เสือพ่นไฟ ชนะคดี! ศาลสั่ง หมีพ่นไฟ ชดใช้ 10 ล้าน ปมละเมิดเครื่องหมายการค้า

เสือพ่นไฟ ชนะคดี! ศาลสั่ง หมีพ่นไฟ ชดใช้ 10 ล้าน ปมละเมิดเครื่องหมายการค้า

เสือพ่นไฟ ชนะคดี! ศาลสั่ง หมีพ่นไฟ ชดใช้ 10 ล้าน ปมละเมิดเครื่องหมายการค้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลสั่ง 2 จำเลย ชดใช้ชานมไข่มุกเจ้าดัง “เสือพ่นไฟ” 10 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ของคดีละเมิดเครื่องหมายการค้า

วันนี้ (23 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ น.ส.นันทนัช เอื้อศิริทรัพย์ และบริษัท รวยสบายสบาย จำกัด เจ้าของแบรนด์ชานมไข่มุก "Fire Tiger : เสือพ่นไฟ" โจทก์ร่วมที่ 1 และ 2 ร่วมฟ้อง บุคคลธรรมดารวม 2 ราย ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มชานมไข่มุก “หมีพ่นไฟ” และ “The Fire Bear” เป็นจำเลยในฐานความผิดละเมิดเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 พร้อมขอศาลให้สั่งห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าและการบริการของโจทก์ต่อไป ให้ยุติการใช้และจำหน่ายเครื่องหมายการค้าที่เหมือนคล้ายกับโจทก์

ทั้งนี้ นายสืบสิริ ทวีผล ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดละเมิด ฐานลวงขาย โดยจำเลยมีการใช้เครื่องหมายการค้า ลักษณะการตกแต่งร้านค้า และวิธีการเสิร์ฟเครื่องดื่มผ่านปากสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนคล้ายกับธุรกิจของโจทก์ ศาลจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลวงขาย ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งถือเป็นค่าเสียหายในคดีเครื่องหมายการค้าที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

ทนายสืบสิริ ยังกล่าวอีกด้วยว่า จากที่ศาลพิเคราะห์ เห็นว่าจำเลยใช้คำว่า “หมีพ่นไฟ” และ “The Fire Bear” เป็นชื่อร้านค้า สินค้าและบริการ กิจการ และเป็นชื่อชานมไข่มุก รวมถึงการใช้ประติมากรรมหัวหมีพ่นไฟ ที่มีลักษณะอ้าปากเป็นช่องส่งสินค้า ชานมไข่มุก ให้แก่ลูกค้านั้น ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า เป็นร้านที่มีเจ้าของเดียวกัน หรือสินค้ามาจากแหล่งเดียวกัน ถือเป็นการลวงให้ประชาชนเชื่อว่า สินค้าหรือการค้าของจำเลย เป็นของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์ จึงถือเป็นการกระทำละเมิด ฐานลวงขาย

ส่วนการกำหนดค่าเสียหายนั้น ศาลให้จำเลยทั้ง 2 ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้อง รวมถึงชำระค่าเสียหาย เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำละเมิดดังกล่าว อีกทั้งทางโจทก์ยังได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยคดีทางอาญาดำเนินการฟ้องในข้อหาเดียวกัน โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนของการพิจารณา

ทางด้าน น.ส.นันทนัช กล่าวว่า อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับคนที่ทำธุรกิจว่าการได้รับแรงบันดาลใจและการคัดลอกเลียนแบบนั้นแตกต่างกัน อยากให้ทำธุรกิจโดยการให้เกียรติกัน ไม่ใช่ลอกเลียนแบบโดยจงใจหรือตั้งใจเหมือนกับกรณีนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีผลทางกฎหมายได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook