สรุปคำวินิจฉัยศาลฉบับเต็ม ปมจำกัดสมรสแค่ชายหญิงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

สรุปคำวินิจฉัยศาลฉบับเต็ม ปมจำกัดสมรสแค่ชายหญิงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

สรุปคำวินิจฉัยศาลฉบับเต็ม ปมจำกัดสมรสแค่ชายหญิงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ธ.ค.) ว่าเหตุใดศาลจึงมองว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานที่อนุญาตให้แค่คู่รักชายหญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ผู้อ่านสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ กดตรงนี้เลย และ Sanook.com ก็ถือโอกาสนี้สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ที่นี่ ดังนี้

1. การสมรสมีเป้าหมายเพื่อสืบเผ่าพันธุ์

ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัยดังกล่าว ย่อหน้าที่ 11 ว่า

"ความหมายของการสมรสหมายถึงการที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ภายใต้ศีลธรรม จารีตประเพณี หลักศาสนา และกฎหมายของแต่ละสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมเพื่อผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคมและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบทบาทที่เชื่อมโยงกับสถานบันอื่นๆ ของสังคม การสมรสจึงสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงตามเพศที่กำเนิดให้สามารถเป็นคู่สมรส เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้"

ย่อหน้าเดียวกัน ยังระบุอีกว่า "ความรักของคนเพศเดียวกันเป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ"

2. กฎหมายสมรสชายหญิงมีที่มาจากจารีตประเพณี

ย่อหน้าที่ 12 ระบุว่า

"กฎหมายจะบังคับใช้ได้ยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศนั้นๆ เพราะขบนธรรมเนียมและจารีพประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นกฎหมายตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีในแต่ละประเทศจึงอาจแตกต่างกัน ในเรื่องการสมรสตามจรีพประเพณี วิถีสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีพประเพณีที่มีมาช้านาน"

ย่อหน้าเดียวกันนี้มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

"การที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครบอครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้"

3. มาตรา 1448 ไม่ได้ห้ามกลุ่มเพศหลากหลายอยู่กินกัน

ช่วงท้ายของย่อหน้าที่ 12 ระบุว่า

"กฎหมายมิได้บังคับให้ชายหญิงทุกคู่ต้องสมรสกัน บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ต้องทำตามแบบของกฎหมาย ดังนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จึงไม่ได้จำกัดเสรีภาพของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในการอยู่ร่วมกันและมิได้มีข้อความไปจำกัดสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในการทำนิติกรรมใดๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม"

4. ต้องกำหนดชายหญิง เพราะชายหญิงเสมอภาค แต่ไม่เหมือนกัน

ข้อความตอนหนึ่งในย่อหน้าที่ 13 ระบุว่า

"นัยความหมายของความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิงมิใช่การบัญญัติกฎหมายให้ชายเป็นหญิงหรือให้หญิงเป็นชายเพราะเพศนั้นเป็นการแบ่งแยกมาโดยธรรมชาติ (an act of God) ซึ่งเพศที่ถือกำเนิดมานั้นเลือกไม่ได้"

"การให้ความเสมอภาคระหว่างชายหญิงจึงมิใช่การให้ถือว่าเหมือนกัน แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับเพศสภาพของบุคคลนั้นๆ"

5. รัฐไม่เสียเวลาพิสูจน์ความถูกต้องของการเบิกค่าใช้จ่าย

ย่อหน้าเดียวกันนี้มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

"เมื่อพิจารณาถึงการสมรสระหว่างหญิงชายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในด้านสวัสดิการของรัฐก็สามารถทำได้ง่าย เช่น การลาคลอด การลาบวช การเบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น หากไม่ได้กำหนดเพศไว้สำหรับกรณีดังกล่าวและเกิดกรณีสามีเบิกค่ารักษามะเร็งปากมดลูก ภริยาเบิกค่ารักษาต่อมลูกหมาก สามีเบิกค่าทำคลอด ทำให้ต้องมีการพิสูจน์ทั้งสภาพเพศและมีใบรับรองแพทย์ในทุกกรณี เมื่อคำนึงถึงสัดส่วนที่พึงจะเกิดขึ้นจึงเป็นการเพิ่มภาระให้รัฐและทำให้สิทธิของสามีภริยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ซึ่งเป็นมหาชนต้องถูกตรวจสอบไปด้วย ทำให้เกิดความล่าช้า มีอุปสรรค ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปโดยปริยาย"

6. เสี่ยงเปิดช่องจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังสวัสดิการของรัฐ

ยังไม่จบเท่านั้น ย่อหน้านี้ มีความตอนหนึ่งอีกว่า

"การไม่กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) มาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

7. กฎหมายปัจจุบันไม่ห้ามคู่รักทำพินัยกรรม-มีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สิน

ย่อหน้าที่ 14 มีข้อความระบุว่า 

"รัฐธรรมนูญและกฎหมายปัจจุบันมิได้ห้ามบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กัน มิได้ห้ามการจัดพิธีแต่งงาน มิได้ห้ามทำประกันชีวิตระบุให้คู่ชีวิตเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ มิได้ห้ามทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่คู่ชีวิต และทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็มิดได้ห้ามมิให้เป็นกรรมสิทธิ์รวม"

8. สิทธิ์เซ็นผ่าตัด-สวัสดิการ-เรียกค่าเสียหาย ไปแก้ในกฎหมายอื่นได้

เช่นกัน ย่อหน้าที่ 14 นี้ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

"การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการของคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิในฐานะทายาทโดยชอบธรรมนั้น เห็นว่า สิทธิดังกล่าวมิดได้เกิดจากสถานภาพการสมรสโดยตรง แต่เป็นสิทิธิที่เกิดขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ปัญหาดังกล่าวจึงสามารถแก้ไขโดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ ดังเช่น ที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ...."

9. ควรออกกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับสิทธิ LGBTQI+

ย่อหน้ารองสุดท้ายของคำวินิจฉัยนี้ ระบุว่า

"เมื่อบริบทสังคมโลกและสังคมไทยในปัจจุบันยอมรับและเริ่มมีการให้สิทธิแก่บุคคลเกี่ยวกับสถานะทางเพศอย่างกว้างขวางมากขึ้น รัฐควรมีมาตรการที่เหมาะสมและสนับสนุนให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อให้สิทธิและเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของบุคคลผุ้มีความหลากหลายทางเพศ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook