ปิดคดีมรดกหมื่นล้าน ทายาทราชสกุลรังสิตได้กรรมสิทธิ์ "พระราชวังชัยมาฮาล"
คดีมรดกหมื่นล้านของราชวงศ์ชัยปุระในรัฐราชสถาน ได้ข้อยุติแล้ว สองพี่น้องทายาทราชสกุลรังสิต ได้กรรมสิทธิ์ครอบครอง "พระราชวังชัยมาฮาล" ส่วนฝ่ายคู่กรณีที่มีศักดิ์เป็นลุงได้ "พระราชวังรามบักห์" ไปครอง
จากกรณี นายเทพราช ซิงห์ และ น.ส.ลลิตยา กุมารี สองพี่น้องผู้เป็นทายาทของมหาราชจกัต ซิงห์ กับ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ธิดาคนเล็กของ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สายพระโลหิตในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับชัยชนะในการยื่นคัดค้านพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี พระชายาองค์ที่ 3 ในมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 แห่งราชวงศ์ชัยปุระ และพระราชมารดาในมหาราชจกัต ซิงห์
ล่าสุด เว็บไซต์ฮินดูสถานไทม์ส รายงานว่า ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของสองพี่น้องราชสกุลรังสิต ได้ออกมายืนยันว่าคดีฟ้องร้องเรื่องทรัพย์สินมรดกที่ยืดเยื้อระหว่างทายาทราชวงศ์ชัยปุระ ได้ข้อยุติแล้ว หลังจากที่ศาลสูงสุดอินเดียแต่งตั้ง กูเรียน โจเซฟ อดีตผู้พิพากษาเข้ามาเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย
ทายาทราชสกุลรังสิตกับฝ่ายคู่กรณีที่มีศักดิ์เป็นลุงได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาท โดยข้อตกลงระบุให้พระราชวังชัยมาฮาล ตกเป็นทรัพย์สินของสองพี่น้องตระกูลรังสิตโดยสมบูรณ์ และให้เพิกถอนสิทธิของอีกฝ่ายที่มีอยู่ในโรงแรมแห่งนี้ทั้งหมด ขณะที่พระราชวังรามบักห์ ตกเป็นของคู่กรณี โดยศาลสูงสุดอินเดียได้ทำการบันทึกข้อตกลงไว้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2558 ผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดียได้ตัดสินยืนคำพิพากษาของศาลกรุงนิวเดลี ซึ่งระบุว่านายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา มีสิทธิในสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ รวมถึงส่วนแบ่งในพระราชวังชัยมาฮาล พระราชวังรามบักห์ ตลอดจนกิจการอื่นๆ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 200-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,000-14,000 ล้านบาท)
เนื้อหาในพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี ที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ปี 2552 ขณะมีพระชนมายุ 90 พรรษา ได้มอบสิทธิในการจัดการสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ ให้แก่คณะกรรมการบริหารบริษัทราม-บักห์ พาเลซ โฮเต็ล พีวีที จำกัด รวมถึงบริษัทอื่นๆ รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สมบัติที่สืบทอดมาจากมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2
ขณะที่ นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ซึ่งยื่นฟ้องร่วมกัน ระบุว่า มหารานี คยาตรี เทวี ซึ่งเป็นย่าแท้ๆ ทรงทำพินัยกรรมในขณะที่มีพระชนมายุมาก อีกทั้งยังมีสุขภาพอ่อนแอจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพูด จึงอาจถูกแทรกแซงโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ
ทรัพย์สินหลักๆ ที่เป็นข้อพิพาท ได้แก่ พระราชวังชัยมาฮาล และพระราชวังรามบักห์ ซึ่งปัจจุบันถูกแปลงกิจการเป็นโรงแรมหรูภายใต้การบริหารของบริษัท ทาทา กรุ๊ป และถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของทายาทราชวงศ์ชัยปุระ
สำหรับ นายเทพราช ซิงห์ และ น.ส.ลลิตยา กุมารี ได้ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยพร้อมผู้เป็นมารดา หลังจาก ม.ร.ว.ปรียนันทนา ได้หย่าร้างกับมหาราชจกัต ซิงห์ ในปี 2530