“ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง

“ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง

“ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ระบบการศึกษาไทย” เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นของสังคมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ขบวนการของนักเรียนและครูไทยได้ออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง กลายเป็นกระแสถกเถียงกันในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะจางหายไปโดยที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขและถูกปล่อยทิ้งไว้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับในช่วงปี 2564 ที่มีความเคลื่อนไหวจากแวดวงการศึกษาไทยมากมาย แต่จะมีปัญหาใดที่ถูกมองเห็นหรือได้รับการแก้ไขแล้วบ้าง Sanook พูดคุยกับตัวแทนครูและนักเรียน เพื่อย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยตลอดปี 2564 และของขวัญปีใหม่ 2565 ที่ครูและนักเรียนไทยอยากได้มากที่สุด 

ปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาไทย 

“เรามองว่าสังคมไทยไม่ได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของเด็ก เขาคงรู้ว่าเด็กก็มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน แต่พอเราเข้าไปอยู่ในรั้วโรงเรียน เขาไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนเท่ากันกับเขา เพราะฉะนั้น เขาเลยรู้สึกว่าเราเป็นแค่หุ่นเชิดที่จะทำอะไรกับเราก็ได้ นั่นคือปัญหา” อคิราห์ พงภมร หนึ่งในตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว สะท้อนปัญหา 

อคิราห์ พงภมร และอัครวินท์ สมบูรณ์ สองตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลวอคิราห์ พงภมร และอัครวินท์ สมบูรณ์ สองตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว

ปัญหาเรื่อง “อำนาจนิยม” เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไหลเวียนอยู่ในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนานเช่นกัน อัครวินท์ สมบูรณ์ อีกหนึ่งตัวแทนของกลุ่มนักเรียนเลว เล่าว่า ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ติดต่อมายังกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อเล่าปัญหาเรื่องการถูกครู “ตัดผม” โดยที่พวกเขาไม่ได้ยินยอม รวมไปถึงเรื่องการตี การทำร้ายร่างกายเด็ก การยึดของใช้ส่วนตัว ไปจนถึงการคุกคามทางเพศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนระบบอำนาจนิยมที่ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นในสังคมโรงเรียนไทยได้อย่างชัดเจน 

“เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน มันชัดเจนว่าอยู่ทั้งในวัฒนธรรมของไทยและระบบราชการ กล่าวคือมันมีระบบอาวุโส มีผู้ใหญ่ผู้น้อย และบางครั้งมีการใช้อำนาจที่ล้นเกิน การใช้ความอาวุโส หรือการที่มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น ครูรุ่นใหม่ที่เข้ามา ก็ต้องทำงานหนักมากกว่าครูอาวุโส หรือผู้บังคับบัญชาใช้ทำงานส่วนตัว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ “ครูทิว” ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน ร่วมสะท้อนปัญหาอำนาจนิยมที่ส่งผลกระทบต่อครู 

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ “ครูทิว” ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอนธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ “ครูทิว” ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่อง “ภาระงานของครู” ก็เป็นอีกปัญหาที่ครูทิวชี้ว่าส่งผลกระทบกับครูผู้สอน และส่งผลกระทบต่อไปยังตัวผู้เรียน เนื่องจากครูต้องดูแลงานอื่น ๆ ในโรงเรียนและไม่สามารถ “โฟกัส” กับการสอนอย่างเดียวได้ ประกอบกับระบบการศึกษาของไทยที่สะท้อนวิธีคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศแบบ “เสรีนิยมใหม่” หรือทุนนิยมที่ผลักภาระให้กับปัจเจก ซึ่งรวมไปถึงเรื่องระบบการประเมินด้วยเอกสารที่ทุกอย่างต้องมีรูปภาพประกอบ ก็ทำให้ระบบการศึกษาไทยตั้งอยู่บน “ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนในระบบ

ในระบบการศึกษาที่เราไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เราจะไปต่อกันยังไง ครูเองก็ไม่กล้าออกนอกกรอบ หรือทำอะไรที่ไปไกลกว่าการสอนตามตำราเรียน หรือด้วยภาระต่าง ๆ เราก็จะเห็นว่าทำไมยังมีครูที่ให้เด็กเปิดหนังสือตอบคำถามท้ายบท หรือแจกใบงาน ครูบรรยายตามสไลด์อยู่” ครูทิวชี้ 

การเรียนการสอนออนไลน์ 

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ครูและนักเรียนไทยต้องเผชิญในปี 2564 คือ “การเรียนการสอนออนไลน์” เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนและการสอนอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาดังกล่าวยังช่วยตอกย้ำปัญหาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสองตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลวระบุว่า การเรียนการสอนออนไลน์ส่งผลให้นักเรียนไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก 

“เวลาที่เขาสอนออนไลน์ มันน่าจะต้องมีเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้ผู้เรียนให้ความสนใจมากขึ้น แต่เขาก็ยังสอนแบบเลคเชอร์เหมือนเดิม ให้เราจดตาม แล้วเขาก็แก้ปัญหาว่าเด็กจะเข้าเรียนไหม ด้วยการให้เปิดกล้อง ซึ่งนักเรียนบางคนใช้โทรศัพท์เรียน แล้วบางทีก็ไม่ได้กล้องดี บางทีแบตร้อนก็ต้องปิดเครื่องก่อน ก็ปิดไม่ได้ ถ้าปิดก็เช็กขาด มันทำให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเรามันชัดมาก นักเรียนบางคนยังไม่มีโทรศัพท์ใช้เรียนออนไลน์ด้วยซ้ำ บางคนมีโทรศัพท์แต่ไม่มีอินเตอร์เน็ต” อคิราห์กล่าว 

นอกจากปัญหาเด็กนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในช่วงการเรียนออนไลน์แล้ว ครูทิวก็สะท้อนว่า การขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนที่ใช้ในการสอนออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ครูไทยต้องแบกรับ และส่งผลกระทบต่อ “ประสิทธิภาพ” การทำงานของครูเช่นเดียวกัน

“ครูเองก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอุปกรณ์พวกนี้ครบถ้วน ดังนั้น ครูก็ต้องประยุกต์ใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ถ้าพอหาได้ก็หา กู้สหกรณ์บ้างหรือทำยังไงเพื่อให้มีอุปกรณ์พวกนี้มาจัดการเรียนการสอน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้คือ รัฐไทยสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน เหมือนครูได้เงินเดือนมาแล้ว ก็ต้องเอาเงินเดือนที่ได้ไปซื้อของเพื่อมาทำงานที่ได้เงินเดือน บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้คำว่า “เป็นครูต้องเสียสละ” แล้วรัฐก็ลอยตัว ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เขาต้องให้การสนับสนุน” ครูทิวสะท้อน 

ปัญหาที่ทับถม ทำให้คนในระบบเจ็บปวด 

การใช้ความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียนที่ปรากฏอยู่ในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ได้ทิ้ง “บาดแผล” ให้กับผู้เรียนจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะมีคำพูดที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” “การตีคือความรัก ความหวังดี” แต่อัครวินท์ก็มองว่า การใช้ความรุนแรงกับนักเรียนไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เด็กพัฒนา เติบโต หรือเรียนรู้ 

“มันอาจจะมีคนที่ได้ดีเพราะการโดนตีแหละ แต่หลายคนที่โดนตี นอกจากจะเจ็บตัวแล้ว มันก็อาจจะสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับนักเรียนด้วย เราไม่รู้หรอกว่าแต่ละคนรู้สึกยังไง หลังจากที่เขาโดนทำแบบนั้น หลายคนอาจจะเป็นแผลไปตลอดชีวิตเลยก็ได้” อัครวินท์กล่าว 

เรื่องอำนาจนิยม เราจะเห็นว่าเด็กนักเรียนที่ออกมาประท้วงตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าเด็กนักเรียนโดนครูลงโทษ ถูกครูใช้อำนาจรุนแรง มันคือการผลิตซ้ำในระบบการศึกษา ก็ในเมื่อครูเองถูกกดทับมาแบบนี้ ถูกใช้อำนาจมา และไม่เคยมีใครรับฟังครู ดังนั้น ครูก็จินตนาการไม่ออกหรอกว่า ถ้าเขาจะต้องรับฟังนักเรียน เขาต้องรับฟังอย่างไร” ครูทิวชี้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาเรื่อง “การประเมินครู” ก็เป็นอีกหนึ่งหอกแหลมที่ทิ่มแทงครูไทยมาอย่างยาวนาน โดยครูต้องเน้นผลงานที่ยิ่งใหญ่อลังการและต้องเอาผลงานของเด็กไปตั้งโชว์ เนื่องจากระบบต้องการประเมินครูในลักษณะนี้ ทำให้เกิดเป็นการส่งต่อชุดความคิดดังกล่าวไปเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบกับตัวผู้เรียนในที่สุด 

“มีครูจำนวนมากที่เกิดภาวะเครียด มีเรื่องของสุขภาพจิต จนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีสถิติครูที่เป็นซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งจากภาวะการสอนและการดูแลนักเรียน เพราะมันคือการทำงานกับคน การต้องรับมือกับผู้ปกครอง กับนักเรียนมากมายหลายร้อยหลายพัน มันอยู่ในภาวะความเครียดเยอะมาก” ครูทิวเล่า 

ปี 2564 และความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษา 

สองตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลวนิ่งไปนาน เมื่อถูกถามถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยที่เกิดขึ้นตลอดปี 2564 ก่อนจะชี้ว่า แน่นอนว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ชัดเจน

มีครูบางคนที่รู้แล้วว่า ทำแบบนี้กับนักเรียนไม่ได้ รู้แล้วว่าขอบเขตของการลงโทษอยู่ที่ตรงไหน หรือรู้แล้วว่าเด็กก็มีสิทธิเหมือนกัน แต่ว่ามันก็ยังมีครูอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ และยังทำเหมือนเดิม ด้วยการท่องบท “ฉันทำได้ มันคือความรัก” ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ไม่แก้ไขมัน” อคิราห์ชี้ 

เช่นเดียวกับในวงการครู ที่เกิด #ทำไมครูไทยอยากลาออก ขึ้น โดยครูหลายคนพากันออกมาสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย และสื่อสารปัญหาที่ครูต้องเผชิญให้สังคมได้รับรู้มากยิ่งขึ้น โดยครูทิวระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเริ่มมองเห็นปัญหา เริ่มตั้งคำถาม และเริ่มตระหนักถึงพลังของตัวเองมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องการศึกษา ที่มีคนเห็นปัญหาก็ย่อมส่งผลให้มีคนออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ 

“ก่อนจะเป็นห้อง #ทำไมครูไทยอยากลาออก มันเกิดกระแสที่ครูเขียนเหตุผลในการลาออก จริง ๆ อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นด้วย เเล้วเราเห็นจากแฮชแท็ก รวมถึงครูที่ออกมาเขียนเหตุผลในการลาออก รวมไปถึงครูที่ต้องไปรับตำแหน่งหลายตำแหน่ง ท่าทีของผู้ใหญ่ในกระทรวงคือ “คุยแล้ว ตรวจสอบแล้ว มันเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ครูเขาออกเป็นเรื่องส่วนตัว” เห็นไหม พอเป็นเรื่องส่วนตัว ระบบ ผู้บริหารลอยตัวได้ ไม่ต้องซักไซ้ไล่เรียงว่ามีปัญหาอะไรที่เกิดจากระบบที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ” ครูทิวเล่า

การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน 

แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า แต่ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลวก็เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ หากผู้ใหญ่หันมาฟังนักเรียนอย่างตั้งใจ และสร้างความตระหนักว่า “ผู้เรียนก็มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน” เช่นเดียวกับครูทิวที่เสริมว่า ผู้ใหญ่ต้องรับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน เช่นเดียวกับต้องมีการกระจายทรัพยากรลงไปที่โรงเรียนให้มากที่สุด ก็ยังสามารถแก้ไขปัญหาที่ครู-นักเรียนกำลังเผชิญอยู่ได้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ “ทุกคนในสังคม” ต้องร่วมด้วยช่วยกันเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับระบบการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไม่ได้เป็นของครู นักเรียน หรือ “ผู้ใหญ่” ในกระทรวงเท่านั้น แต่การศึกษาไทยเป็นเรื่องของทุกคน และมีความเชื่อมโยงกับทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

“ไม่มีใครในสังคมนี้ที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการศึกษา ต่อให้คุณไม่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณไม่มีลูก คุณก็ต้องเป็นคนที่ทำงานในบริษัท หรือเป็นนายจ้างที่ต้องรับคนเข้าทำงาน ที่เป็นผลผลิตจากการศึกษาอยู่ดี ทุกคนเป็นเจ้าของการศึกษา ดังนั้น สิ่งที่อยากให้สังคมเล็งเห็นคือมองว่าเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องของครู นักเรียน กระทรวงศึกษาฯ แต่เป็นเรื่องของทุกคน” ครูทิวกล่าว 

“เราอยากคุยกับคุณตรีนุช เราว่าเราคุยกับเขาดี ๆ ได้ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเกลียดชังอะไรเขา เราแค่รู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันสามารถจับมือกัน และแก้ไขไปด้วยกันได้ เราเชื่อว่าถ้าปรึกษากันจะดีกว่า เพราะว่าเขาก็ไม่ได้มานั่งเรียน เราก็ไม่ได้ไปนั่งในกระทรวง ถ้ามาคุยกันก็น่าจะแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ ดังนั้น ของขวัญปีใหม่ปีนี้คือคุยกับคุณตรีนุชค่ะ” อคิราห์ปิดท้ายด้วยของขวัญปีใหม่ที่เด็กนักเรียนไทยอยากได้มากที่สุด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook