“ชานันท์ ยอดหงษ์” ความเท่าเทียมของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในสังคมไทย

“ชานันท์ ยอดหงษ์” ความเท่าเทียมของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในสังคมไทย

“ชานันท์ ยอดหงษ์” ความเท่าเทียมของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่การตระหนักรู้เรื่องอัตลักษณ์ที่หลากหลายของคนในสังคมเริ่มมีมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมกลับมีไม่มากพอ ดังจะเห็นได้จากปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังถูกละเลยจากภาครัฐ กลุ่ม LGBTQ+ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการสมรสได้อย่างเท่าเทียม รวมไปถึงปัญหาของกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ ที่ยังมีให้เห็นในสังคมไทย ด้วยเหตุนี้ “ชานันท์ ยอดหงษ์” นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง จึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองภายใต้ “พรรคเพื่อไทย” ด้วยความหวังที่จะสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ด้วยนโยบายที่สัมพันธ์กับปากท้องของประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ 

การเมืองเชิงอัตลักษณ์ในสังคมไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ประเด็นเรื่อง “อัตลักษณ์” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นชาติพันธุ์ สีผิว เพศสภาพ เพศวิถี รวมไปถึงการเคารพความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของทุกคน เช่นเดียวกับการเข้าถึงความรู้เรื่องกลุ่มอัตลักษณ์ที่หลากหลายที่ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทำให้เรื่องของการเมืองเชิงอัตลักษณ์มีการพัฒนามากขึ้น ขณะที่คนทั่วไปก็ตระหนักรู้และเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ มากขึ้นด้วย 

“สังคมไทยและวัฒนธรรมไทยค่อนข้างมีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการรับประเด็น รับกระแสจากทั่วโลก เช่นเรื่อง Black Lives Matter ก็สะท้อนให้เห็นว่าเราเริ่มตระหนักได้ แต่เป็นการตระหนักในเชิงที่คุณก็ไม่ได้สนใจโรงฮิงญา ไม่ได้สนใจชาติพันธุ์คะยัน หรือประเด็นของบางกลอย คนก็ไม่ได้สนใจ แต่ไปสนใจเรื่องคนผิวดำที่ถูกทำร้ายร่างกายจนตายในสหรัฐอเมริกาแทน” ชานันท์เริ่มต้นอธิบาย  

“อย่างไรก็ตาม ในรูปแบบการเมืองในรัฐสภา การเมืองภาครัฐ กระทั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นได้ว่าเขายังมีเพดานความคิดที่ยังเติบโตไปไม่ถึงกระแสความคิดของประชาชน ขณะที่รัฐสภาหรือพรรคการเมืองบางพรรคมีเพดานความคิดที่สูงขึ้นมาแล้ว แต่พื้นที่ของศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีอำนาจในการปกครอง กลับเป็นองค์กรที่มีสายสัมพันธ์ที่ห่างมากกับประชาชน อันนี้เป็นปัญหา”

จากนักสื่อสารสู่งานการเมือง

หลายบทบาทหน้าที่ของชานันท์มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องอัตลักษณ์ของคนในสังคม ทำให้เขามองเห็น “ปัญหา” ที่วนกลับมาเป็นประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงกันทุกปี เช่น ปัญหาเรื่องของการนำเสนอข่าวกะเทยที่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ที่ถูกนำเสนอในลักษณะตลกขบขัน เช่นข่าว “ผู้ชายสวยเกณฑ์ทหาร” หรือปัญหาการนำเสนอข่าวการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ที่ชานันท์ใช้คำว่า “ทำเหมือนเป็นโชว์ตัวประหลาด” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้สังคมไทยจะก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้ว แต่คนในสังคมก็ยังมีความไม่เข้าใจหรือไม่ละเอียดอ่อนในบางประเด็น

และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชานันท์เริ่มสนใจงานทางการเมือง ก่อนที่เขาจะปรากฏตัวบนเวทีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

“เราเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน จนนักศึกษาที่เราสอนมีลูกไปแล้ว เราก็คิดว่าสังคมยังไม่ได้เปลี่ยนมากนี่นา บทความที่เราเขียนไป ประเด็นเดิมกลับมาอีกแล้ว ฉันต้องเขียนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเดิมอีกแล้วเหรอ เราก็เริ่มใจร้อน เราอยากผลักดันให้มันเร็วขึ้น ทำความเข้าใจมากขึ้น และเราก็คิดว่ามันควรผลักดันเรื่องการออกนิติบัญญัติด้วย นอกเหนือจากสังคมวัฒนธรรม เพราะคนจำนวนมากเริ่มตระหนักได้ถึงปัญหาความไม่เท่าเทียม จึงคิดว่าถ้าเราเพิ่มจากการสอน การเขียน การจัดขบวนทวงสิทธิ์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีในรูปแบบการเมืองไทยเช่นนี้” ชานันท์กล่าว 

นอกจากนี้ ชานันท์ยังระบุอีกว่าการสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ และพรรคการเมืองจำเป็นต้องทำการบ้านในประเด็นนี้ เพราะความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ที่แตกต่างของประชาชนจะมีส่วนสำคัญในการผลิตนโยบายที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคม

นโยบายที่จะไม่มีใครถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง 

ชานันท์อธิบายรูปแบบการเมืองที่เปลี่ยนไป นับตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งทำให้ประชาชนเริ่มเข้าใจว่า “นโยบาย” มีความสำคัญกับการเลือกพรรคการเมืองเข้าไปทำงานในสภา และสัมพันธ์กับเรื่องประชาธิปไตยและปากท้อง อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายนโยบายที่ยังขาดมุมมองในเรื่องเพศ (Gender Blind) หรือมองไม่เห็นความหลากหลายในเชิงอัตลักษณ์ทางเพศ​ นั่นจึงเป็นโจทย์สำคัญของพรรคการเมืองที่จะต้องออกแบบนโยบายหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ 

“เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ใช่ แต่ประชาชนก็มีความหลากหลาย มีความต้องการและเงื่อนไขในการดำรงชีวิตที่หลากหลาย แตกต่างออกไปตามอัตลักษณ์ต่าง ๆ ถ้ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองสามารถเข้าใจถึงอัตลักษณ์ที่หลากหลายได้ ก็จะสามารถออกแบบรัฐสวัสดิการ ออกแบบนโยบายกฎหมายต่าง ๆ ที่จะครอบคลุมให้กับประชาชนที่รุ่มรวยด้วยอัตลักษณ์ได้” ชานันท์กล่าว 

“เรื่องอะไรที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตยกินได้ ถ้าเป็นผู้หญิง ก็เรื่อง Period Poverty ที่เราสนใจมาก ๆ เพราะผ้าอนามัยมีราคาแพง และกลายเป็นภาระที่ผู้หญิงต้องจ่าย แม้ผู้ชายจะมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ก็เกี่ยวข้องกันนะ คือถ้าคุณมีลูกสาว 3 คน ก็ต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยเดือนละ 300 - 450 บาท นี่ก็เป็นปัญหาที่คนต้องแบกรับและเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน” ชานันท์ยกตัวอย่าง 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการสมรสอย่างเท่าเทียมและสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรของแรงงานชายที่ชานันท์กำลังสนใจและพยายามที่จะผลักดันต่อไปด้วยเช่นกัน 

“การสมรสอย่างเท่าเทียมก็สัมพันธ์กับปากท้องเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเรามีแฟน เราอยากอยู่บ้านกับคนรัก แต่เราแต่งงานกันไม่ได้ เราจะไปกู้ร่วมกันได้อย่างไร มันทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่สามารถมีบ้านดี ๆ ได้ มันก็เป็นปัญหา... หรืออย่างที่เราสนใจตอนนี้ คือแรงงานชายได้ลาเลี้ยงบุตร เหมือนกับแรงงานหญิง แต่ทันทีที่เราต้องดีลกับนายทุนหรือนายจ้าง ซึ่งเขาก็เป็นประชาชนเหมือนกัน เราจะต้องทำอย่างไรให้แต่ละฝ่ายได้รับประโยชน์ ได้รับสิทธิ์ในระดับที่พึงพอใจทั้งสองฝ่าย” ชานันท์ชี้

แม้การออกแบบนโยบายที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ และทำให้พวกเขาพึงพอใจมากที่สุดจะเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ชานันท์ก็ย้ำว่านี่เป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครเอาไว้เบื้องหลังเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook