นิวแคลิโดเนียโหวตคว่ำประชามติเอกราช เลือกอยู่กับฝรั่งเศสต่อ

นิวแคลิโดเนียโหวตคว่ำประชามติเอกราช เลือกอยู่กับฝรั่งเศสต่อ

นิวแคลิโดเนียโหวตคว่ำประชามติเอกราช เลือกอยู่กับฝรั่งเศสต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ประชาชนในนิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสได้ออกมาร่วมกันลงประชามติประกาศเป็นเอกราชต่อฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ผลการลงคะแนนส่วนใหญ่กลับชี้ว่า ประชาชนชาวนิวแคลิโดเนียเลือกที่จะ “ไม่” ประกาศเป็นเอกราชต่อฝรั่งเศส

ผลคะแนนกว่า 96.5 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในนิวแคลิโดเนีย ให้การสนับสนุนตัวเลือก “ไม่” ซึ่งจะทำให้นิวแคลิโดเนียยังคงมีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลภายใต้อธิปไตยของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี การลงประชามติในครั้งนี้ถูกกลุ่มผู้รณรงค์การประกาศอิสรภาพของนิวแคลิโดเนียออกจากฝรั่งเศสตัดสินใจคว่ำบาตร ด้วยเหตุผลของการระบาดโควิด-19

กลุ่มชนพื้นเมืองชาวคานัค คือกลุ่มผู้รณรงค์การประกาศอิสรภาพของนิวแคลิโดเนียออกจากฝรั่งเศส ได้ประกาศคว่ำบาตรการทำประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เนื่องจากนิวแคลิโดเนียยังอยู่ภายใต้ช่วงเวลาของการไว้ทุกข์ 12 เดือน จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นของโควิด-19 ที่ระบาดหนักในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา ก่อนที่ชนพื้นเมืองชาวคานัคจะมีการเรียกร้องให้มีการจัดการลงประชามติในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ.2022 แทน

ผลสำรวจก่อนหน้านี้ใน ค.ศ.2018 และ 2020 ระบุว่า มีประชาชนจำนวน 57 เปอร์เซ็นต์ และ 53 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศเอกราชของของนิวแคลิโดเนียต่อฝรั่งเศส ก่อนที่ผลการทำประชามติล่าสุด ที่มีประชาชนร่วมลงประชามติอยู่ต่อกับฝรั่งเศสกว่า 96.5 เปอร์เซ็นต์ ได้ช่วยตอกย้ำว่านิวแคลิโดเนียจะยังคงอยู่ภายใต้ฝรั่งเศสต่อไป

“ชาวแคลิโดเนียเลือกที่จะอยู่กับฝรั่งเศสต่อไป พวกเขาตัดสินใจอย่างเป็นเสรี” เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศผ่านทางโทรทัศน์หลังผลประชามติของนิวแคลิโดเนียออก ในขณะที่มาครงเองชี้ว่า การเมืองฝรั่งเศสกำลังถูกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ “ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านได้เริ่มขึ้นแล้ว” มาครงระบุ

ในทางตรงกันข้าม โรช วามีตอง ประธานรัฐสภาของนิวแคลิโดเนีย ซึ่งเป็นผู้นำการรณรงค์การประกาศอิสรภาพของนิวแคลิโดเนียระบุว่า การลงประชามติในครั้งที่สามนี้ไม่มีความชอบธรรม เพราะนิวแคลิโดเนียยังอยู่ในช่วงเวลาของการไว้ทุกข์ 12 เดือน จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยโควิด-19

“สำหรับเรา ประชามติในครั้งนี้ไม่ใช่การลงประชามติในครั้งที่สาม เราคิดว่าการลงประชามติที่ชอบธรรมเกิดขึ้นแค่เพียงใน ค.ศ.2018 และ 2020 การทำประชามติครั้งนี้เป็นการทำประชามติของรัฐฝรั่งเศส ไม่ใช่ของเรา” วามีตองระบุ ทั้งนี้ กระบวนการรณรงค์การประกาศเอกราชของนิวแคลิโดเนียออกจากฝรั่งเศสเริ่มขึ้นตั้งแต่ราว ค.ศ.1988 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ดินแดนนิวแคลิโดเนียตั้งอยู่บริเวณใกล้กันกับทวีปออสเตรเลียไปทางตะวันออก 1,200 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของฝรั่งเศสในการขยายอิทธิพลของตน เข้ามาสู่บริเวณภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่อยู่ห่างจากแผ่นดินฝรั่งเศสกว่า 20,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ นิวแคลิโดเนียมีทรัพยากรอย่างแร่นิเกิลเป็นจำนวนมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook