เพื่อไทยแฉสาเหตุหมูแพง รัฐปกปิดอหิวาต์แอฟริกา ปล่อยระบาดหนัก 3 ปี
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันอังคาร (4 ม.ค.) ว่ารัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ด้วยการไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์) ที่ระบาดในหลายทวีป ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย แต่กลับอ้างว่าเป็นโรคเพิร์ส ที่มีวัคซีนป้องกันแทน
ส.ส. จ.พะเยา รายนี้ อธิบายว่าโรคนี้เริ่มเข้ามาระบาดในภาคเหนือของไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐไม่ยอมรับว่ามีการระบาด ไม่ได้รายงานให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศรับทราบ และละเลยจนแพร่ไปในพื้นที่อื่น รวมถึง จ.ราชบุรี ที่เป็นพื้นที่ที่เลี้ยงสุกรมากที่สุด ทำให้จำนวนสุกรหายไปจากระบบ 10 ล้านตัว เหลืออยู่เพียง 12 ล้านตัว จากก่อนการระบาดที่ 22 ล้านตัว
ขณะเดียวกันแม่สุกรจากเดิมมี 1.2 ล้านตัว ปัจจุบันเหลือเพียง 500,000 ตัวเท่านั้น
นายวิสุทธิ์ เผยต่อไปว่า แม้ไทยไม่ได้รายงานให้องค์กรระหว่างประเทศทราบ แต่ในที่สุดทางการไต้หวันตรวจพบการปนเปื้อนเชื้ออหิวาห์แอฟริกาในสุกรในกุนเชียงที่ส่งออกไปจากไทย ถึงอย่างนั้น ภาครัฐของไทยก็ยังไม่ยอมรับ และกล่าวโทษว่ากุนเชียงดังกล่าวผลิตจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทั้งที่เคลื่อนย้ายนำเข้าจะต้องมีใบรับรองจากปศุสัตว์เสียก่อน
"ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด ไม่พูดความจริง เสมือนว่าประเทศเราเป็นโควิด แต่เราบอกซะว่า ว่าเป็นโรคหวัดธรรมดา มันเลยเกิดเป็นปัญหาใหญ่" นายวิสุทธิ์ กล่าว
นายวิสุทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ไทยไม่รายงานไปยังองค์กรระหว่างประเทศให้ทราบนั้น เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่หรือไม่ แม้แต่เกษตรกรรายเล็กก็ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เช่นกัน
"เราไม่รายงาน เราปดปิด เพื่ออะไรครับ เพราะก่อนหน้านี้ประเทศนี้ส่งออกหมูปีละประมาณ 20,000 ล้าน 20,000 ล้านนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นผมจึงสงสัย ได้รับฟังจากเกษตรกรทั้งประเทศเขาพูดว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อใคร เพื่อบริษัทใหญ่บางบริษัทใช่ไหม ถึงปกปิดข้อมูลกลัวว่าจะขายหมูไม่ได้ แต่วันนี้หลังจากปกปิดมา 3 ปี วันนี้หมูไทยไม่สามารถส่งออกได้แล้ว เพราะทั่วโลกเขารู้หมดแล้วครับ"
นายวิสุทธิ์ กล่าวในการแถลงข่าวครั้งนี้ต่อไปว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่นั้นเท่ากับการฆ่าเกษตรกรทางอ้อม เพราะที่ผ่านมาต้องฆ่าหมูทิ้งไป แถมยังโดนคำสั่งห้ามเลี้ยงหมูเพิ่ม สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการจ่ายชดเชย 150% ของความเสียหายทั้งหมดให้แก่เกษตรกรทุกคน และไปเจรจากับสถาบันการเงินให้พักชำระหนี้