น้ำแข็งแอนตาร์กติกละลายเร็วมากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของสหรัฐพบว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกละลายเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่คิดว่าแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์นี้จะ ละลายเร็วเหมือนแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกที่มีขนาดเล็กกว่า
วารสารเนเจอร์จีโอไซเอินซ์ตีพิมพ์รายงานของศูนย์วิจัยอวกาศ มหาวิทยาลัยเท็กซัสที่วิเคราะห์ข้อมูลจากโครงการค้นหาแรงโน้มถ่วงและทดลอง สภาพอากาศหรือ GRACE ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ดาวเทียมคู่แฝดของโครงการนี้เคยพบว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกและแผ่น น้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์กำลังละลายอย่างรวดเร็ว หากสองแผ่นนี้ละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 6-7 เมตร แต่หากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50-60 เมตร นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าแผ่นน้ำแข็งนี้จะละลายเพราะอยู่ในบริเวณที่ อากาศเย็นจัด ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ว่า ช่วงปี 2545-2549 แผ่นน้ำแข็งนี้อยู่ในสภาพเดิม แต่หลังจากปี 2549 เป็นต้นมาละลายมากถึงปีละ 57,000 ล้านตัน ขณะที่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกและแผ่นน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์ละลายปีละ 132,000 ล้านตัน และ 273,000 ล้านตันตามลำดับ
ด้าน ดร.ริชาร์ด อัลลี นักธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งชั้นนำของโลกเตือนว่า การอ่านข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมต้องรอบคอบ มีความเสี่ยงพลาดได้ เพราะทวีปแอนตาร์กติกามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว แผ่นน้ำแข็งหนาขึ้นมากในยุคน้ำแข็งล่าสุดเมื่อ 20,000 ปีก่อน และเมื่อแผ่นน้ำแข็งละลายแรงกดต่อหินใต้น้ำลดลงทำให้หินถูกดันสูงขึ้นมา