ทักษิณ-ฮุนเซน ความสัมพันธ์คลุมเครือ เพื่อนกินหรือเพื่อนตาย

ทักษิณ-ฮุนเซน ความสัมพันธ์คลุมเครือ เพื่อนกินหรือเพื่อนตาย

ทักษิณ-ฮุนเซน ความสัมพันธ์คลุมเครือ เพื่อนกินหรือเพื่อนตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บานปลายจนเรียกได้ว่ากู่ไม่กลับ ถึงกลับได้ก็คงไม่เหมือนเดิม ต่อให้เหมือนเดิมก็อาจจะใช้เวลานานนับปี สำหรับปัญหาความขัดแย้งที่คลุมเครือในอดีตบวกทบเท่าทวีเสริมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติไทยและประเทศกัมพูชา ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเปราะบางมาก แต่ดูจะตรงข้ามกับมิตรภาพของสมเด็จฮุน เซน กับ อดีตนายกฯทักษิณ ที่ยังแน่นแฟ้น

เพราะหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคดีแล้วระหกระเหินออกนอกประเทศบ้านเกิด ไปพำนักตามประเทศต่างๆพร้อมกับผูกสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับชาตินั้นๆด้วย และหนึ่งในประเทศล่าสุดที่ให้แหล่งพักพิงกับอดีตนายกฯเมื่อยามตกทุกข์ได้ยากก็คือ เพื่อนบ้านไทยอย่างกัมพูชา

นายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุน เซน ผู้นำชาวกัมพูชา ให้ต้อนรับขับสู้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างดี สมเด็จฮุน เซนถึงกับเอ่ยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพื่อนตลอดกาล ทั้งยังแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและการคลัง ของกัมพูชา และในวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ยังได้กำหนดให้อดีตนายกฯ ไปบรรยายสรุปให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของกัมพูชาประมาณ 300 คนฟังด้วย ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน เป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของไทย และทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมความเข้มแข็ง แถมยังเป็นการหยิบเอาผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่เหนือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้ง 2

หากมองย้อนกลับไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาที่เป็นปัญหาสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ต้องยกให้เรื่อง "เขาพระวิหาร" ศาสนสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักกั้น ระหว่างแผ่นดินเขมรต่ำ กลุ่มเมืองพระนคร และเขมรสูงในภาคอีสานของไทย สร้างขึ้นก่อนนครวัดถึง100 ปีอยู่ในจังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา ติดชายแดนไทย ที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

เดิมทีประเทศกัมพูชาเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. 2406 และหากยึดตามตามอนุสัญญา พ.ศ. 2447 ก็จะต้องกำหนดตามเขตแดนธรรมชาติคือ สันปันน้ำ ซึ่ง ไทยยืนยันว่าสันปันน้ำเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตไทย แต่แผนที่ฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำขึ้นกำหนดปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในกัมพูชา ไทยจึงเล็งเห็นความไม่ยุติธรรม การแสดงความเอนเอียงที่ฝรั่งเศสมีต่อกัมพูชา

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กลับกลายเป็นจุดเล็กที่บ่อเกิดเป็นไฟลามทุ่งขนาดใหญ่ ความสัมพันธ์เริ่มจะสั่นคลอนด้วยการแย่งชิง "อาณาบริเวณ" ที่ต่างฝ่ายต่างมีหลักฐาน และนี่คือพื้นที่ของประเทศตน แล้วอะไรเล่าถึงทำให้ "เขาพระวิหาร" คือ บ่อเกิดแห่งการเริ่มต้นที่สั่นคลอนของทั้ง 2 ปรเทศ เรื่อยมา

กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2550 ประเทศกัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสเชิร์ช นิวซีแลนด์ ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ประเทศไทยมีปัญหาว่าแผนที่ที่กัมพูชาแนบท้ายว่าเป็นอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารนั้นได้ขีดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในบริเวณทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาท ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อน และได้ขีดเส้นเขตแดนประเทศล้ำเข้ามาในฝั่งไทย เมื่อเห็นดังนั้นกระทรวงต่างประเทศ จึงหารือกับทางกัมพูชา เพื่อให้ร่วมกับฝ่ายไทย จดทะเบียนโบราณสถานอื่นในเขตไทยและพระวิหารของกัมพูชาร่วมกันในทีเดียว เพื่อความสมบูรณ์ของบริเวณพระวิหาร และให้กัมพูชาเปลี่ยนแผนที่ให้ไม่ล้ำเข้ามาในเขตไทยและพื้นที่ทับซ้อน และได้ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 เลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนของกัมพูชาออกไป

จนวันเวลาผ่านมาถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 สภากลาโหมของไทยมีมติประท้วงกัมพูชาในกรณีเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงลำพังและกล่าวหาว่ากัมพูชาสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ ทั้งนี้ฝ่ายกองทัพได้แสดงท่าทีวิตกว่าอาจเกิดความรุนแรงในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาได้ แล้วความวิตกนั้นก็เกิดขึ้นเมื่อกองกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันบริเวณชายแดน จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันหลายหน

ส่วนอดีตผู้นำประเทศของไทยอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กลับแสดงความเห็น(เอา)ใจกัมพูชา โดยโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว และตอบคำถามเพื่อนสมาชิกว่า "รู้ไหมว่า เขาพระวิหารเป็นของเขมร เพราะเราแพ้คดีที่ศาลโลกเมื่อสมัยจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกฯ คุณเสนีย์ ปราโมทย์ เป็นทนาย ผมยังเอาค่าขนมบริจาค" เป็นการชี้นำให้เห็นว่า เขาพระวิหารมีเขมรเป็นเจ้าของ

พ.ต.ท.ทักษิณ-สมเด็จฮุน เซน เพื่อนตลอดกาล จริงหรือ ?

แม้ว่า สมเด็จ ฮุนเซน จะออกมาพูดย้ำความสัมพันธ์ของเขา ระหว่าง พ.ต.ทักษิณ ว่ามีความแน้นแฟ้นกันมากแค่ไหน แต่หากมองย้อนกลับไปกับเหตุการณ์เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไปทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารในประเทศกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2532 ชื่อ "บริษัทไอบีซีแคมโบเดีย" ที่สามารถทำสัญญาผูกขาดคลื่นสัญญาณ ผูกขาดเครื่องโทรศัพท์ ได้สัมปทานโทรทัศน์และวิทยุ เป็นเวลานานถึง 99 ปี

หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำธุรกิจในเขมรได้เพียง 4-5 ปี รัฐบาลกัมพูชาขณะนั้นเป็นรัฐบาลผสม 2 พรรคใหญ่คือ พรรคฟุนซินเปกและพรรคประชาชนกัมพูชา มีนายกรัฐมนตรีร่วมสองคนคือ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ และฮุนเซน เริ่มถูกโจมตีในเรื่องการขายทรัพยากรให้ต่างชาติเข้ามาผูกขาด ทำให้ ฮุนเซน ซึ่งถือว่ามีอำนาจมากที่สุดได้ลดอายุสัมปทานลงมาเหลือ 30 ปี และเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติรายอื่นๆเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันด้วย

การเปลี่ยนแปลงในเรื่องสัมปทานที่เกิดขึ้น สร้างความไม่พอใจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และนำไปสู่ข้อกล่าวหาที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทุ่มเงินจ้าง นายพลสินสอง ของกัมพูชา พร้อมคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในจำนวนนั้นมี พ.ต.ท.อดุลย์ บุญเสรฐ อดีต ส.ส.พิจิตร พรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมคบคิดกันก่อรัฐประหารยึดอำนาจฮุนเซน แต่ปฏิบัติการล้มเหลวจน นายพลสินสองต้องหลบหนีมากบดานในไทยอยู่พักหนึ่ง

กระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์บุกเผาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 โดยชาวกัมพูชาเกิดความไม่พอใจ สาเหตุจาก ดาราสาวไทย กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ให้คำสัมภาษณ์ในเชิงดูหมิ่นชนชาวเขมร และผลของการก่อม็อบวินาศกรรมครั้งนั้น นอกจากการบุกเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยแล้ว ยังมีบริษัทและกิจการของไทย รวมทั้งบริษัทชินวัตร เทเลคอมฯ ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ถูกบุกทำลายด้วย แต่ความเสียหายนั้นกลับมากกว่าที่เกิดกับสถานทูตไทยหลายเท่านัก

มองจากสถานการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนกับเป็นการแก้แค้นตอบโต้กันไปมาของ สมเด็จฮุน เซน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ปัจจุบันชายทั้งสองกลับเรียกได้ว่า ต่างคนเป็นเพื่อนสนิทสนม

พ.ต.ท.ทักษิณ จึงกลายเป็นหมากสำคัญเพื่อเอื้อประโยชน์ หรือเป็นเพื่อนรักอย่างที่ สมเด็จ ฮุนเซน เคยพูดไว้ ?

และความสัมพันธ์ของคนทั้ง 2 กลับยิ่งตอกย้ำ และเหมือนสร้างความแคลงใจให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยยิ่งนัก เมื่อเขมรให้แหล่งพักพิงทั้งยังแต่งตั้งตำแหน่งทางการเมืองให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี จากความขัดแย้งภายในประเทศจึงสานต่อเป็นระหว่างประเทศ และกัมพูชายืนกรานจะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ไทย ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยอ้างว่าเป็นคดีทางการเมือง แม้ว่าไทยจะยกเลิกสัญญาMOU เพื่อกดดันกัมพูชาก็ตาม

ทว่านายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ภาวะนิ่ง เพื่อดูทีท่าของเขมรนั้น โดยการออกมาเรียกร้องถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ประเทศ

"ข้อแรก เกิดจากสมเด็จฮุน เซน ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ข้อที่สอง คือ ผู้นำเขมรต้องแสดงจุดยืนที่แน่นอน คิดว่านายกฯ ฮุนเซนจะ ต้องคิดให้ดีว่า จะยืนยันการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมกันของ คนทั้ง 2 ชาติเพื่ออะไร ผมก็เห็นว่า ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความอาวุโสอย่าไปเป็นเหยื่อและเป็นเบี้ยให้ใครเลย" นายกฯอภิสิทธิ์ กล่าว

คำพูดของนายกรัฐมนตรี อย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทิ้งท้ายไว้ คงทำให้สมเด็จ ฮุนเซนได้ครุ่นคิด และไตร่ตรองว่าควรจะเลือกความสัมพันธ์แบบใด

ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิน ในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและเพื่อนสนิทสมเด็จฮุน เซน แสดงความช่วยเหลือวิศวกรไทยที่โดนจับในกัมพูชา ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์อดีตผู้นำไทยคนนี้เพิ่มกระแสด้านบวกขึ้น และส่งผลถึงการทำงานของรัฐบาลไทย ในการจัดการเรื่องนี้ คะแนนความนิยมจะตกแก่ใคร และเขมรจะทำเช่นไรต่อไป คงต้องติดตาม

ท้ายสุด ความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำเขมรและอดีตผู้นำของไทย จะเป็นเพียงสิ่งที่ฉาบเอาไว้ เสมือน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หรือเป็นเพียงการอุ้มชูเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่มันคุ้มค่าจริงหรือ ที่ต้องนำมิตรภาพอันแฝงนัยและความคลุมเครือมาแลกกับความสัมพันธ์และผลประโยชน์ของชาติทั้งสอง

เรื่องราวโดย

Monato

                                                           

แหล่งข้อมูล
- กรุงเทพธุรกิจ
- เดลินิวส์ออนไลน์
- โพสต์ทูเดย์
- http://talk.mthai.com/
- http://www.oknation.net/blog/arya-tirawej

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook