เชียงรายแถลง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าข่ายโอมิครอน รายแรก รอผลตรวจยืนยัน
"เชียงราย" พบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายโควิดโอมิครอนรายแรก เป็นชาวอังกฤษเดินทางจากสุวรรณภูมิลงเชียงใหม่พร้อมเพื่อนอีก 3 คน ต้องรอผลตรวจยืนยันอีกครั้ง
(21 ธ.ค.64) ที่ห้องพญาพิภักดิ์ ศาลากลาง จ.เชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายแพทย์วัชพงศ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และนายแพทย์อิทธิพล ยอดประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 เข้าข่ายสายพันธุ์โอมิครอนเป็นรายแรกใน จ.เชียงราย
โดย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ชาย อายุ 36 ปี ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องสงสัยเข้าข่ายสายพันธุ์ โอมิครอน ในจังหวัดเชียงราย มีประวัติหรือไทม์ไลน์เดินทางจากประเทศอังกฤษไปเปลี่ยนเครื่องบินที่นครดูไบ แล้วเดินทางต่อมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เข้ารับการตรวจ RT-PCR และรอฟังผล 1 วัน ซึ่งพบผลเป็นลบจึงพักที่โรงแรม 2 คืน ก่อนเดินทางด้วยเครื่องบินไปยัง จ.เชียงใหม่ และพร้อมด้วยเพื่อนชาวอเมริกันจำนวน 3 คน ว่าจ้างรถยนต์พาไปส่งที่ จ.เชียงราย โดยแวะปั๊มน้ำมันที่แม่ขาน และแวะเที่ยววัดร่องขุ่นเป็นเวลาช่วงสั้นๆ จากนั้นเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.เชียงของ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564
จากนั้นช่วงเย็นได้รับประทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่ช่วงเย็นชาวอังกฤษมีไข้สูงและเจ็บคอเล็กน้อย จึงไปที่ร้านขายยาเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK ปรากฎว่าผลเป็นบวกและช่วงเช้าก็ได้มาตรวจซ้ำอีกพบผลเป็นบวกเหมือนเดิมจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของและไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ อ.เมืองเชียงราย โดยมีไข้สูง 38 องศาเซลเชียส และเมื่อตรวจแบบ RT-PCR พบผลเป็นบวก อย่างไรก็ตามจังหวัดได้ส่งตัวอย่างไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อรอผลยืนยันอีกครั้งซึ่งยังไม่ได้รับแจ้งผลอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด กระนั้นที่ผ่านมาเนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ได้มีการตั้งทีมระบาดวิทยาสายพันธุ์โอโมครอนเอาไว้แล้วจึงทำให้พบผู้ป่วยรายแรกอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้สอบสวนโรคพบกลุ่มเสี่ยงสูงเป็นเพื่อนและคนขับรถ รวม 4 คน โดยชาวอเมริกันขอไปกักตัวที่สถานเอกอัคราชทูตประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ส่วนคนขับรถไปกักตัวอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวไปกักตัวแล้ว ทั้งนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงต่ำเป็นพนักงานโรงแรม 1 คน พนักงานส่งกุญแจห้องพัก 1 คน พนักงานร้านอาหาร 1 คน และพนักงานร้านขายยา 1 คน ซึ่งได้กักตัวทั้งหมดและเมื่อตรวจหาเชื้อรอบแรกพบเป็นลบทั้งหมด แต่จะมีการตรวจครั้งที่ 2 ถัดไปอีก 5-7 หากผลเป็นลบอีกก็ถือว่าควบคุมได้ อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับเอาไว้ก่อนจึงจัดประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสั่งการให้หาเตียงรักษาเพิ่มให้ได้อีกอย่างน้อย 30-50% ก่อนสิ้นปีนี้ เนื่องจากโอมิครอน มีข้อเด่นคือกระจายได้เร็ว แต่ข้อด้อยคือไม่รุนแรง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าเครื่องมืออุปกรณ์มีความพร้อมจึงไม่ต้องตื่นกลัวหรือกังวลใจจนกระทบกับการท่องเที่ยว กระนั้นสำหรับผู้ป่วยโอมิครอน รายแรกได้ให้รักษาตัว 14 วัน จากเดิมที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วไปเป็นเวลาเพียง 10 วัน
ทางด้าน นายแพทย์วัชพงศ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย กล่าวว่า มีเตียงผู้ป่วยไม่มีอาการหรือสีเขียวจำนวน 2,800 เตียง และจะมีการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,400 เตียงตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ส่วนเตียงผู้ป่วยสีเหลืองตามโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ มีจำนวน 800 เตียง และผู้ป่วยมีอาการหรือสีแดงที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 100 เตียง และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 100 เตียง ซึ่งเพียงพอและผู้ป่วยก็ลดลงเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันมีผู้นอนรักษาในโรงพยาบาลเพียง 30 ราย
นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้ทำการสุ่มตรวจในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศอังกฤษ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้วตั้งแต่ทราบข่าวว่ามีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เมื่อเกิดการพบผู้ป่วยจึงได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในการควบคุมและนำเข้าสู่การรักษาในที่สุด อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสุ่มตรวจประชาชนและนักท่องเที่ยวตามมาตราการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายแพทย์อิทธิพล ยอดประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่พบผลบวกสายพันธุ์โอมิครอน ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ ได้ 5 วันแล้ว ล่าสุดไม่มีไข้ หลังจากที่เข้ารับการรักษาครั้งแรกด้วยไข้สูงและไอรวมทั้งมีน้ำมูกเล็กน้อย ทั้งยังมีร่างกายแข็งแรงและขวัญกำลังใจดี ส่วนการรักษาถือว่าไม่แตกต่างจากโควิด-19 ทั่วไป ซึ่งจากประสบการณ์การรักษาโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้แพทย์ พยาบาล ไม่ตื่นกลัวและปฏิบัติตามปกติส่วนโรงพยาบาลก็ไม่มีความกังวลแต่อย่างใด