พุ่งอย่างไว! ศบค.เผยไทยพบโอมิครอนแล้ว 514 ราย ส่วนใหญ่มาจากเมืองนอก
ศบค.แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 514 ราย ย้ำ 2 ใน 3 มาจากต่างประเทศ ขณะในประเทศคลัสเตอร์หลักอยู่ที่กาฬสินธุ์ อุดรธานี และปัตตานี
วันนี้ (27 ธ.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มียอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเป็น 514 รายแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้สัดส่วน 2 ใน 3 เป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และอีก 1 ใน 3 เป็นการสัมผัสกับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าส่วนใหญ่ในภาพรวมมีอาการไม่มาก เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่มีอาการของเชื้อลงปอด โดยพบว่า 54% มีอาการไอ รองลงมา 37% มีอาการเจ็บคอ และพบว่ามีไข้เพียง 29%
สำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ได้แก่ คลัสเตอร์สองสามีภรรยาที่ศรีสะเกษ ซึ่งเดินทางกลับจากประเทศเบลเยียมแล้วไปใช้บริการร้านอาหารที่ตลาดโรงสี ทำให้มีการแพร่เชื้อโอมิครอนไปยังนักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ ลูกค้าคนอื่นๆ เพิ่มเป็น 125 ราย ส่วนอีก 97 รายรอยืนยันสายพันธุ์ และยังมีความเชื่อมโยงไปยังผู้ติดเชื้อที่อุดรธานี 6 ราย ลำพูนอีก 4 ราย นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับที่จังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม อีกด้วย
คลัสเตอร์กลับจากแสวงบุญที่ตะวันออกกลาง ได้แก่ ปัตตานี 7 ราย ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อกลับจากแสวงบุญที่ตะวันออกกลาง และยังพบผู้ติดเชื้อกลับจากแสวงบุญที่ กทม. พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี
ส่วนที่ กทม. มียืนยัน 2 ราย ติดเชื้อโอมิครอนจากสามีนักบินชาวไนจีเรีย, ที่ภูเก็ต และกระบี่อีก 2 ราย เป็นแม่บ้านในโรงแรมที่มีผู้ติดเชื้อไปพัก ส่วนที่สุรินทร์เป็นผู้เดินทางกลับมาจากเดนมาร์ก
"เนื่องจากมีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่มีอาการน้อยมาก เช่น ไอ 54% เจ็บคอ 34% ไข้ 29% เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอด ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีผู้ติดเชื้อในลักษณะนี้ปะปนเวลาไปใช้บริการร่วมกับเราได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงขอแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น จึงจะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
สำหรับข้อมูลผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ช่วง 1-26 ธ.ค. 64 จำนวน 240,227 ราย และ 1 ใน 3 เป็นคนไทย แยกเป็น
- Test&Go 204,107 ราย ติดเชื้อ รวม 69 ราย
- แซนด์บ็อกซ์ 31,067 ราย ติดเชื้อ รวม 15 ราย
- Qualantine 7 วัน 1,266 ราย 10 วัน 3,238 ราย และ 14 วัน 529 ราย ติดเชื้อ รวม 7 ราย
โดยมีผู้เดินทางมาจากเยอรมนีมากสุด 20,620 ราย ขณะที่เป็นผู้เดินทางจากสหรัฐ 9,397 ราย แต่ติดเชื้อมากสุด 101 ราย รองลงมาเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา 55.4% แต่หากพิจารณาจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจะมีสัดส่วนสายพันธุ์โอมิครอน 56.2% ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนเข้มข้นขึ้น และเร่งรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยเพียง 8.6% เท่านั้น โดยขณะนี้มีการเปิดรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้ว รวมถึงเร่งให้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 4 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขให้สามารถรองรับการระบาดได้ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงด้วย
ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดในประเทศ ยังพบในโรงงาน ตลาด พิธีกรรมทางศาสนา เช่น จังหวัดขอนแก่นมีผู้ติดเชื้อหลังจากไปร่วมงานศพที่จังหวัดเลย, โรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นนทบุรี ลำปาง, ร้านอาหารและสถานบันเทิงที่ลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการแล้วเกิดการระบาด อาจต้องมีการสั่งปิดบางจุด ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
สำหรับกรณีผู้เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเป็นโรคเรื้อรัง ขณะที่พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอายุ 20-39 ปี ที่ไม่มีอาการ ทำให้มีโอกาสนำเชื้อกลับไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นจะมีการเร่งรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนในจังหวัดที่ยังอยู่ในอัตราต่ำ เช่น ปัตตานี นครนายก กาญจนบุรี ราชบุรี เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ และมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน
ส่วนการจัดงานปีใหม่นั้น ศบค.มีความเห็นใจประชาชน จึงยังไม่มีคำสั่งห้ามจัดงาน แต่ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดมีการกำหนดมาตรการที่เข้มงวด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเหมือนช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ที่แอปพลิเคชั่น Thai Save Thai และการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ ATK รวมทั้งขอให้สถานพยาบาลและสถานประกอบการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หลังเทศกาลปีใหม่ เช่น การจัดทำ Factory Quarantine (FQ) ในบริเวณสถานประกอบการ สำหรับรองรับพนักงานที่เดินทางกลับมาจากภูมิลำเนา โดยติดตามอาการในช่วง 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