4 จังหวัดภาคใต้ น้ำยังท่วม "สุราษฎร์ธานี" ระดับน้ำตาปีเพิ่ม รพ.เปิดรับฝากรถ
4 จังหวัดภาคใต้ น้ำยังท่วม "สุราษฎร์ธานี" ไม่พ้นวิกฤต ระดับน้ำตาปีเพิ่มสูง รพ.เปิดรับฝากรถหนีน้ำท่วม
(5 ธ.ค.64) โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ติดป้ายประกาศรับฝากรถ ภายในโรงพยาบาล สำชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองท่าข้าม ชุมชนปากบาง ที่เคยถูกน้ำท่วมหนักเมื่อปี 54 ได้นำรถไปฝากจอดไว้ได้ เนื่องจากสถานที่ของโรงพยาบาลเป็นเนินสูงน้ำไม่สามารถท่วมได้ ลดการสูญเสีย ซึ่งตอนนี้ประชาชน เริ่มนำรถไปจอดไว้ที่สูงใกล้ๆ บ้านแล้ว เพราะน้ำตาปียังเพิ่มขึ้นเรื่อย
โดยสถานการณ์น้ำตาปี ช่วงอำเภอพุนพิน ณ จุดวัดน้ำ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ฯ ตำบลเขาหัวควาย อ.พุนพิน ระบบโทรมาตรเขื่อนรัชประภา พบว่า ระดับน้ำสูงกว่าจุดวิกฤติแล้ว 42 เซนติเมตร (ระดับวิกฤติ 2.15 เมตร) แต่ยังไม่ส่งผลให้น่ำท่วมโรงไฟฟ้า เพราะระดับน้ำที่จะท่วมโรงไฟฟ้าต้องอยู่ที่ระดับ 4.22 เมตร แต่พื้นที่ลุ่มริมตาปีได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เพิ่มเล็กน้อยและเริ่มทรงตัว
ด้านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานสถานการณ์อุทกภัย วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ข้อมูล เวลา 08.30 น. จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้กำลังแรง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณน้ำฝน 24 ชม. ฝนตกเล็กน้อย .
สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ กำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 – 5 ธันวาคม 2564 สรุปมีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 14 อำเภอ 75 ตำบล 429 หมู่บ้าน 15,193 ครัวเรือน 45,005 คน เสียชีวิต 3 ราย (อ.ไชยา 2 ราย และ อ.ท่าฉาง 1ราย)
- สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ จำนวน 8 อำเภอ (อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ อ.ชัยบุรี อ.เกาะพะงัน อ.เกาะสมุย อ.ไชยา อ.ท่าฉาง และ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี)
- ยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัย น้ำท่วมขัง จำนวน 6 อำเภอ (อ.พระแสง อ.เวียงสระ อ.เคียนซา อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม และ อ.พุนพิน ) รวม 23 ตำบล 106 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 2,755 ครัวเรือน 8,920 คน
แนวโน้มสถานการณ์ ฝนหยุดตก น้ำตาปีเริ่มลดลง ยังท่วมพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำตาปี ในส่วนพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยระดับน้ำลดลง ทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เน้นย้ำให้อำเภอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ
- แจ้งเตือนให้ราษฎรให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง ให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน
- เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกด้าน
- เตรียมความพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกลยุทโธปกรณ์ กำลังพล พร้อมให้ความช่วยเหลือ ตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อได้รับการร้องขอ
- จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 23 พ.ย.-5 ธ.ค.64 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง และนราธิวาส รวม 63 อำเภอ 281 ตำบล 1,464 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 70,771 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง รวม 17 อำเภอ 80 ตำบล 474 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,784 ครัวเรือน ดังนี้
- ชุมพร มีน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอหลังสวน รวม 10 ตำบล 33 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 701 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอพุนพิน อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีรวม 39 ตำบล 228 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,797 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาบอน อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอท่าศาลา รวม 30 ตำบล 208 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,033 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- พัทลุง น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง
ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-5 ธ.ค.64 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี และนครปฐม รวม 5 อำเภอ 68 ตำบล 575 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,421 ครัวเรือน โดยภาพรวมระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ดังนี้
- สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า รวม 28 ตำบล 240 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,015 ครัวเรือน
- นครปฐม ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน รวม 40 ตำบล 335 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,406 ครัวเรือน
สำหรับภาพรวมระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดย ปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังในการระบายน้ำออกจากพื้นที่และดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง