเดือนดังกล่าว รวมทั้งรายการการกู้เงินและค้ำประกันที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนตามลำดับ
กระทรวงการคลังขอรายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนกันยายน 2564 ดังนี้
1. รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2564
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวน 9,337,543.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) โดยเป็นหนี้รัฐบาล จำนวน 8,203,698.67 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 845,639.91 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อ (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162.82 ล้านบาท
หนี้สาธารณะแบ่งตามอายุเงินกู้คงเหลือจะเป็นหนี้ระยะยาวซึ่งเป็นหนี้ที่จะครบกำหนดชำระเกินกว่า 1 ปี จำนวน 8,069,514.98 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.42 และหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระภายในไม่เกิน 1 ปี จำนวน 1,268,028.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.58 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวนทั้งสิ้น 9,337,543.02 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้ต่างประเทศ จำนวน 168,390.72 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.80 และหนี้ในประเทศ จำนวน 9,169,152.30 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.20 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ในขณะที่วันนี้ (30 พ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 ก.ย. 64) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
1. รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ณ 30 ก.ย. 64 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือ
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 58.15% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 70% (เพิ่งขยายเพิ่มจาก 60%)
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 32.27% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 35% (เพิ่งขยายเพิ่มจาก 30%)
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด 1.80% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 10%
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ 0.06% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 5%
2. รายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง สถานะหนี้คงค้าง
สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง มีจำนวน 9.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58.15% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจำนวน 1.49 ล้านล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ
1) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ
2) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
สำหรับสถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีรายละเอียด ดังนี้
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,504,214.24 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.73% ต่อ GDP
(2) หนี้รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 699,484.43 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.36% ต่อ GDP
(3) หนี้ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 845,639.91 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.27% ต่อ GDP
(4) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.75% ต่อ GDP
(5) หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.04% ต่อ GDP
สำหรับหนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย
(1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. จำนวน 1.20 แสนล้านบาท
(2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เช่น เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 5.90 แสนล้านบาท
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 แห่ง มีจำนวน 3.65 หมื่นล้านบาท
(4) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวน 4.61 ล้านบาท
ส่วนความเสี่ยงทางการคลังยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยหนี้ส่วนใหญ่ 84.11% เป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเมื่อถึงกำหนด
ส่วนหนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงนั้น หน่วยงานจะเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้ โดยใช้แหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ สำหรับหนี้เงินกู้ของหน่วยงานรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ไม่มีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากเป้นหน่วยงานที่มีสถานะการดำเนินงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้เองได้