งานเขียน รางวัลลูกโลกสีเขียว 2552 1 ทศวรรษเพื่อการรักษ์โลก

งานเขียน รางวัลลูกโลกสีเขียว 2552 1 ทศวรรษเพื่อการรักษ์โลก

งานเขียน รางวัลลูกโลกสีเขียว 2552 1 ทศวรรษเพื่อการรักษ์โลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ลมตะวันออก

ประกาศผลงานเขียน"รางวัลลูกโลกสีเขียว"2552

ช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา กับการกำเนิดรางวัลลูกโลกสีเขียว ที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อต้องการจะค้นหาบุคคล ชุมชน เยาวชน และผู้สร้างสรรค์ผลงานเขียน ที่มีแนวความคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นเป็นที่ ประจักษ์ โดยประกาศยกย่องพร้อมมอบกำลังใจให้สำหรับการทุ่มเทแรงกายแรงใจ และความคิดในการอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากรางวัลประเภทบุคคล ชุมชน เยาวชน แล้ว...งานเขียนก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่รางวัลลูกโลกสีเขียวให้ ความสำคัญ เพราะสามารถจะกระตุ้นความคิดและปลูกจิตสำนึกที่ดีเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่ง แวดล้อมที่นับวันจะเสื่อมโทรม ให้กลับฟื้นคืนสู่สภาพที่ดีได้นั่นเอง

และตลอดระยะเวลา 10 ที่ผ่านมานั้น มีผลงานเขียนหลายประเภทที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ สารคดี ตลอดจนหนังสือสำหรับเด็กประเภทหนังสือการ์ตูนและวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งจากจุดเริ่มต้นของการก้าวย่างมาจนถึงปีนี้นั้น ผลงานเขียนประเภทต่างๆ ที่ได้รับการประทับตรารางวัลลูกโลกสีเขียว โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการที่หลากหลายนั้น นอกจากจะบ่งบอกถึงคุณภาพในเนื้อหาสาระแล้ว...ยังทำให้ผลผลิตของรางวัลนี้ แพร่หลายในสังคมวงกว้างมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นรางวัลงานเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ทั้งจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการจัดตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา

สำหรับ ปี 2552 นี้ ประเภทผลงานเขียนที่ผ่านการพิจารณาและได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการมีดังนี้


รางวัลดีเด่น

ผลงานนิทานชุด อาณาจักรขยะหรรษา ผลงานของ พิณประภา ขันธวุธ ประกอบด้วยนิทานสั้นๆ จำนวน 16 เรื่อง ที่ร้อยเรียงเรื่องราวการอนุรักษ์พลังงานกู้วิกฤตโลกร้อน โดยผู้เขียนเล็งเห็นความสำคัญในการปลูกฝั่งให้เยาวชนรู้จักรักษ์โลกด้วยวิธี ง่ายๆ ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านการเคลื่อนไหวของตัวละครในนิทาน เพื่อความสนุกเพลิดเพลินและชี้ให้เห็นว่าทุกชีวิตมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกใบ นี้

กองไฟเล็กๆ ของกระรอกน้อย : เพียงกองไฟเล็กๆ ก็สร้างความเสียหายให้ป่าไม้ได้ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ เด็กชายใบสนกับปิ่นโตสามใบเถา : การใช้ปิ่นโตแทนกล่องโฟมก็ช่วยลดการสร้างขยะให้กับโลก ตุ้บตั้บกินข้าวไม่หมดจาน : อย่าคิดว่าเศษอาหารที่เหลือติดจานไม่สำคัญนะ! ถุงผ้าของเด็กหญิงแก้มบุ๋ม : ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกลดโลกร้อนได้ยังไงหนอ? สมุดบันทึกของเด็กหญิงสีรุ้ง : เศษกระดาษที่ถูกละเลยกลับแปลงร่างเป็นสมุดบันทึกเล่มเดียวในโลก หมู่บ้านหมอกสีดำ : เมื่อโรงงานผลิตหมอกพิษออกมาแล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไร หิ่งห้อยน้อยใจ : บ้านของใคร-ใครก็รักแม้แต่หิ่งห้อยตัวน้อยๆ ก็เถอะ! อาณาจักรขยะหรรษา : ขยะ! ขยะ! ใครนะว่าขยะไร้ค่า? ในกองขยะอาจมีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่ก็ได้!

ของขวัญสีเขียว : ใครกำลังมองหาของขวัญในวาระโอกาสต่างๆ แต่จะมีใครคิดบ้างนะว่าของขวัญเหล่านั้นส่งผลอะไรกับโลกกลมๆ ของเราบ้าง จิ๋วกับจ้อย ร่วมพลังกู้โลก : หลอดไฟที่ให้ความสว่างแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติต่างกันไปการเลือกใช้ให้เหมาะ สมช่วยลดพลังงานของโลกได้นะ ถังขยะสี่สหาย : เอ๊ะ! จะมีใครสังเกตไหมหนอ? ถังขยะแต่ละสีใช้อย่างไรเอ่ย? เทวดาน้อยปีกหาย : มาช่วยเทวดาน้อยปีกหาย นำของขวัญไปให้พระราชากันเถอะ! แต่เทวดาไม่มีปีกจะเดินทางอย่างไรให้ประหยัดพลังงานหนอ? ผ้าพันคอมหัศจรรย์ :อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ร่างกายอ่อนแอได้อย่างไร? สงครามอารมณ์ดี : มาดูกันซิว่า การแข่งขันอนุรักษ์งานเพื่อลดโลกร้อนวิธีไหนจะได้ที่หนึ่ง ฮัดเช้ย! ล่องหน : โอ๊ย! แย่แล้ว!! ถ้าจาม ฮัดเช้ย 3 ครั้งแล้วร่างกายจะหายวับ! ทำยังไงไม่ให้จามฮัดเช้ยละ! เด็กหญิงทะเลน้อยกับวันหยุดในฤดูร้อน : ผจญภัยในวันหยุดกู้แม่น้ำที่ดำเหม็นให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

