คนกลางคืน-ผับบาร์ ได้ของขวัญปีใหม่! แรงงานจ่อชง ครม. เยียวยา 5,000 บาท

คนกลางคืน-ผับบาร์ ได้ของขวัญปีใหม่! แรงงานจ่อชง ครม. เยียวยา 5,000 บาท

คนกลางคืน-ผับบาร์ ได้ของขวัญปีใหม่! แรงงานจ่อชง ครม. เยียวยา 5,000 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงแรงงานเตรียมเยียวยากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงานกลางคืน ในอัตราคนละ 5,000 บาท จ่ายให้เพียงครั้งเดียว จ่อเสนอ ครม.อนุมัติ 21 ธ.ค.นี้ คาดจ่ายงวดแรก 29 ธ.ค. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงาน พร้อมให้การดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่และสถานประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้รับการเยียวยาทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และคนทำงานในกิจการสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ

ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ สำนักงานประกันสังคม ดูแลและเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยในวันนี้ (16 ธันวาคม 2564) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ประชุมหารือกับผู้แทนสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง นำโดย คุณสุดา ชื่นบาน อุปนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย คุณฝอยทอง เชิญยิ้ม สมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย คุณนัฐชา นาโค เลขานุการชมรมศิลปินตลกและบันเทิง ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง ว่า การประชุมหารือในวันนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับจากมาตรการของรัฐในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนในกิจการดังกล่าว ได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 5,000 บาทต่อคน โดยจะจ่ายเงินเพียงรอบเดียว เนื่องจากประเมินว่าปัญหาโควิดไม่น่าจะส่งผลกระทบไปมากกว่านี้แล้ว แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ด้าน นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงผู้ที่ได้รับสิทธิเยียวยาว่า จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การรับรอง ภายในวันที่ 14 มกราคม 2565

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้รีบสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พร้อมรีบชำระเงินสมทบให้ทันภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 และให้ทางสมาคมฯ ดังกล่าวข้างต้น รับรองภายในวันที่ 28 มกราคม 2565 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจกลุ่มสมาคมศิลปินกลางแจ้ง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมขอย้ำคนที่จะได้รับเงินเยียวยาจะต้องได้รับการรับรองจากสมาคมฯ เท่านั้น ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ผูกบัญชีกับเลขบัตรประชาชน เริ่มจ่ายเงินเยียวยางวดแรกในวันที่ 29 ธันวาคม 2564

สำหรับโครงการเยียวยากลุ่มคนทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับสถานบันเทิงภาคกลางคืนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งจะมีกลุ่มคนทำงานบันเทิงเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 อีกจำนวน 1.3 แสนคน ได้รับประโยชน์จากโครงการเยียวยาฯ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 600 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องผู้ประกันตนที่ทำงานเกี่ยวกับสถานบันเทิง

ขณะที่ นางสุดา ชื่นบาน อุปนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนศิลปิน กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานประกันสังคม ที่ออกมาตรการเยียวยาดังกล่าว เพราะศิลปินและคนบันเทิงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องการทำงาน และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการเยียวยา โดยการเยียวยาจะรวมถึงลิเก, ตลก, นักร้อง, นักดนตรีพื้นบ้าน-พื้นเมือง ซึ่งสามารถยื่นคำขอเข้ามาที่สมาคมฯ เพื่อให้การรับรองต่อไป รวมทั้งผู้ที่ขาดส่งเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 ยังสามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน ส่วนคนอายุเกิน 65 ปีที่ไม่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาจาก สปส. ทางสมาคมฯ จะรวบรวมรายชื่อส่งให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook