ศีตลา ลูกสาวตั้ว ศรัณยู โดนถล่มยับ หลังมีข่าวเตรียมเดบิวต์เป็นศิลปินที่เกาหลี
ลูกหนัง-ศีตลา วงษ์กระจ่าง ถูกวิจารณ์อย่างหนักในโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคาร (30 พ.ย.) เกี่ยวกับร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ทำให้แฮชแท็ก #SITALA กลายเป็นวลีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในหมู่ผู้ใช้งานเว็บไซต์ทวิตเตอร์ในประเทศไทยในวันเดียวกัน
การวิจารณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีกระแสข่าวว่า แกรนด์ไลน์ เอนเตอร์เทนเมนต์ บริษัทด้านความบันเทิงที่มีฐานดำเนินงานในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ มีกำหนดเปิดตัววงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อไฮคีย์ (H1-KEY) อย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 2565 โดยมี นางสาวศีตลา วัย 25 ปี เป็นสมาชิกคนหนึ่งของวง
เหตุนี้ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำภาพถ่ายที่นางสาวศีตลาถ่ายรูปกับคนรู้จักอีก 4 คน ที่ใกล้บันไดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม บริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน ถนนพระรามที่ 1 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้ง 5 คน รวมถึงนางสาวศีตลาห้อยนกหวีด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และตนสวมที่คาดผมที่มีลวดลายสีแดง ขาว และน้ำเงิน คล้ายธงชาติไทย และถือธงชาติไว้ในมือ
การชุมนุมดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างปี 2556-2557 ในตอนแรกมีเป้าหมายเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่จะนิรโทษให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่าย ที่กลุ่ม กปปส. เกรงว่าอาจเหมารวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นตัดสินใจถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาของสภา
การตอบสนองดังกล่าวกลับไม่เป็นที่พอใจของกลุ่ม กปปส. ทั้งยังยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจฝ่ายบริหารยุบสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ผู้ร่วมชุมนุมบางรายก็ตามไปขัดขวางการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งบางแห่ง จนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดขึ้นในวันเดียวกันทั้งประเทศ
NICOLAS ASFOURI / AFP
ผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. บางคนยังเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงในวันที่ 22 พ.ค. ปีเดียวกัน โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ที่ต่อมาใช้ชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอยู่ในอำนาจมาจนถึงปี 2562 และแม้ว่าปีดังกล่าวมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก็ยังถูกครหาว่ากฎกติกาหลายอย่างยังเอื้อให้มีการสืบทอดอำนาจของกลุ่ม คสช. อย่างเช่น การกำหนดให้วุฒิสภา 250 คนมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
ชาวเน็ตฝั่งหนุน-ฝั่งต้าน ยกเหตุผลสู้
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มหนึ่งมองว่าควรปล่อยเป็นเรื่องของอดีต และการจะได้เปิดตัวเป็นศิลปินที่ประเทศเกาหลีใต้ของนางสาวศีตลาก็เป็นการทำตามความฝัน จึงควรแยกแยะไม่นำการเมืองมาเกี่ยวข้อง
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มองต่างออกไปแย้งว่า การเมืองถูกนำมาใช้ทำลายความฝันของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการบันเทิงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ถูกยกเลิกงานหรือถูกผู้มีอิทธิพลในวงการ "ดอง" ไม่ใช่แค่นั้นผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐประหารครั้งดังกล่าวยังทำลายโอกาสและความฝันของเยาวชนจำนวนมากทั้งแง่ของเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพ และแง่อื่นๆ
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP
ขณะเดียวกัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มนี้ยังยกตัวอย่างต่อไปว่า เยาวชนหลายคนที่ควรได้ทำตามความฝันกลับต้องถูกจำคุก แม้ยังไม่มีการตัดสินความผิดด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นางสาวเบนจา อะปัญ เรื่อยไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมย่านดินแดง
กลุ่มผู้สนับสนุนนางสาวศีตลาชี้ให้เห็นอีกว่าขณะนั้นนางสาวศีตลาน่าจะยังเป็นเพียงเยาวชน อาจได้รับแนวคิดทางการเมืองมาจากพ่อแม่ ซึ่งก็คือ นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง นักแสดงชื่อดังผู้ล่วงลับ และนางหัทยา วงษ์กระจ่าง ดังนั้นผู้ที่ต่อต้านก็ต้องแยกแยะ และไม่ควรทำถึงเพียงนี้
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เห็นด้วยกับการเดบิวต์ของนางสาวศีตลาย้อนถามกลับว่า เหตุใดถึงมีผู้ไปคุกคามด้วยการเป่านกหวีดใส่ ลูกชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2556 ที่ขณะนั้นยังเรียนอยู่เพียงระดับชั้นประถมศึกษา
จี้ค่ายเพลงระงับเดบิวต์
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนเรียกร้องไปยัง แกรนด์ไลน์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ให้ระงับการเปิดตัวนางสาวศีตลาในฐานะศิลปินวงไฮคีย์ และขอให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้ร่วมเรียกร้องด้วย โดยนำไปเปรียบเทียบว่า ชาวเกาหลีใต้จะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีการเปิดตัวผู้สนับสนุนนายชอน ดู-ฮวาน อดีตผู้นำเผด็จการ เป็นศิลปิน