ทุกลมหายใจล้วนเชื่อมโยงถึงกัน ไม่ว่าเราจะทำสิ่งใดย่อมกระทบต่ออีกสิ่งหนึ่งเสมอ และเช่นเดียวกัน ทุกสิ่งย่อมต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน และสิ่งเล็กๆ ที่เราทำร่วมกันจะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยรักษาโลกกลมๆ ใบนี้ให้น่าอยู่ไปอีกนานเท่านาน

รางวัลชมเชย 3 รางวัล

1.ผลงานสารคดีเรื่อง ไม่ใช่แค่กาแฟ แต่คือการอยู่ร่วม : โดย รวิวาร โฉมเฉลา

เรื่องราวการรวมกลุ่มของเกษตรกรชนเผ่าบ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย ซึ่งเดิมเพาะปลูกพืชผลทำการเกษตรเหมือนชาวนาชาวไร่ตามพื้นราบทั่วไป และประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ มีหนี้สินจากการขายพืชผลไม่ได้ราคา โชคดีที่พวกเขาได้รวมกลุ่มกันคิดค้นหาทางแก้ปัญหา อีกทั้งได้พบสิ่งล้ำค่าคือ กาแฟ เกิดการพัฒนาต่อยอด กระทั่งได้กาแฟเกรดเอ คุณภาพระดับโลก โดยเนื้อหาสาระสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการมีส่วนร่วมที่ประสบความสำเร็จของ ชุมชน "สถาบันกาแฟ" (Academy of coffee) ยังเปิดต้อนรับพี่น้องจากชุมชนต่างๆ เพื่อเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงาน ทั้งเรื่องการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นอกเหนือจากการให้ความรู้ และฝึกอบรมเรื่องกาแฟ

2.หิ่งห้อยปีกบาง...กับการเดินทางของน้ำใส โดย อุไรรัตน์ โรจจ์นานนท์

เรื่องราวของครอบครัวของน้ำใสและออมสิน ชนชั้นกลางในเมืองกรุงที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงที่แสนหวานของเด็กๆ เพราะพ่อแม่ได้ลาพักร้อนเพื่อพาไปเที่ยวในสถานที่สวยๆ ทุกปี แต่ในปีนี้ พ่อกับแม่ได้พาน้ำใสและออมสินไปพักโฮมสเตย์ของเพื่อนที่อัมพวา เรื่องราวสนุกสนานก็เกิดขึ้น เมื่อน้ำใสได้รู้จักเพื่อนใหม่ชื่อ ใบไผ่ ลูกชายเจ้าของโฮมสเตย์ และใบไผ่ยังทำหน้าที่เป็นไกด์ยุวชนอีกด้วย

น้ำใส และออมสิน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการได้เดินเล่นที่ตลาดน้ำ การทำอาหาร เล่นดนตรีไทย เล่นน้ำในลำคลอง ชมสวน ทำน้ำตาลปี๊บ และเที่ยวชมวัดวาอาราม รวมไปถึงได้เล่นของเล่นแปลกตาที่ไม่มีในเมืองกรุง และที่สำคัญสิ่งที่น้ำใสอยากเห็นก็เป็นจริง เมื่อน้ำใสได้สัมผัสกับหิ่งห้อยที่เคยอ่านเจอในนิทาน การได้มาเที่ยวอัมพวาจึงสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับน้ำใสและออมสินเป็น อย่างมาก
น้ำใส และออมสิน สัญญากับใบไผ่ว่า ปีหน้าจะกลับมาเที่ยวอัมพวาอีกครั้ง เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตแบบพอเพียง

3.ซีอีโอท้องทุ่ง หนังสือฮาวทูฉบับติดดิน โดย ดวงใจ รุ่งโรจน์เจริญกิจ, พุทธิณา นันทะวรการ, รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด และธัญญาภรณ์ สุรภักดี มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

"ซีอีโอท้องทุ่ง"เป็นหนังสือแนวสารคดีกึ่งไดอารี่ ที่แปลงมาจากรายงานการวิจัยเรื่อง "การประเมินผลกระทบทางสุขภาพของการเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตเกษตรเคมีสู่เกษตร ยั่งยืน" ที่สะท้อนเรื่องราวของเหล่าเกษตรกรนักสู้ที่พยายามดึงตัวเองให้หลุดพ้นจาก วงจรเกษตรเคมี

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเรียบเรียงเรื่องราวของเหล่าเกษตรกรในการบริหาร จัดการทุนทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นทุนมนุษย์ที่ทำให้รู้จักคิด รู้จักค้น รู้จักเลือก และรู้จักจัดการให้ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน และทุนทางสังคม ให้เกิดความงอกเงยและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ในการต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ทำให้ซีอีโอท้องทุ่งค้นพบสัจธรรม และแก่นแท้ของเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มากไปกว่าการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การ "ลด ละ เลิก" การใช้สารเคมี แต่มองถึง "คุณค่า และจุดสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม" การบริหารจัดการทุนทั้ง 5 ที่มิได้มุ่งตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงระบบชีวิตที่เกื้อกูล ที่จะนำพาไปสู่ความอยู่ดีมีสุขที่แท้จริง

สำหรับนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าทั้งหมด จะขึ้นรับรางวัลจากอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการตัดสิน ในวันอังคารที่ 24 พ.ย. 2552 นี้ เวลา 10.20 น. ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ งานเขียน รางวัลลูกโลกสีเขียว 2552 1 ทศวรรษเพื่อการรักษ์โลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook