Indentation Error โปรแกรมเมอร์เยาวรุ่นในสมรภูมิอวกาศ
เช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยได้รับข่าวดีจากความสำเร็จของเด็กไทยอีกครั้ง เมื่อทีม Indentation Error เยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award ระดับเอเชีย จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ ในโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของไทย และตอกย้ำถึงความสามารถของเด็กไทยที่ไม่แพ้ใครในโลกเช่นกัน
Indentation Error
ธฤต วิทย์วรสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หัวหน้าทีม Indentation Error เล่าให้ Sanook ฟังว่า เขาและสมาชิกในทีมอีก 2 คน คือกรปภพ สิทธิฤทธิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ซึ่งอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นนักเรียนห้องพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือห้อง STEM ของโรงเรียน และได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อน โดยเฉพาะการแข่งขันหุ่นยนต์ในเวทีต่างๆ ทำให้ทั้งสามคนรู้จักและคุ้นเคยกันอย่างดี จนกระทั่งธฤตได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการแข่งขันในโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เขาจึงไม่ลังเลที่จะชักชวนน้องๆ เข้าร่วมทีม
“ก่อนที่จะมาถึงการแข่งขันครั้งนี้ พวกเราเขียนโปรแกรมกันมาก่อนอยู่แล้ว ก็เขียนภาษา Python เป็นหลัก แต่การแข่งขันครั้งนี้มันเป็นการแข่งที่ใช้ภาษา Java เป็นหลักครับ ซึ่งพวกผมก็ตั้งชื่อทีมเป็นมุกตลกขำๆ ว่า Indentation Error ซึ่งมันก็คือ ข้อผิดพลาดที่มันจะเกิดขึ้นแค่ในภาษา Python ครับ” กรปภพเล่าถึงที่มาของชื่อทีม
สู่สมรภูมิอวกาศ
สำหรับการแข่งขันในโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะได้รับโจทย์สำหรับเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA โดยมีภารกิจคือ บังคับหุ่นยนต์ให้อ่าน QR Code ภายในสถานีอวกาศจริง และยิงเป้าตามที่กำหนด จากนั้นให้กลับไปยังจุดจอดยาน ซึ่งนอกจากจะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ใช้ภาษา Java ในการเขียนโปรแกรมแล้ว การแข่งขันครั้งนี้สร้างความท้าทายใหม่ๆ แก่ทั้งสามคนอีกด้วย
กรปภพเล่าว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ควบคุมหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ใน 3 มิติ ในขณะที่ธฤตกล่าวว่า
“การแข่งขันครั้งนี้มันเป็นมิติใหม่เลย ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อย่างแรกเลยมันเป็นการแข่งขันที่เป็น simulation ก่อนที่มันจะขึ้นไปบนอวกาศจริง แล้วผมไม่เคยแข่งขันหุ่นยนต์ที่เป็น simulation ที่เราไม่เคยได้จับหุ่นตัวจริงเลย แต่ว่าเราก็แข่งขันกันได้ แล้วผมก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดี เพราะว่าอยู่ดีๆ เราคงไม่สามารถที่จะรันโค้ดของเราบนอวกาศจริงๆ ได้ ถ้าไม่ได้ผ่านโอกาสแบบนี้”
ธฤตเล่าว่า ในการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันจะส่งโปรแกรมไปยังผู้จัดงาน และทางผู้จัดงานจะรันโปรแกรม โดยให้ผู้เข้าแข่งขันลุ้นผลผ่านไลฟ์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกได้ว่าพวกเขาดูผลงานของตัวเองที่ทำไปแล้ว และคอยลุ้นว่าคู่แข่งจะทำได้ดีแค่ไหน
“มันมีแข่งทั้งหมด 2 รอบ ก็คือรอบ Programming Skill Round ที่เป็น simulation กับรอบที่รันบนสถานีอวกาศจริง รอบแรกพวกผมค่อนข้างมั่นใจในระดับหนึ่ง คือพวกผมได้รันเป็นทีมสุดท้าย แล้วก็ได้เห็นทีมอื่นมาค่อนข้างเยอะแล้ว ก็ค่อนข้างจะมั่นใจในระดับหนึ่งว่าพวกผมสามารถได้ที่ระดับสูงๆ ในการแข่งขันครั้งนั้น และจากรอบแรกที่พวกผมได้ที่ 1 มา ในรอบ Programming Skill Round ทำให้พวกผมต้องรันเป็นคนแรกในสถานีอวกาศ พอพวกผมรัน โปรแกรมมันก็ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็เลยรู้สึกใจแป้วว่าเราคงพลาดแล้ว ก็คือทำได้แค่รอไปเรื่อยๆ ว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไรบ้าง” กรปภพเล่านาทีระทึกใจในขณะชมการแข่งขัน
ไม่เพียงแต่ผลงานที่ไม่เป็นไปตามที่คิดเท่านั้น ทีม Indentation Error ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างบังกลาเทศ ที่ทำผลงานได้ดีทั้งสองรอบอีกด้วย
“บอกเลยว่าหลังจากเห็นบังกลาเทศแล้ว ผมเลิกหวังที่ 1 ไปแล้ว ที่ 2 ที่ 3 ก็ได้ ที่ 2 ที่ 3 ก็ยังดี ก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่าคนเราไม่จำเป็นต้องชนะตลอดเวลา มันก็มีแพ้ มีชนะเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าสุดท้ายโชคดี เป็นเพราะว่าเราทำเวลาได้เร็ว ก็เลยชนะมาได้” ธฤตกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนปรากฏว่า ทีม Indentation Error จากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศไปครอง
“ก็รู้สึกประหลาดใจ เห็นบังกลาเทศดูดีกว่าแล้ว แล้วเห็นเขาประกาศว่าได้ที่ 2 ซึ่งผมก็คิดว่า พวกผมหลุดที่ 1 กันแล้วเหรอเนี่ย แสดงว่าพวกผมไม่ได้รางวัลอะไรเลยหรือเปล่า กำลังงงๆ ว่า ทำไมทีมที่เราคิดว่าได้ที่ 1 มันได้ที่ 2 นะ ก็กำลังงงๆ อยู่ แต่พอเขาประกาศชื่อเราก็ดีใจครับ” กรปภพกล่าว
ด้านน้องเล็กอย่างเสฎฐพันธ์ ก็ระบุว่า เขาตื่นเต้นดีใจกับผลการแข่งขันครั้งนี้มาก เนื่องจากเป็นการแข่งขันในระดับประเทศครั้งแรก เช่นเดียวกับธฤต ที่ยังไม่เคยผ่านการแข่งขันในเวทีต่างประเทศ ก็รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จครั้งนี้
นอกจากนี้ ธฤตยังกล่าวอีกว่า การแข่งขันดังกล่าวได้เปิดโลกให้พวกเขาได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา Java การเขียนโปรแกรมสำหรับหุ่นยนต์ที่บินได้ รวมทั้งการใช้ระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Linux และ Android Studio ที่เขาไม่เคยใช้ในการเขียนโค้ดมาก่อน ขณะที่เสฎฐพันธ์มองว่า การแข่งขันในเวทีนี้ช่วยให้เขาเห็นเส้นทางใหม่ๆ สำหรับต่อยอดเรื่องการเรียน
“สำหรับผมมันเป็นเรื่องของการปรับใช้ คือในการแข่งขันมันมีช่วงหนึ่งที่พี่ธฤตเอาสูตรคณิตศาสตร์ที่เรียนในห้องมาปรับใช้กับการแข่งขันครั้งนี้ ก็เลยคิดว่าเหมือนเป็นการให้เหตุผลกับตัวเองว่าเราจะตั้งใจเรียนไปทำไมมากขึ้นครับ เหมือนเป็นการตั้งใจเรียนไป ยังไงก็ได้ใช้อยู่ดีสักทางหนึ่ง” กรปภพกล่าวเสริม
ลมใต้ปีกของโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความมุ่งมั่นและความสามารถของเด็กๆ ที่ทำให้พวกเขาคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ยังมี “ลมใต้ปีก” ได้แก่ครูจำนวน 4 ท่าน ที่เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หนึ่งในนั้นคือ มิสพิชชาพร ประยูรอนุเทพ ครูสอนฟิสิกส์ และยังเป็นที่ปรึกษาประจำชั้นของธฤตและกรปภพอีกด้วย
“ธฤตเขาจะเป็นผู้ใหญ่ค่ะ มีความเป็นผู้ใหญ่ นิ่งๆ สุขุม เขาจะมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดสรรเวลา เรื่องของการเรียน ธฤตก็ไม่บกพร่องเลยค่ะ แล้วก็มีการแบ่งเวลามาทำกิจกรรมที่เขาสนใจมากยิ่งขึ้นได้ด้วย แล้วก็เป็นคนค้นคว้า เวลาว่างจากการเรียนเขาก็จะลองดูว่ามีสนามไหนที่น่าสนใจ มีจัดอบรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขาสนใจ เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่รู้ตัวเองแล้ว”
“กรก็เป็นคนที่มีความตั้งใจเช่นเดียวกัน เขาจะเป็นคนที่ต้องได้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เวลาทำโครงงานของเขาสักอย่าง เขาจะขลุกอยู่กับงานของเขาเลยค่ะ ถ้างานเขาไม่เสร็จ ข้าวก็ไม่กินค่ะ จนครูต้องเดินมาไล่ให้ไปทานข้าว ส่วนของโชกุน (เสฎฐพันธ์) ก็เหมือนเอาพี่สองคนมาผสมกันค่ะ ด้วยความเป็นน้องเล็ก พี่ฝึกมาอย่างไร ก็ดูพี่ๆ เป็นหลัก เขามีธฤตเป็นไอดอล พี่ว่าอย่างไรเขาก็จะค่อยๆ ทำตามไป” มิสพิชชาพรเล่าถึงลูกศิษย์ทั้ง 3 คน
ด้านมาสเตอร์เจริญ กรทรวง ครูผู้ดูแลชมรมหุ่นยนต์ ก็ระบุว่า แม้นักเรียนแต่ละคนจะมีทักษะที่แตกต่างกัน แต่จุดแข็งที่ทั้ง 3 คน มีร่วมกันคือความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งเมื่อทั้ง 3 คน ทำงานร่วมกันแล้ว ก็กลายเป็นทีมที่ดี มีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน และทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน
ส่วนมาสเตอร์ปิยะชาติ นพคุณวิจัย ครูสอนคอมพิวเตอร์ ที่ร่วมลุ้นกับลูกศิษย์ตลอดการแข่งขัน ก็กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อทราบว่าลูกศิษย์ได้รับรางวัลชนะเลิศว่า เขารู้สึกดีใจ และมองว่าเด็กๆ จะได้รับประสบการณ์มากขึ้นจากการแข่งขัน
“เวลาเขาผ่านศึก เหมือนคนเล่นหมากรุกน่ะครับ ยิ่งเล่นกระดานมากขึ้น ความรอบคอบก็จะมีมากขึ้น เขาก็จะมองได้รอบด้านมากขึ้น หรือว่ามองได้กว้างมากขึ้น ฉะนั้นแล้ว อันนี้มันเป็นสิ่งที่มันสะท้อนออกมา ว่าในงานนี้ที่เขาแข่ง พอเวลาเขาเขียนโปรแกรม เขาก็จะหาทางป้องกันเลยว่าจะทำอย่างไร ถ้าปัญหาเกิดอย่างนี้ หุ่นของเขาจะต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดเจอปัญหาอย่างที่สอง หุ่นของเขาจะต้องทำอย่างไร จะต้องแก้ไขอย่างไร ผมว่าจุดนี้มันทำให้เป็นผลตกทอดมา แล้วก็ทำให้มองเกมได้กว้างมากขึ้น” มาสเตอร์ปิยะชาติสรุป
อัลบั้มภาพ 17 ภาพ