9 พรรคก้าวสู่ 65: ย้อนชมดอกผลในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายข้างหน้าของ "พรรคก้าวไกล"

9 พรรคก้าวสู่ 65: ย้อนชมดอกผลในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายข้างหน้าของ "พรรคก้าวไกล"

9 พรรคก้าวสู่ 65: ย้อนชมดอกผลในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายข้างหน้าของ "พรรคก้าวไกล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

9 พรรคก้าวสู่ 65: ก้าวไกลดันแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปีหน้า แจงส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมชนเพื่อไทย คือความสวยงามของประชาธิปไตย ไม่ใช่เกี้ยเซี้ยแบบฝ่ายรัฐบาล

นาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว Sanook Newsเนื่องในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2564 ต้อนรับปีใหม่ 2565 กับ 5 คำถามมองภาพรวมผลงานพรรคในปีนี้และแนวทางของพรรคในปีหน้า

โดยประเด็นการทำงานร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยในปี 2565 นายณัฐชา ชี้แจงว่า ต้องแยกระหว่างพรรคกับสภา ในสภามีแค่ฝ่ายค้านกับรัฐบาล พรรคก็ยังทำงานร่วมกันในวิปฝ่ายค้านได้อย่างดี ส่วนในมุมของพรรคการเมือง การส่งผู้สมัครลงแข่งขันในเขตเดียวกัน ตนมองว่ามันคือความสวยงามของประชาธิปไตย ที่พรรคจะส่งคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันไปสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้ามาช่วยทำงานในสภา เพราะพรรคฝ่ายค้านมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มักจะเกลี่ยเซี้ยกัน ไม่ส่งผู้สมัครชนกัน ตนมองมองว่า พวกเขาไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการต่อรองผลประโยชน์กันมากกว่า อีกเหตุผลหนึ่งคือ การส่งผู้สมัครโดยเฉพาะเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ พรรคจะได้พิสูจน์ตัวเองว่าที่ผ่านมาทำงานทางความคิดพอแล้วหรือยัง คนใต้ให้โอกาสพรรคก้าวไกลหรือไม่ ถ้าผลออกมาคือไม่ ก็ต้องนำมาปรับปรุงตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง

เรื่องที่กังวลเรื่องจะโดนยุบพรรคอีกหรือไม่ ตนมองว่าการทำให้การยุบพรรคเป็นเรื่องคุ้นชินนั้นไม่ถูกต้อง เพราะพรรคการเมืองเกิดจากอุดมการณ์ของกลุ่มคนจำนวนมาก แต่กลับถูกยุบด้วยคนเพียงไม่กี่คน อย่างไรก็ตามผู้มีอำนาจน่าจะได้เรียนรู้แล้วว่า การยุบพรรค พวกเขาต้องจ่ายอะไรไปบ้าง เช่น ความน่าเชื่อถือขององค์กร ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยของประชาชน และแม้ว่าจะยุบพรรค แต่ก็ไม่สามารถทำลายอุดมการณ์ของประชาชนได้ การยุบพรรคเป็นเพียงกระสุนด้าน ยิงไปแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีผลต่อการกีดกันประชาชน เพราะต่อให้ยุบพรรคอีก ก็จะมีคนที่คิดแบบนี้ อุดมการณ์นี้มาทำงานต่อไป ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร แบรนด์อะไร หรือใครเป็นกรรมการบริหารพรรคก็ตาม เพราะสุดท้ายผู้มีอำนาจก็ไม่สามารถฆ่าคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกันเป็นล้านๆ คนได้

1.ผลงานของพรรคในปี 2564

นายณัฐชา กล่าวว่า พรรคทำงานทั้งในและนอกสภา เช่น การร่างกฎหมายที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ และร่วมกับภาคประชาสังคม เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Revolution พรรคทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งคณะก้าวหน้า และภาคประชาชน แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะโหวตไม่ผ่าน แต่ก็สามารถขับเคลื่อนความคิดฝ่ายตรงข้ามได้ เช่น มี ส.ว. บางท่านโหวตรับร่าง และมีฝ่ายรัฐบาลหลายคนมาให้กำลังใจและบอกว่าเห็นด้วยแต่ยังติดขัดบางประการ ซึ่งตนเห็นว่าเมื่อเวลาเปลี่ยน ความคิดคนก็เปลี่ยน ดังนั้นเราก็คิดว่าจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ในเวลาถัดไป

นอกจากนี้ยังมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่แม้จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่มีความคืบหน้ามาก เทียบกับปีแรกที่เข้ามาทำงาน ตอนนั้นมีคนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้จำนวนมาก แต่ปี 2564 เราสามารถตั้งกรรมาธิการ กมธ. และส่ง ส.ส. และนักสิทธิมนุษยนชนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการได้แล้ว เพราะทุกคนเริ่มเข้าใจตรงกันว่าสถานการณ์การอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน รุนแรงและไม่มีกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองเหยื่อและผู้เรียกร้องได้ ตอนนี้ความคืบหน้าของกฎหมายประมาณ 70-80% แล้ว เชื่อว่าอีก 20% หลายฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกัน

แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงของพรรค นั่นก็คือ การอภิปรายเรื่องวัคซีน ที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เปิดเผยข้อมูลการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะ เรื่องการจัดหาวัคซีน ที่พรรคยืนยันมาตลอดว่าคนไทยไม่ควรได้วัคซีนแค่ยี่ห้อเดียว อีกทั้งการส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ล่าช้า แต่รัฐบาลกลับไม่กล้าตาม ไม่กล้าตรวจสอบเพราะกลุ่มทุน อีกทั้งยังเลือกยี่ห้อวัคซีนที่ไม่สมเหตุผล ซึ่งทุกเวลาที่เลื่อน หรือทุกการตัดสินใจเรื่องวัคซีนมันส่งผลต่อชีวิตและความสูญเสียของประชาชน จนในที่สุด ประชาชนรับฟังข้อมูลและส่งสัญญาณต่อไปกดดัน ผู้แทนของประชาชนของตัวเองให้ส่งเสียงไปถึงรัฐบาล เพราะ “ส.ส. ต่างกันแค่พรรค แต่ที่เหมือนกันคือมาจากประชาชน”

2.สิ่งที่ยังไม่สำเร็จในปี 2564?

เรื่องที่ยังไม่สำเร็จและน่าเสียใจมากคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผลักดันเข้าสภามาแล้ว แต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ทั้งสองฝ่าย รวมไปถึง ส.ว. หลังจากนั้นพรรคก็เอาข้อมูลที่อภิปรายโต้แย้งกลับมาพิจารณาและแก้ไข ดังนั้นปีหน้าก็จะเน้นการแก้ไขกฎหมายให้มีกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และพรรคจะจัดแคมเปญใหญ่ ร่วมกับคณะก้าวหน้าและภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมรายชื่อและยื่นเข้ามาในสภาเรื่องเดียว คือ การกระจายอำนาจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งคาดว่าการรวบรวมรายชื่อจะเสร็จภายใน 28 กุมภาพันธ์ ก่อนปิดสมัยประชุม และเปิดสมัยมาก็ยื่นเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกำลังดูว่าจะเข้าไปเสนอได้ช่วงไหน แม้ก่อนหน้านี้จะไม่สำเร็จแต่ว่าประชาชนเห็นแล้วว่าเราทำอย่างสุดความสามารถและทุกองคาพยพของพรรค

3.สิ่งที่พรรคอยากทำให้เกิดขึ้นในปี 2565?

โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคกำลังเร่งทำร่างกฎหมายต่างๆ ที่นำเสนอประชาชนไปแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่สภา โดยตั้งใจว่าปีหน้าเป็นปีสุดท้ายของ ส.ส. ชุดที่ 25 แม้สภาจะพิจารณากฎหมายไปอย่างล่าช้า แต่พรรคก็จะเร่งเสนอเข้าวาระการประชุม เช่น ร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 116, ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ, ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน, ร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน, ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม, และร่าง พ.ร.บ.สุราเสรี ที่เคยหาเสียงไว้ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ทั้งนี้แม้ว่าจะไม่ทันพิจารณาในการทำงานของ ส.ส. ชุดที่ 25 แต่ก็ขอปักหมุดไว้ ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานต่อ ก็จะส่งมอบว่านี่คือความต้องการของประชาชน เพราะปีสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล มันต้องเป็นผลงานร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งชุดที่อัพเกรดกฎหมายให้ทันเหตุการณ์และเกิดประโยชน์กับประชาชน

4.สถานการณ์การเมืองปี 2565 พรรคมีแนวทางที่จะพาประเทศออกจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร?

มุมของตนมองว่า ปีหน้า ประเดิมมาด้วยการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 16 มกราคม ที่สงขลาและชุมพร และ ที่เขตจัตุจักร-หลักสี่ ภายในวันที่ 30 มกราคม และมีแนวโน้มว่าจะมีการเลือกตั้งเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและผู้ว่า กทม. กลางปี 65 ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่พรรคฝ่ายรัฐบาลจะแตกคอกันในปีสุดท้าย อาจจะนำมาสู่ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ในปลายปีก็เป็นได้ เพราะสถานการณ์การเมืองสุกงอมเต็มที่ มีความเคลือบแคลงใจในพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบหน้าก็มีโอกาสสูงที่คะแนนจะไม่พอ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สูญเสียไพ่ไม้ตาย พลพรรค องคาพยพ ไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า และจากตำแหน่งรัฐมนตรีก็ยังไม่มีการระบุว่าใครจะมาเป็นแทน ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แสดงว่าถ้าต้องตั้งแล้วใครขึ้นมา แล้วคนที่ไม่ได้ก็กลายจะเป็นปรปักษ์ทันที ตอนนี้จึงทำได้แค่เลี้ยงกระแส ให้องคาพยพของตัวเองมีความหวังลมๆ แล้งๆ ในระยะเวลาก็ใกล้หมดลงทุกที คนที่เคยรักกันดีก็อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งพรรคก็ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน เตรียมพร้อมเลือกตั้ง ทุกๆ เวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐบาลจะปลดล็อคตัวเองตอนไหน

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ สถานการณ์การเมืองปีหน้า การชุมนุมเรียกร้องก็จะยิ่งร้อนแรงขึ้น เพราะข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล เกรงว่าจะรุนแรงถึงขั้นมีการปะทะ และตนไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงคิดว่าเราควรนำสังคมออกจากวังวนนี้และนำเข้ามาสู่สภา อยากให้ตระหนักว่าควรมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะว่าจะเราหาทางออกจากข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาว และสถานการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร

5.พรรคมีแนวทางจะแก้สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2565 อย่างไร?

ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2565 ที่บ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ประชาชนล้มจากพิษโควิดและเศรษฐกิจและเทเงินเก็บไปหมดหน้าตักในปี 2564 ซึ่งปีหน้าก็ไม่มีเหลือแล้ว ถ้ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาก็จะไม่มีโอกาสได้ดำเนินธุรกิจต่อไปแน่นอน ยิ่งถ้ารัฐบาลยังบริหารแบบเช้าชามเย็นชาม และทำไปตามระบบราชการ จะส่งผลต่อระบบธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนก็ยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะตั้งรับอย่างไร และไม่มีแหล่งเงินในการแก้ไขสถานการณ์เพราะกู้จนเต็มเพดานไปแล้ว ซึ่งพรรคก้าวไกล นำโดย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ก็เตรียมนำเสนอทางออกให้รัฐบาล จัดเก็บรายได้และนำการใช้รายได้ของประเทศมาช่วยเหลือคนภายใน รวมทั้งตัดรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน หากมีวิกฤติรุนแรงในปีหน้า

“เราทำงานเป็นฝ่ายค้าน เราไม่ได้ค้านทุกเรื่อง แต่เราเตรียมความพร้อมหากรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด เรามีแผนที่จะเสนอทันที”

สุดท้าย นาย ณัฐชา กล่าวว่า หากขอพรปีใหม่ได้ 1 ข้อ จะขอให้คนไทยปลดพันธนาการของผู้อำนาจที่ฉุดรั้งศักยภาพของประชาชน สังคมไทย เอาไว้ไม่ให้ประเทศพัฒนา

ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ 9 พรรคก้าวสู่ 65: ย้อนชมดอกผลในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายข้างหน้าของ "พรรคก้าวไกล"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook