แม่ค้าแหลมฉบังก๊าซรั่วสิ้นใจ
กรมควบคุมมลพิษ ชี้ก๊าซรั่วแหลมฉบัง คือสาร โซเดียมเปอร์ซัลเฟต ทำปฏิกิริยากับความชื้นสูง กลายเป็นกรด ลุกไหม้และกลายเป็นก๊าซไข่เน่า ที่มีความเป็นพิษ และมีกลิ่นเหม็นรุนแรง หากสุดดมจะเกิดผลแบบเฉียบพลัน ทั้งวิงเวียนศรีษะ-คลื่นไส้-อาเจียน-แน่นหน้าอก และถ้าสูดดมเข้าไปมากก็จะเกิดอาการน้ำท่วมปอดได้ ขณะที่ สาวใหญ่ อาเจียน-ปัสสาวะราด ก่อนเสียชีวิต ญาติเชื่อได้รับพิษจากสารเคมี ด้าน เกื้อกูล สั่งการท่าเรือฯ รับผิดชอบชาวบ้านที่ได้รับสารพิษจากท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมประสานโรงพยาบาลรับมือเหตุฉุกเฉิน
จากกรณีเกิดเหตุสารเคมีระเบิดภายในท่าเทียบเรือ บี 3 ของบริษัท อิสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ภายในท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มควันหนาฟุ้งกระจายไปไกลหลายร้อยเมตร เจ้าหน้าที่ระดมใช้โฟมดับเพลิงฉีดสกัดกลุ่มควันสารเคมี และปิดประตูทางเข้าท่าเรือไม่ให้รถและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าโดยเด็ด ขาด เนื่องจากเกรงว่าสารเคมีดังกล่าวจะเป็นอันตรายใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถควบคุมกลุ่มควันไว้ได้
ต่อมาเวลา 21.00 น. ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการร่วมกันวางแผนกู้ตู้สารเคมี กับ กรมควบคุมมลพิษ สสจ.ชลบุรี ป้องกันจังหวัดชลบุรี โดยมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศอย่างใกล้ชิด แล้วจึงลงมือปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีอีกครั้ง ในเวลา 23.30 น. โดยการเปิดตู้คอนเทเนอร์ออกแล้วฉีดโฟม และน้ำเข้าไป ทำให้สารเคมีเกิดปฏิกิริยากัน ฟุ้งกระจายเป็นกลุ่มควันอีกครั้ง ทั้งนี้ในช่วงก่อนการลงมือได้ออกประชาสัมพันธ์และทำการอพยพชาวบ้านแหลมฉบัง และใกล้เคียงไปในที่ปลอดภัยเพราะไม่แน่ใจเรื่องทิศทางลม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 26 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชา ได้รับแจ้งจากโรงงานหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและบริษัทในท่าเรือ เรือแหลมฉบังว่า มีคนงานและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้รับบาดเจ็บจากการสูดสารเคมีเข้าไปรวมจำนวน ทั้งสิ้น 9 ราย จึงได้ช่วยกันลำ เลียงแยกกันส่งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ อ.ศรีราชา โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกคนมีอาการหายใจติดขัด คลื่นเหียนวิงเวียนอาเจียน ตามร่างกายเป็นผื่นแดง แพทย์จึงได้ช่วยกันระดมกำลังรักษาโดยอาการล่าสุดทุกคนอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว
ขณะเดียวกันชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมฉบัง หลายร้อยคนซึ่งอยู่ติดกับท่าเรือแหลมฉบัง ที่ทราบข่าวว่ามีคนบาดเจ็บจากการสูดดมสารเคมีเข้าไป ต่างก็ตกใจและหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พากันอพยพครอบครัวมาพักชั่วคราวที่โรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 2 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 5 กิโลเมตร โดยในเบื้อง ต้นทางท่าเรือแหลมฉบังก็ได้ออกมาแจ้งว่าสามารถควบคุมการแพร่กระจายของสาร เคมีไว้ได้แล้ว และตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน โดยชาวบ้านบอกว่า จะอยู่รอดูสถานการณ์อีกสักระยะหนึ่ง และทยอยกันกลับบ้านของตนเองกันก่อนรุ่งสาง
ต่อมาเวลา 10.00 น. นายทรงพล จำปาพันธุ์ รอง ผวจ.ชลบุรี พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โดย นายทรง พล กล่าวว่า ข่าวที่ออกไปได้สร้างความตื่นตระหนกกับประชาชนมาก บางสำนักระบุว่ามีคนเสียชีวิตด้วย ขอยืนยันว่าไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากกรณีนี้ และขณะนี้สถานการณ์ ทุกอย่างสามารถควบคุมไว้ได้เบ็ดเสร็จแล้ว จึงเปิดแถลงข่าวชี้แจงเพื่อให้ข่าวเป็นไปแนวทางเดียวกันที่ถูกต้อง ในกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องนอนรักษาตัวในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทางจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลให้เองอย่างใกล้ชิด
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า สารดังกล่าวคือ โซเดียมเปอร์ซัลเฟต อยู่ในกลุ่ม 5.1 (เป็นสารฟอกขาว) ใช้ในกระบวนการฆ่า เชื้อ รั่วออกจากตู้คอนเทเนอร์หมายเลข UACU 4915034 น้ำหนัก 22 ตัน บริษัท YAMAHATSU (THAILAND) จำกัด โดยมากับเรือ SIAM BRIDGE มาขึ้นท่า B3 ในวันที่ 25 พ.ย. เวลา 07.00 น. และจะนำออกจากท่าเทียบเรือในตอนเย็นวันเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาเกิดเหตุได้รั่วไหลออกมาจนฟุ้งกระจาย เบื้องต้นคาดว่าเกิดการรั่วไหล จากหีบห่อบรรจุ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ระดมฉีดผงเคมีแห้งสลับกับน้ำไปในตู้เพื่อลด อุณหภูมิความร้อนจึงควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
ทั้งนี้ การเข้าควบคุมสถานการณ์เป็นไปตามขั้นตอนหลักปฏิบัติที่มีทุกภาคส่วน เป็นผู้ควบคุมบัญชาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัติการมีเครื่องวัดติดในตัวมีผลยืนยันจากเครื่อง วัดตรงจุดเกิดเหตุว่าสารไม่อันตรายมาก จึงแน่ใจว่าการฟุ้งกระจายออกไปจะไม่กระทบเป็นอันตรายกับประชาชนที่อยู่ ห่างออกไป โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือเองลงไปปฏิบัติ การภาคสนาม นำส่งโรงพยาบาล 1 ราย พอสายก็สามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ต่อ
สำหรับข้อวิตกกังวลว่าการฉีดน้ำเข้าตัวตู้คอนเทเนอร์ จะทำให้น้ำเปื้อนสารเคมีไหลลงทะเล ขอให้คลายกังวลเพราะพื้นที่ด้านล่างมีระบบท่อบำบัด จะไม่มีน้ำไหลลงสู่ทะเลแน่นอน และในขณะนี้ท่าเรือต่าง ๆ รวมทั้งท่าเรือ B3 พร้อมทั้งเรือสินค้าเข้าออกตามปกติ ยกเว้นบริเวณที่เป็นจุดเกิดเหตุได้กั้นไว้เพื่อให้ทางบริษัทที่ปรึกษาจัดการ สิ่งแวดล้อมมานำซากตู้คอนเทเนอร์และสารเคมีที่ตกค้างไปบำบัดตามหลักวิชาการ
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายเสนีย์ ผวจ.ชลบุรี ได้เดินทางมาที่วัดแหลมฉบังเพื่อตรวจเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดย สสจ.ชลบุรี ได้จัดหน่วยแพทย์จาก รพ.อ่าวอุดม มาตรวจสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากควันของสารเคมีดังกล่าวที่เผาไหม้ โดยมีผู้เข้ารับการตรวจจำนวนทั้งสิ้น 191 คน โดย 81 คน ร่างกายปกติ 110 คน มีอาการแสบตา แสบคอ แพทย์ให้ยารักษาแล้วกลับไปพักผ่อน โดยมี 4 ราย ส่งเข้า พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอ่าวอุดม เป็นเด็ก นักเรียนโรงเรียนวัดแหลมฉบัง ชาย 1 คน และ หญิง 1 คน
โดยขณะที่คณะ รมช.สาธารณสุข กำลังตรวจเยี่ยมชาวบ้านอยู่นั้น นางสุนีย์ ภู่เพ็ชร อายุ 53 ปี ได้เกิดอาการอาเจียนและปัสสาวะราด แพทย์จึงให้รีบนำตัวรักษา รพ.อ่าวอุดม และได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา โดยแพทย์ลงความเห็นว่าเกิดจากหัวใจวาย เฉียบพลัน ด้านนายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร อายุ 44 ปี น้องชายผู้ตายเปิดเผยว่า ตนกับพี่สาวย้ายมาปักหลักทำมาหากินที่แหลมฉบัง 20 กว่าปีแล้ว โดยพี่สาวเปิดร้านอาหารชื่อครัวมีชัย ริมหาดแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ 2 กิโลเมตร
"ปกติพี่สาวเป็นคนแข็งแรงมาก แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล ร้านของพี่สาวอยู่ใกล้มากโดนรับเข้าไปเต็ม ๆ และเกิดอาการแน่นหน้าอก จึงมาตรวจร่างกาย พร้อมกับหลานอีกคนที่ตอนนี้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล สำหรับการตายของพี่สาวตน ไม่เชื่อว่ามาจากหัวใจวายเฉียบพลัน แต่น่าจะ มาจากการได้รับสารพิษดังกล่าว โดยจะขอส่งศพพี่สาวไปพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ต่อไป" นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายศิริพงษ์ หังสพฤกษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะกำกับดูแลกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเรื่องการรั่วไหลก๊าซที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่คพ.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบพบว่าก๊าซที่ รั่วออกมาคือ สารโซเดียมเปอร์ซัลเฟต มีลักษณะเป็นผง เป็นส่วนผสมของสารฟอกย้อมสีผม ซึ่งโดยตัวสารชนิดนี้ถือว่ามีความเป็นกรดต่ำ แต่หลังจากเกิดไฟไหม้ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เนื่องจากพื้นตู้คอนเทเนอร์เป็นไม้บวกกับมีกล่องกระดาษปะปนอยู่
โดยสารนี้มีคุณสมบัติคือ ถ้าออก มานอกถุงทำปฏิกิริยากับความชื้นสูงมากจะกลายเป็นกรด เมื่อโดนไม้ที่มีความชื้นสูง จึงเกิดการลุกไหม้และกลายเป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ที่มีความเป็นพิษ และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงและเป็นสาเหตุที่ชาวบ้านต้องอพยพย้ายหนีในช่วงเช้ามืด เพราะกลิ่นลอยไปตามกระแสลม สำหรับอันตรายจากการสูดดมก๊าซไข่เน่าคือจะเกิดผลแบบเฉียบพลัน คือจะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก โดยเฉพาะถ้าสูดดมเข้าไปมากก็จะเกิดอาการน้ำท่วมปอดได้ ทั้งนี้อาจต้องประสานให้ทางโรงพยาบาลเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยที่เข้ารับการ รักษาด้วยว่ามีการสูดดมก๊าซไข่เน่าเข้าไปมากหรือไม่
รองปลัด ทส.กล่าวอีกว่า ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟไหม้ได้แล้ว อย่างไรก็ตามได้สั่งอพยพประชาชนที่อยู่ในรัศมี 1 กม. จากศูนย์กลางที่เกิดเหตุออกนอกพื้นที่ก่อนจนกว่ากลิ่นจะหมด ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ก๊าซไข่เน่าจะไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและจะจางหายไปได้เองในอากาศ ส่วนน้ำจากการดับเพลิงที่มีสารเคมีปนเปื้อนก็จัดการลงในระบบบำบัดของท่าเรือ แล้ว และใช้ปูนขาวใส่ลงไปเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างให้อยู่ในสภาพสมดุล ทั้งนี้ขอให้ชาวบ้านสบายใจว่าจะไม่มีสารพิษตกค้างอย่างแน่นอน
อีกด้านหนึ่ง ที่กระทรวงคมนาคม นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รับผิดชอบชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมีที่ท่าเรือแหลม ฉบัง ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมสถาน การณ์ได้แล้ว แต่ยังต้องตรวจสอบว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด และได้ประกาศสั่งคุมเข้มความปลอดภัยเขตท่าเรือแหลมฉบัง โดยออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อประกาศเตือนภัย หากชาวบ้านได้รับสารพิษ เกิดอาการวิงเวียน ไอ เจ็บคอ หายใจติดขัด มองเห็นไม่ชัด ให้รีบไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจอาการด่วน โดยได้ประสานโรงพยาบาลเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเรียกบริษัทขนสินค้าเข้ามาชี้แจง รวมทั้งขอความร่วมมือไปยังกรมควบคุมมลพิษตรวจสอบความปลอดภัยทางน้ำ และตรวจสารปนเปื้อนในทะเลด้วย
ขณะที่ แหล่งข่าวจาก กทท. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าสาเหตุสารโซเดียมเปอร์ซัลเฟตรั่วที่ท่าเรือแหลมฉบัง ล่าสุด สสจ. ชลบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสุขภาพประชาชนบริเวณโดยรอบจุดเกิดเหตุพบว่า เบื้องต้น พบว่า มีผู้แพ้สารเคมี 21 คน ส่วนใหญ่มีอาการแสบคอและจมูก แต่อาการไม่รุนแรง ส่วนเด็กนักเรียนที่เกิดอาการเจ็บป่วยจากการสูดดมสารเคมีที่รั่วไหล บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้ได้รับการรักษาจนปลอดภัยแล้ว โดยแพทย์ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบจากสารเคมี ส่วนชาวบ้านที่อพยพหนีการรั่วไหลของสารเคมี ตั้งแต่คืนวันที่ 25 พ.ย. สามารถกลับเข้าสู่ชุมชนแหลมฉบังได้แล้วเช่นกัน.