จับตาเฟซบุ๊ก ซ่องโจร สอนเด็กขโมยผัก-ขายเพื่อน
กระแสเว็บไซต์ออนไลน์ขนาดใหญ่อย่างเฟซบุ๊กได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก
และรั้งตำแหน่งเว็บไซต์อันดับ 5 ที่คนทั่วโลกเข้าใช้มากที่สุด นอกจากเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเข้าถึงง่ายแล้วยังมีโปรแกรมเสริมประเภทเกม ที่ออกแบบง่ายๆ สมาชิกทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างอิสรเสรี และสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารเข้ากับโทรศัพท์มือถือสนองตอบความต้องการของโลกยุค 3จี
ในนวัตกรรมใหม่ที่แฝงความทันสมัยและก้าวทันเทคโนโลยี สิ่งที่ผู้พัฒนาโปรแกรมมองข้ามคือความมีจริยธรรมและคุณธรรม อันเป็นรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณของผู้คนพึงทำให้สังคมสงบสุข เกมบางเกมมีรูปแบบก่อกำเนิดให้เป็นมิจฉาชีพอย่างไม่รู้ตัว เช่น Barn Buddy จำลองให้ทุกคนเป็นเจ้าของฟาร์ม โดยมอบที่ดินแปลงหนึ่งไว้ปลูกผัก คอยดูแลรดน้ำ พรวนดิน ฉีดยาฆ่าแมลง เมื่อผลผลิตโตก็นำไปขายได้ค่าตอบแทนเป็นเงินสมมติมาซื้อที่ดินเพิ่มขายแปลงผัก
ตัวเกมยังเปิดให้เพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ เข้าไปดูแลแปลงผักของเพื่อนๆ ได้ แล้วจะได้ผลตอบแทนเป็นเงิน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสในการขโมยผลผลิตของเพื่อนๆ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าผลตอบแทนในการเข้าไปดูแลอย่างถูกต้องหลายเท่าตัว ดังนั้น ผู้เล่นส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีขโมยผักไปขายมากกว่าการทำความดีตามครรลองคลองธรรม ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นยังกลั่นแกล้งด้วยการนำวัชพืชหรือแมลงไปปล่อยในแปลงผักคนอื่นด้วย
นอกจากนี้ ในเฟซบุ๊กยังมีเกม "Friend for Sale" หรือเกมขายเพื่อน ที่ผู้เล่นสามารถนำเพื่อนออกมาขายทอดตลาดได้ โดยมีชื่อเรียกว่า "Pets" (สัตว์เลี้ยง) โดยผู้ซื้อหรือเจ้าของสามารถใช้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ทำงานเป็นทาสได้ตลอดเวลา เช่น การออกเดท จะเป็นการออกเดทกับเจ้าของเองหรือไปกับคนอื่นก็ได้แล้วแต่คำสั่ง ขายดอกไม้ หรือล้างส้วม ฯลฯ เพื่อจะได้เงินกลับมาเยอะๆ ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็คือการค้ามนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงนั่นเอง ทำให้นักวิชาการแสดงความเป็นห่วงว่า จะเป็นการบ่มเพาะนิสัยลักขโมยแก่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้
ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดังและที่ปรึกษาศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ยอมรับว่า เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ผู้จัดทำโปรแกรมต้องพิจารณาถึงเรื่องจริยธรรมแก่สมาชิกเด็กและเยาวชนให้มาก ดังเช่นทั้งสองเกมข้างต้นมุมหนึ่งสอนให้รู้จักหน้าที่ คอยรดน้ำพรวนดิน รู้จักช่วยเหลือเพื่อน แต่อีกมุมหนึ่งคือการขโมยของ แม้เจ้าของฟาร์มจะป้องกันด้วยการซื้อสุนัขมาเฝ้า แต่ผู้ขโมยก็จะเรียนรู้พลิกแพลงวิธีขโมยไปเรื่อยๆ
"ผมมองว่าเฟซบุ๊กกำลังสร้างแบบฝึกหัดให้โจรระดับเยาวชนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ หากเขาขโมยจะได้ผักรวดเร็วและลงทุนน้อยกว่าการปลูกเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก สุดท้ายเฟซบุ๊กจะกลายเป็นสถาบันฝึกอบรมโจรรุ่นเยาว์ออนไลน์ไป จากนี้ไปลองจับตาเด็กและเยาวชนที่เล่มเกมเหล่านี้ดูว่า เขาจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ อาจะมีนิสัยลักเล็กขโมยน้อย โกหก โลภ ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และจะทำทุกทางเพื่อให้ได้มา ซึ่งเป็นผลที่ได้จากเกม"
ส่วนเกมขายเพื่อนนั้น ดร.วัลลภ มองว่า จะทำให้เด็กไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง บ่มเพาะให้เด็กเอารัดเอาเปรียบคนรอบข้าง กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีซี) ควรจะมีบทบาทมากกว่านี้ อย่าให้เกิดปัญหาแล้วค่อยออกมาแก้ไข สมควรตรวจสอบป้องกันอย่างจริงจังเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้สื่อลักษณะนี้เล็ดรอดออกไปสู่เด็กและเยาวชน
"อ้อ" เด็กหญิงวัย 10 ขวบ อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเป็นจริงในกรณีนี้ได้อย่างชัดเจน เธอสมัครเฟซบุ๊กเพราะชอบเล่นเกมปลูกผัก และคอยเฝ้าจับเวลาว่าอีกกี่นาทีหรือชั่วโมง ผักของเพื่อนจะสามารถขโมยไปขายได้ เมื่อนั้นอ้อก็จะมาเล่นเกมที่ร้านเน็ต โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือขโมยผักของเพื่อน...เพียงเท่านั้น
"หนูไม่ได้เล่นเฟซบุ๊กเพื่อติดต่อกับเพื่อนๆ แต่เอาไว้เล่นเกมขโมยผัก จะได้มีเงินซื้อที่ดินมากๆ แปลง" อ้อตอบประสาซื่อ
ผลกระทบจากเกม Barn Buddy เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว เมื่อผู้ปกครองเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.3 วัย 9 ขวบใน จ.เชียงใหม่ สังเกตเห็นลูกสาวเล่นเกมนี้ในเฟซบุ๊กแล้วเริ่มมีอาการหงุดหงิด ไม่มีสมาธิ แม้จะมีส่วนดีสร้างความรับผิดชอบในการดูแลฟาร์ม แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เข้าไปขโมยผลผลิตของเพื่อนไปขายได้ด้วย เนื้อหาของเกมนี้ส่งผลให้ลูกสาวมักเข้าไปขโมยของในฟาร์มของเพื่อนเป็นประจำ
ผู้ปกครองรายนี้แสดงความเป็นห่วงว่า เนื้อหาของเกมอาจจะไม่เหมาะสมกับเยาวชน โดยเฉพาะการเข้าไปขโมยของและให้รางวัลตอบแทนจากการขโมย นอกจากนี้ ยังมีการคุยโอ้อวดจนเกิดพฤติกรรมแข่งขันกันขโมยของ จึงเกรงว่าจะเป็นการปลูกฝังนิสัยขโมยของแก่เด็กในอนาคต เนื่องจากยังแยกแยะอะไรไม่ได้ จึงอยากให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาเกมด้วย
ด้าน นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ อธิบายว่า มนุษย์หรือสัตว์ชั้นสูงเช่นลิง จะมีเซลล์ที่เรียกว่า "เซลล์กระจกเงา" เป็นตัวบันทึกสิ่งที่ได้รับรู้ โดยไม่มีการแยกแยะว่าผิดหรือถูก ดังนั้น การเล่นเกมของเด็กจะถูกบันทึกไปด้วยเช่นกัน เกมที่ผู้ปกครองเป็นห่วงมีทั้งประโยชน์และโทษ เหมือนดาบสองคม และด้วยสภาพทางสังคมคงเป็นเรื่องยากที่จะสั่งห้ามผู้ผลิตเกมหรือห้ามเด็กเล่น
"วิธีป้องกันไม่ให้เด็กซึมซับเอาส่วนที่ไม่เหมาะสม ผู้ปกครองควรให้เล่นเกมในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ผู้ปกครองก็ต้องรู้เท่าทัน คอยดูแลให้คำแนะนำถึงความผิดชอบชั่วดี เพื่อให้เด็กซึมซับไปพร้อมๆ กันในขณะเล่นเกม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคต"
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไอทีซี บอกถึงขอบข่ายการทำงานของกระทรวงไอซีทีว่า สามารถควบคุมเว็บไซต์ที่มีผู้ร้องทุกข์เป็นคดีอาญาแล้วเท่านั้น เช่น เว็บไซต์หมิ่นสถาบัน การพนัน และลามกอนาจาร ฯลฯ ส่วนกรณีเกมขโมยผักในเฟซบุ๊กที่อาจฝึกนิสัยให้เยาวชนเป็นโจร ซึ่งเข้าข่ายการเตือนภัยเฝ้าระวังน่าจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมมากกว่า
อย่างไรก็ดี "ลัดดา ตั้งสุภาชัย" ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ยอมรับว่า การควบคุมจัดเรตติ้งเว็บไซต์ทำได้ยาก หลายเว็บไซต์มีกลไกทำงานอยู่ต่างประเทศ เช่น แคมฟรอก, ไฮไฟว์, เฟซบุ๊ก เกมในเว็บไซต์อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม สอนให้เด็กขโมยของนั้น เด็กๆ ที่เข้าไปเล่นเกมต้องได้รับวัคซีนคุ้มกัน โดยให้ผู้ปกครองคอยให้คำชี้แนะ คอยสอนเขาว่าการขโมยของเป็นสิ่งไม่ดีและผิดศีล แต่สังคมไทยมีปัญหาพ่อแม่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน ทำให้เด็กอาจสับสนว่าโลกเสมือนจริงเป็นโลกแห่งความจริง การแก้ปัญหาต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมมาร่วมกันแก้ไข เปิดเวทีพูดคุยสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนโดยเร็วจะเป็นการดีที่สุด