กพช.เห็นชอบให้เดินหน้าซื้อไฟฟ้าจากลาว-พม่า เพิ่มเติม

กพช.เห็นชอบให้เดินหน้าซื้อไฟฟ้าจากลาว-พม่า เพิ่มเติม

กพช.เห็นชอบให้เดินหน้าซื้อไฟฟ้าจากลาว-พม่า เพิ่มเติม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำข้อตกลงการซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นให้จัดส่งร่างสัญญาไปให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดก่อนทำการลงนามร่วมกัน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำข้อตกลงการซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนั้นให้จัดส่งร่างสัญญาไปให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดก่อนทำการลงนามร่วมกัน สำหรับการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อรับงับข้อพิพาท ที่ประชุม กพช. ได้เสนอให้ทบทวนว่า สถานที่การพิจารณาควรเปลี่ยนแปลงจากประเทศสิงคโปร์ มาเป็นประเทศไทย เพราะไทยเป็นผู้ซื้อกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้ ร่างสัญญาที่ผ่านความเห็นชอบมี 2 ร่างสัญญา คือ 1. ร่างสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าหงสา-ลิกไนต์ จากประเทศ สปป.ลาว ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 1,653 เมกะวัตต์ จัดส่งให้ไทยจำนวน 1,473 เมกะวัตต์ เริ่มส่งไฟฟ้าในวันที่ 1 มี.ค. 2558 สัญญาซื้อขายระยะเวลา 25 ปี ราคาไฟฟ้าเฉลี่ย 2.275 บาทต่อหน่วย ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บมจ.บ้านปู ร้อยละ 40 บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชชบุรี ร้อยละ 40 และการไฟฟ้า สปป.ลาว ร้อยละ 20

สำหรับร่างสัญญาที่ 2 เป็นร่างข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ซื้อจากโครงการมาย-กก จากประเทศสหภาพพม่า เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 405 เมกะวัตต์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ไทยจำนวน 369 เมกะวัตต์ โครงการดังกล่าว มีผู้ถือใหญ่ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียน-ไทย ตั้งอยู่ในรัฐฉาน จัดส่งกระแสไฟฟ้าให้กับไทยในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

"การซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งการซื้อไฟฟ้าจากทั้งสองประเทศยังมีอีกหลายโครงการต้องเจรจาในรายละเอียดเพิ่มเติมในขั้นตอนต่อไป" รมว.พลังงาน กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเร่งรัดให้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ประมาณ 1.3 แสนครัวเรือน เพื่อหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มีไฟฟ้าใช้ครอบคลุมทั้งหมด จึงให้ไปศึกษารายละเอียด ทั้งครัวเรือนที่ไม่มีหมายเลขทะเบียน หรือครัวเรือนตั้งอยู่ในพื้นที่สายส่งไปไม่ถึง เพื่อปรับรูปแบบใช้ทั้งสายส่งและพลังงานทดแทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook