สธ.แถลงยอดติดเชื้อโควิดพุ่งหลังปีใหม่ ไทยพบพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2,062 ราย

สธ.แถลงยอดติดเชื้อโควิดพุ่งหลังปีใหม่ ไทยพบพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2,062 ราย

สธ.แถลงยอดติดเชื้อโควิดพุ่งหลังปีใหม่ ไทยพบพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2,062 ราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิดหลังปีใหม่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันพบสายพันธุ์โอมิครอนสะสม 2,062 ราย เป็นห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับในหลายจังหวัด

วันนี้ (4 ม.ค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวัง ตั้งแต่เปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 พบติดเชื้อโอมิครอนสะสมจำนวน 2,062 ราย คิดเป็น 19.08% โดยแบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,150 ราย ติดเชื้อในประเทศ 957 ราย โดยขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโอมิครอนแล้วใน 54 จังหวัด และพบการแพร่ระบาดในทุกเขตสุขภาพ

ซึ่งจำนวนมากได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ในระบบการรักษาพยาบาล โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 585 ราย กาฬสินธุ์ 233 ราย ร้อยเอ็ด 180 ราย ภูเก็ต 175 ราย และชลบุรี 162 ราย

“การระบาดของโอมิครอนจะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต โดยการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาส่วนใหญ่ 70-80% ดังนั้น ต้องระวังกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ให้มาก เนื่องจากยังมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับการตรวจสายพันธุ์หาเชื้อโอมิครอน ขณะนี้จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยจะสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยวิธี WGS (Whole Genome Sequencing ) ในบางรายเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจด้วยวิธี SNP (Single Nucleotide Polymorphisms) ไม่ผิดพลาด และมีความแม่นยำถึง 100% จึงไม่จำเป็นต้องยืนยันผลทุกราย

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงการศึกษาของประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนนั้นภายหลังการติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันสูงถึง 14-15 เท่า ซึ่งสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อบางส่วนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) เชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณ 4 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว

ส่วนกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสพบโควิดสายพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกับโอมิครอน คือ B.1.640.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ B.1.640 โดยสายพันธุ์นี้พบครั้งแรกในประเทศสหพันธรัฐคองโก ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. 64 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัด B.1.640 เป็น Variants Under Monitoring (VUM) หรือสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง

จากข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค. 65 พบสายพันธุ์ B.1.640 จำนวน 400 ตัวอย่างในฐานข้อมูล GISAID โดยพบส่วนใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส จากการวิเคราะห์ทาง Phylogenetics พบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์โอมิครอน โดยสายพันธุ์ B.1.640 ณ ปัจจุบัน ได้แยกย่อยเป็น B.1.640.1 และ B.1.640.2 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสายพันธุ์หลักที่ระบาดในฝรั่งเศสยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

ในส่วนของสายพันธุ์ย่อย B.1.640 นั้น พบการกลายพันธุ์บน Spike Protein ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง และการขาดหายไปอีก 9 ตำแหน่ง ซึ่งพบ N501Y และ E4840 ได้เหมือนในสายพันธุ์เบตา แกมมา และโอมิครอน ส่วนการกลายพันธุ์ F490S สามารถพบได้ในแลมป์ดา

“ขอให้ประชาชนยังไม่ต้องกังวล เนื่องจากการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาทุกๆ สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 ที่อาจพบในไทย” นพ.ศุภกิจ ระบุ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา มีการเฉลิมฉลองและสังสรรค์ในหลายพื้นที่ แต่ที่น่าเป็นกังวล คือ ร้านอาหารกึ่งผับ หรือผับบาร์ คาราโอเกะที่เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร แต่ไม่ทำตามมาตรการ COVID Free Setting เป็นระบบปิด ระบายอากาศไม่ดี คนแออัดเพราะไม่จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน ไม่เว้นระยะห่าง อีกทั้งหลายๆ ร้านยังส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการแสดงดนตรีสด บางร้านปล่อยให้เล่นการพนัน จึงทำให้พบคลัสเตอร์ (Cluster) จากร้านอาหารในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มเติม เช่น โรงงาน แคมป์คนงาน สถานประกอบการ สถานศึกษา ตลาด พิธีกรรมทางศาสนาอย่างงานศพและงานแต่งงาน จังหวัดที่พบ ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชลบุรี ปราจีนบุรี สงขลา ภูเก็ต และยะลา

"คลัสเตอร์ที่พบและน่ากังวลอย่างมาก คือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับ จังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อ 535 คน สุ่มตรวจ 12 คน พบสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ร้านอาหารจังหวัดชลบุรี พบผู้ติดเชื้อสะสม 163 ราย รวมทั้งคลัสเตอร์จังหวัดขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อวันปีใหม่ 232 ราย" นพ.โอภาส ระบุ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยง ควรสังเกตอาการและเฝ้าระวัง 14 วัน หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มทำกิจกรรม พูดคุย รับประทานอาหาร ไม่ไปสถานที่เสี่ยง ขอให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง 

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบริษัทต่างๆ ให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) 14 วัน หรือให้จำกัดการทำงานแบ่งเป็นช่วงเวลา หากต้องกลับไปทำงานขอให้ใช้ชุดตรวจการติดเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าทำงาน ในสัปดาห์แรกให้ตรวจ ATK 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 วัน

"คนที่มีอาการหรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อ ให้ตรวจด้วย ATK โดยพิจารณาความเสี่ยง เช่น มีไข้ต่ำๆ ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ กรณีผลตรวจเป็นบวกให้กักตัวและงดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้งถุงใส่ขยะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันทีโดยผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง ให้โทรแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ส่วนสิทธิประกันสังคมให้โทรไปที่สายด่วน 1506 กด 6 กรณีต้องการกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัด โทร. 1330 กด 15 หากเป็นผู้ที่สมัครใจแยกกักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เมื่อมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" นพ.โอภาส สรุป

นอกจากนี้ ให้แจ้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ในคลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกฝากครรภ์ (ANC) รวมทั้งแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านช่วยสื่อสารเพื่อรับการฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน และบูสเตอร์โดส รวมทั้งเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองบุคลากรในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัด หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก หรือไปร้านอาหารที่ดื่มสุราได้

ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 64 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเข็ม 3 สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสอีก 1 เข็มได้

สำหรับมาตรการแซนด์บอกซ์ในการเข้าประเทศ ขณะนี้ยังอนุญาตเพียงจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น โดยจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการทำแซนด์บอกซ์หากมีความพร้อมทางด้านสาธารณสุข สามารถขออนุญาตไปยังศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในระบบ Test&Go ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์โดยรวมของทั้งในประเทศ และต่างประเทศจะดีขึ้น

ส่วนกรณีที่พบชาวอิสราเอลติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ พร้อมติดเชื้อโควิด-19 ทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่บ่อย เนื่องจากทั้งสองโรคไม่สามารถรวมเป็นโรคเดียวกัน และกลายพันธุ์ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อคนละชนิดกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนป้องกัน

นอกจากนี้ ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมประชาชน และจะปรับระบบให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างเชื้อโรค สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ สธ.แถลงยอดติดเชื้อโควิดพุ่งหลังปีใหม่ ไทยพบพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2,062 ราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook