ศาลห้ามออกนอกประเทศ 8,000 ปี สั่งชายออสซี่จ่ายค่าเลี้ยงดูลูกจนโต 81 ล้าน

ศาลห้ามออกนอกประเทศ 8,000 ปี สั่งชายออสซี่จ่ายค่าเลี้ยงดูลูกจนโต 81 ล้าน

ศาลห้ามออกนอกประเทศ 8,000 ปี สั่งชายออสซี่จ่ายค่าเลี้ยงดูลูกจนโต 81 ล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไซต์สำนักข่าว news.com.au จากออสเตรเลีย รายงานเมื่อวันอังคาร (28 ธ.ค.) ถึงเรื่องราวของชายชาวออสเตรเลียคนหนึ่งที่อาจจะต้องติดอยู่ในประเทศอิสราเอลไปตลอดชีวิต หลังจากถูกคำสั่งศาลห้ามออกนอกประเทศไปอีก 7,978 ปีข้างหน้า

โนแอม ฮัปเพิร์ต นักเคมีวิเคราะห์สัญชาติออสเตรเลียวัย 44 ปี บอกเล่าเรื่องราวนี้ว่าเมื่อปี 2556 ศาลครอบครัวในอิสราเอลมีคำสั่งห้ามตนเดินทางออกนอกประเทศจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. ของปี พ.ศ. 10542 (ค.ศ. 9999) หรือจนกว่าจะจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูบุตร 1.8 ล้านปอนด์ (81 ล้านบาท) หลังจากหย่าร้างกับภรรยา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่านายฮัปเพิร์ตจ่ายค่าเลี้ยงดูดังกล่าวไปแล้วจำนวนเท่าใด หรือไม่

นายฮัปเพิร์ตเผยกับ news.com.au ว่าตนมีลูก 2 คนกับภรรยาเก่า และเมื่อปี 2554 ภรรยาเก่าก็ย้ายมายังอิสราเอลพร้อมกับลูกคนโตอายุ 5 ปี และคนเล็กอายุ 3 เดือน ปีต่อมาตนจึงย้ายมาด้วยเพื่อหวังจะคืนดี

แต่หลังจากนั้นไม่นานภรรยาเก่ากลับยื่นเรื่องต่อศาลให้ออกคำสั่งห้ามสามีเก่าของตัวเองออกนอกประเทศ เพราะค้างค่าเลี้ยงดูลูกที่นับไปถึงอนาคตจนกว่าลูกๆ จะมีอายุครบ 18 ปี เป็นเงิน 5,000 เชเคล (54,000 บาท) ต่อเดือน ทำให้ตนไปไหนไม่ได้เลย แม้แต่จะลาพักร้อน

ชายชาวออสเตรเลียคนนี้ เล่าต่อไปว่า ตนเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งเท่านั้นที่ถูกระบบยุติธรรมอิสราเอลเล่นงานเพียงเพราะแต่งงานกับผู้หญิงอิสราเอล และสาเหตุที่ตนเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องของตัวเองนั้นเพราะอยากช่วยคนอื่นๆ ที่อาจกำลังทรมานกับประสบการณ์ที่เรียกได้ว่าอันตรายถึงชีวิตแบบนี้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเคยออกคำเตือนพลเมืองสหรัฐที่จะเดินทางไปยังอิสราเอล ว่าศาลแพ่งและศาสนาในอิสราเอลนั้นมักใช้อำนาจในการห้ามบุคคลบางบุคคล ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติ ไม่ให้ออกจากประเทศ ถ้าหากไม่จ่ายหนี้หรือยังไม่จบคดีความ โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับการแต่งงานและหย่าร้าง

"พลเมืองสหรัฐ รวมถึงคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติอิสราเอล ควรรู้ไว้ว่าตัวเองอาจต้องพำนักอย่างไม่สมัครใจและยาวนาน (หรือแม้แต่ถูกจำคุก) ในอิสราเอล ถ้าถูกฟ้องในศาลศาสนา แม้ว่าแต่งงานในสหรัฐ และแม้ว่าคู่สมรสไม่ได้อยู่ในอิสราเอล" 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook