หมอยง ห่วงโควิดโอมิครอนหลุดมาตามช่องทางธรรมชาติ แนะเตรียมพร้อมรับมือ
"หมอยง" เตือนให้เตรียมพร้อมรับมือโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะจากช่องทางธรรมชาติ
วันนี้ (3 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
"โอมิครอน ถ้าการระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา โอมิครอนจะเข้ามาแทนที่เดลตาที่ระบาดไปทั่วโลก เดิมสายพันธุ์ที่ระบาดจากอู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ S และ L ประเทศไทยระบาดรอบแรก เป็นสายพันธุ์ S สายพันธุ์ L มีลูกมากกว่า แพร่กระจายได้เร็ว ไประบาดหนักที่ยุโรป ทำให้สายพันธุ์ S หายไป ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ระบาดได้เร็วกว่า จึงเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ L
หลังจากนั้นสายพันธุ์อังกฤษหรือแอลฟา ระบาดได้เร็วมาก ก็เข้ามาเบียดสายพันธุ์ G ดังเห็นได้จากสายพันธุ์ G ระบาดในประเทศไทย ระบาดที่สมุทรสาคร ในรอบ 2 ต่อมาสายพันธุ์แอลฟาหรืออังกฤษ เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอีก ก็ระบาดมาก และแทนที่สายพันธุ์ G
สายพันธุ์แอลฟา ระบาดสู้สายพันธุ์เดลตาไม่ได้ เดลตาเริ่มจากอินเดีย เข้ามาประเทศไทยโดยคนงานก่อสร้าง และก็ระบาดไปทั่วประเทศไทย ขณะนี้สายพันธุ์เดลตาระบาดทั่วโลก เพราะแพร่กระจายได้ง่าย มีการระบาดเป็นระยะเวลายาวนานกว่าสายพันธุ์อื่น
สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มจากแอฟริกาตอนใต้ มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดได้เร็ว อาจจะมายึดพื้นที่สายพันธุ์เดลตาได้ โดยเฉพาะอาจทำให้ระบาดทั่วโลกได้ ตามกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปการแพร่กระจายสายพันธุ์ต่างๆ ในอดีต มาสู่ประเทศไทย สามารถมาได้โดยบินมา เดินมา หรือว่ายน้ำมา
บทเรียนในอดีต สายพันธุ์ต่างๆ ที่บินมาจะถูกกักกันไว้ได้หมด สายพันธุ์ที่เข้าสู่ประเทศไทยแต่ละครั้งมักจะ “เดิน” มา เพราะเรามีพรมแดนธรรมชาติอันยาวไกล การป้องกันที่สำคัญจะอยู่ที่การเดินมามากกว่าที่บินมา
ถ้ามีการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอนได้เร็ว ก็จะมีโอกาสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และในที่สุด ประเทศไทยก็จะหนีไม่พ้นอย่างในอดีต เพียงแต่ยืดเวลาให้ช้าที่สุด เพื่อความเตรียมพร้อมหรือมีองค์ความรู้เกิดขึ้น พร้อมที่จะดูแล รักษา ป้องกัน
การเตรียมพร้อมรับมือสำหรับ "โอมิครอน" ไว้ก่อนล่วงหน้าสามารถทำได้โดย
1. การให้วัคซีน ในปัจจุบันต้องครอบคลุมให้ได้สูงสุด หรือเกือบทั้งหมดของประชากรที่ควรจะได้รับวัคซีน
วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน ถึงแม้ประสิทธิภาพต่อโอมิครอนจะลดลงบ้าง แต่ก็สามารถป้องกันความรุนแรง การเข้านอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ (จากข้อมูลของแอฟริกาใต้ ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 90% ไม่ได้ฉีดวัคซีน) วัคซีนในประเทศไทยขณะนี้มีเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะให้ได้กับคนทุกคน และเตรียมพร้อมที่จะกระตุ้นในเข็มที่ 3
2. การวินิจฉัยสายพันธุ์โอมิครอนให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ถ้าโอมิครอนหลุดรอดเข้ามา ก็ต้องวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็ว และมีทีมที่พร้อมจะเข้าไปควบคุมดูแล ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น
3. การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ด้วยมาตรฐานวิถีชีวิตใหม่ ยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด ด้วยการล้างมือ ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย และกำหนดระยะห่าง เพื่อให้มีจำนวนผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
การเตรียมพร้อม ต้องให้ทุกคนเข้าใจ ใช้ความรู้มากกว่าความเชื่อ สร้างความรู้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีความโปร่งใส และทุกคนจะต้องเคร่งครัดรักษาระเบียบวินัย จะช่วยลดการระบาดของโรคได้อย่างแน่นอน"